posttoday

ส่งออกเสียขีดแข่งขัน

13 กุมภาพันธ์ 2562

หอการค้าไทย ประเมินผลเอฟทีเอเวียดนาม-อียู ทำส่งออกไทยไปตลาดอียูลด 1.7% มูลค่าหาย 1.45 หมื่นล้าน

โพสต์ทูเดย์ - หอการค้าไทย ประเมินผลเอฟทีเอเวียดนาม-อียู ทำส่งออกไทยไปตลาดอียูลด 1.7% มูลค่าหาย 1.45 หมื่นล้าน

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้มีการประเมินผลกระทบเบื้องต้นจากการที่เวียดนามได้ทำเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับทางสหภาพยุโรป (อียู) และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ช่วงครึ่งหลังของปี 2562 คาดว่าจะทำให้เวียดนามส่งออกไปตลาดอียูได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 33% จากการส่งออกเดิมที่มีมูลค่าประมาณ 4.82 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งหากเวียดนามส่งออกไปตลาดอียูได้เพิ่มขึ้น 1% จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยไปตลาดอียูลดลง 0.05%

“ผลจากเอฟทีเอเวียดนาม-อียู ประเมินเบื้องต้นพบว่าจะทำให้การส่งออกไทยไปตลาดอียูลดลง 1.7% หรือประมาณ 458 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.45 หมื่นล้านบาท เพราะต้องยอมรับว่าเอฟทีเอได้สร้างแต้มต่อทางด้านภาษีในตลาดอียูให้กับเวียดนาม ซึ่งเวียดนามและไทยส่งออกสินค้าชนิดเดียวกันหลายอย่างและเป็นคู่แข่งกันในตลาดอียู เช่น สินค้าเกษตรแปรรูป ข้าว ผลไม้ เครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่ไทยไม่มีเอฟทีเอกับอียู ทำให้เสียเปรียบในเรื่องต้นทุนทางด้านภาษี” นายอัทธ์ กล่าว

สำหรับรายละเอียดข้อตกลงเอฟทีเอ เวียดนาม-อียู จะมีการทยอยลดภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกันสัดส่วน 90% ของสินค้าทั้งหมด และเมื่อเอฟทีเอมีผลบังคับใช้ สินค้าสัดส่วน 65% ของรายการสินค้านำเข้าเวียดนามจะลดเป็น 0% ทันที ส่วนที่เหลือจะทยอยลดใน 10 ปี และสินค้าสัดส่วน 71% ของรายการสินค้านำเข้าอียูจะลดเป็น 0% ส่วนที่เหลือจะทยอยลดในอีก 7 ปี นอกจากนี้อียูและเวียดนามยังได้เปิดเสรีการลงทุนในภาคการผลิตที่มีการใช้ทุนและเทคโนโลยีมากขึ้น รวมถึงอียูสามารถเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐเวียดนามได้ หรือบริษัทอียูสามารถยื่นเสนอราคารับงานภาครับของเวียดนามได้ และการลงทุนระหว่างกันยังได้รับการคุ้มครองเหมือนนักลงทุนในประเทศ

ปัจจุบันเวียดนามมีการส่งออกไปอียูปี 2560 มูลค่า 4.82 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ไทยส่งออกไปอียูปี 2560 มูลค่า 2.74 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยเวียดนามมีการส่งออกมากกว่าไทยไปตลาดอียูมาตั้งแต่ปี 2555 และขณะนี้เวียดนามมีการส่งออกไปอียูมากกว่าไทยถึง 1.8 เท่า ด้านส่วนแบ่งตลาดเวียดนามในอียูมีสัดส่วนประมาณ 0.86% จากการนำเข้าทั้งหมดของอียูในตลาดโลก ขณะที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดในอียูประมาณ 0.49%

“ไทยก็คงต้องทำเอฟทีเอกับทางอียูเหมือนกันที่เวียดนามทำ แต่หากไม่ทำก็ต้องเร่งทำเอฟทีเอกับประเทศอื่นๆ เพื่อทดแทนการส่งออกไทยไปอียูที่มีแนวโน้มลดลง นอกจากไทยควรให้ความสำคัญกับตลาดใหม่เพิ่มเติมมากขึ้น” นายอัทธ์ กล่าว