posttoday

ไทยจับมือจีน ปั้นฮับนวัตกรรม

16 ธันวาคม 2560

ปัจจุบันโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้สินค้าและบริการที่ออกมาจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ

โดย ปิยนุช ผิวเหลือง

ปัจจุบันโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้สินค้าและบริการที่ออกมาจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ใส่เข้าไปเพื่อสร้างความต่างและเพิ่มมูลค่าสินค้าให้แข่งขันได้ ดังนั้นไทยกับจีนจึงได้ร่วมมือกันจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรม สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนแห่งแรกในไทย หวังปั้นบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และแลกเปลี่ยนนวัตกรรมระหว่างประเทศ

สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บอกว่า การร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (ซีเอเอส) ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในการขยายสาขาของซีเอเอสในต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างจีนกับไทย ซึ่งต้องการผลักดันให้ไทยเป็นกลางด้านการพัฒนานวัตกรรมในอาเซียน

ทั้งนี้ สาเหตุที่กรุงเทพมหานครได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งของสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนนั้น เนื่องจากไทยมีพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะเป็นศูนย์กลาง ในภูมิภาคอาเซียน และจำเป็นต้องใช้นวัตกรรมขั้นสูงเข้ามาพัฒนา อีกทั้งไทยมีความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับจีนมายาวนาน ซึ่งได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู)ความร่วมมือด้านแหล่งทุนเพื่อการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีข้ามชาติ ระหว่างซีเอเอสกับบริษัท ไชน่า คอนสตรัคชั่น แบงก์ (CCB) และเอ็มโอยูความร่วมมือด้านแหล่งทุนและการลงทุนเพื่อการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีข้ามชาติ ระหว่างซีเอเอสกับกองทุนซิลค์ โรด (เซี่ยงไฮ้) เป็นต้น

ด้าน เจียง เปียว ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (กรุงเทพฯ) สนับสนุนว่า การที่สถาบันฯ เลือกมาตั้งในกรุงเทพฯ เพราะไทยมีแผนยุทธศาสตร์พัฒนาชาติ 20 ปี ซึ่งจำเป็นต้องใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของซีเอเอส โดยไทยเป็นประเทศแรกที่ซีเอเอสเข้ามาจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมและความร่วมมือในต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้าที่ซีเอเอสขยายสาขาในต่างประเทศแล้ว 8 แห่ง แต่เป็นการตั้งสถาบันการวิจัยเท่านั้น

นอกจากนี้ ในปีนี้ไทยกับจีนยังมีการลงนามเอ็มโอยูเพื่อพัฒนานวัตกรรมร่วมกันอีกหลายฉบับ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ได้แก่ ความร่วมมืองานเทคโนโลยีชีวภาพระหว่างสถาบันวิจัยเชื้อจุลินทรีย์ภายใต้ซีเอเอสร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติและสถาบันวิจัยแห่งชาติ ความร่วมมือด้านเกษตรกรรมเชิงหน้าที่ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งประเทศจีนกับสถาบันวิจัยแห่งชาติไทย

สำหรับด้านการแพทย์มีความร่วมมือวิจัยเครื่องตรวจวิเคราะห์โรค เบาหวานระหว่างสถาบันวิจัยวิทยาการฟิสิกส์นครเหอเฝย ภายใต้ซีเอเอส ร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นโครงการเพื่อเผยแพร่การประยุกต์ใช้และสาธิตการใช้อุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์โรคเบาหวานแบบไร้แผล

ขณะที่ความร่วมมือของภาครัฐจีนกับภาคเอกชน ได้แก่ ความร่วมมือในการศึกษาวิจัยการพัฒนาอุตสาหกรรมแร่โพแทสเซียม เพื่อใช้ประโยชน์เหมือนแร่โพแทสเซียมในประเทศไทย และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาภาคเศรษฐกิจ

ด้วยความสัมพันธ์ที่แนบแน่นด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างไทยกับจีน เป็นเหตุผลที่ทำให้จีนเล็งเห็นศักยภาพ และไว้วางใจจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ณ กรุงเทพฯ เป็นแห่งแรกนั้นเอง