วิเคราะห์ตลาดกัมพูชา ผ่านกูรูท้องถิ่น
"กัมพูชา" ถือเป็นตลาดที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของไทย แต่ก็ยังเต็มไปด้วยศักยภาพที่นักธุรกิจไทยมองข้ามไม่ได้
โดย...ปิยนุช ผิวเหลือง
"กัมพูชา" ถือเป็นตลาดที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของไทย แต่ก็ยังเต็มไปด้วยศักยภาพที่นักธุรกิจไทยมองข้ามไม่ได้
จิรวุฒิ สุวรรณอาจ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ฉายภาพว่า สินค้าไทยส่วนใหญ่ที่เข้าไปกัมพูชาจะเป็นกลุ่มอุปโภคและบริโภค และครองตลาดในกัมพูชา ทั้งนี้การแข่งขันระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการไทยมีสูง เนื่องจากเป็นตลาดเก่าแก่ อีกทั้งสินค้าจากประเทศเวียดนามและจีน ซึ่งมีความได้เปรียบด้านราคาเข้ามาทำตลาดมากขึ้น ขณะที่สินค้าไทยได้เปรียบด้านคุณภาพ สิ่งนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยจะใช้รักษาตลาดไว้ รวมทั้งควรเน้นทำการตลาดผ่านการสร้างแบรนด์มากขึ้น
สำหรับมุมมองผู้ประกอบการท้องถิ่น สเรียท มอม โซเฟียร์ กรรมการบริษัท โซฟียา คอร์เปอเรชั่น ธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกัมพูชา ซึ่งมีประสบการณ์ทำธุรกิจมานาน 12 ปี ได้แนะนำผ่านสำนักข่าวท้องถิ่นพนมเปญโพสต์ว่า ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือใหญ่ ต้องเป็นธุรกิจที่ดำเนินตามกฎหมาย จ่ายภาษี และปฏิบัติตามกฎระเบียบ โดยยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)
ด้าน ลี วิรัก ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งเลิร์นนิ่ง จังเกิล กัมพูชา ร่วมแชร์ประสบการณ์ในฐานะนักธุรกิจท้องถิ่นว่า สิ่งแรกที่ต้องเตรียมตัวหากต้องการมีธุรกิจเป็นของตัวเองในกัมพูชาคือ การรับมือกับความท้าทายและอุปสรรค โดยต้องรู้จักตลาดของตัวเอง และมีแผนธุรกิจที่ชัดเจน นอกจากนี้ต้องปรับตัวให้ทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็ว รับรู้ข่าวสารทั่วโลก ฝึกนิสัยรักการอ่าน และควรมีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินเพราะทำให้เข้าใจความเป็นไปของธุรกิจโลก
นอกเหนือจากนี้ต้องมีแรงบันดาลใจ และแรงผลักดันในการสร้างสรรค์ธุรกิจนั้น ทั้งนี้การกู้ยืมไม่ใช่เรื่อง น่ากลัวสำหรับธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น ในทางกลับกันเป็นการช่วยให้การขยายธุรกิจราบรื่นยิ่งกว่าเดิม แต่ต้องใช้เงินอย่างเหมาะสม และสามารถจ่ายคืนตามกำหนดเพื่อสร้างเครดิตทางการเงิน สำหรับการกู้เพื่อขยายธุรกิจในอนาคต
ขณะที่กูรูด้านอี-คอมเมิร์ซกัมพูชา สตีเวน พาธ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท Pathmazing (พาธเมซิ่ง) และประธานสหพันธ์ไอซีที ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงซอฟต์แวร์และไอซีทีระดับโลก แบ่งปันประสบการณ์ผ่านสำนักข่าวท้องถิ่นว่า อี-คอมเมิร์ซมีความสำคัญต่อการก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของกัมพูชา เนื่องจากระบบอี-คอมเมิร์ซจะช่วยผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมไอซีทีอย่างมีนัยสำคัญ การชำระเงินง่ายขึ้น กว้างขึ้น และต้นทุนต่ำลง ทั้งนี้คาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะส่งผลต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมไอซีทีในกัมพูชาหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าตลาดประมาณ 800 ล้านดอลลาร์
สุดท้าย คิธ เม้ง ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร รอยัล กรุ๊ป ซึ่งเปรียบเหมือนประตูการลงทุนในกัมพูชา เนื่องจากมีหุ้นส่วนทางธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมโทรคมนาคม การขนส่ง พลังงาน สื่อและความบันเทิง ธนาคารและการเงิน การประกันภัย โรงแรมและรีสอร์ท การศึกษา การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การค้าและการเกษตร บอกว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจกัมพูชาอยู่ในช่วงเติบโตรวดเร็วเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลก และมีเปลี่ยนแปลงเร็วสุดในเอเชีย จึงเป็นแหล่งการลงทุนสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม