posttoday

การย้ายฐานการผลิตของจีน

22 มิถุนายน 2562

คมลัมน์ ขุมทรัพย์ชายแดนไทย

คมลัมน์ ขุมทรัพย์ชายแดนไทย

โดย กริช อึ้งวิทูรสถิตย์

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา เราได้เห็นมุมมองของนักธุรกิจจีนที่มองประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านแล้วว่า เขาคิดอย่างไร ทีนี้เรามาดูย้อนหลังสักนิดว่า ทำไมจีน ซึ่งเปิดประเทศได้ไม่นาน เพียงแค่สอง-สามทศวรรษ เขากระโดดข้ามหัวประเทศอื่นๆที่เป็นคู่แข่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เกาหลีใต้ หรือแม้กระทั้งญี่ปุ่นเองก็เถอะ ตอนนี้จีนได้แซงหน้าไปเรียบร้อยแล้ว เขาได้วิ่งเข้าวินมาเป็นที่สองรองจากสหรัฐอเมริกาเรียบร้อย อเมริกาเองก็ยังต้องระวังตัวแจ ไม่แน่สักวันประเทศจีนอาจจะแซงหน้าไปก็ได้ ใครจะไปรู้

ที่เป็นเช่นนี้ได้เพราะนโยบายของรัฐบาลเขาและฐานของประชากรของเขาที่มีมากกว่าพันสามร้อยล้านคนนั่นเองครับ ที่ประเทศจีนในยุคต้นๆ เขาใช้นโยบายดึงเอากลุ่มนักอุตสาหกรรมจากใต้หวันเข้าไปสู่ประเทศจีน เรื่องนี้ผมเคยเขียนมาเล่าไปแล้วหนึ่งครั้งครับ ลองกลับไปหาอ่านดูเอานะครับ

ในยุคนั้นค่าแรงในประเทศจีนยังไม่สูง ในขณะที่ประเทศไต้หวันเองในยุคนั้น เขาใช้นโยบาย “โรงงานหลังบ้าน”ซึ่งเป็นเพราะการพัฒนาเศรษฐกิจของใต้หวันยุคนั้น รัฐบาลโดยการนำของประธานาธิบดีเจียง จิงกั๊ว ได้ใช้นโยบายสร้างเมกกะโปรเจ็กสิบประการ โดยการพัฒนาด้านเทคโนโลยี เขาได้มีการผลิตสินค้าไอทีเกิดขึ้นแล้ว

ขณะที่แรงงานประจำในโรงงาน ค่าใช้จ่ายสูงมาก ไม่เฉพาะค่าแรงที่สูงแล้ว ค่าสวัสดิการแรงงานต่างๆสูงมาก จึงทำให้เกิดโรงงานหลังบ้าน หรือโรงงานดาวเทียมที่เขาส่งงานไปตามบ้านต่างๆ เพื่อให้แรงงานที่เป็นแม่บ้านอยู่ที่บ้าน มาทำงานพิเศษที่ “เหมาจ่าย” ซึ่งพอประเทศจีนเปิดประตูให้นักลงทุนชาวใต้หวัน เข้าไปลงทุนที่นั่น จึงมีการแห่แหนกันไปลงทุนที่นั่น แต่มาวันนี้เริ่มมีการถอนการลงทุนกันมากขึ้น อันเนื่องมาจากค่าแรงที่สูงมาก จนทำให้โรงงานที่ใช้แรงงานเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ (Labor Incentives) ที่อยู่ในประเทศจีน เริ่มจะต้องหาสถานที่หรือประเทศที่จะย้ายฐานผลิตไปอยู่ใหม่แล้วครับ

การที่เขามองหาที่ตั้งของฐานผลิตใหม่นั้น เขามองมาที่ประเทศฝั่ง CLMVT นี่แหละครับ ดังนั้นประเทศที่เป็นเป้าหมายหลักแน่นอนหนีไม่พ้นที่มีค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ต่ำที่สุดนั่นเอง เพราะเราทราบกันดีว่าปัจจัยการลงทุนตามหลักเศรษฐศาสตร์นั้นประกอบด้วย เงินทุน ที่ดิน แรงงาน เป็นหลักครับ

ประเทศไทยเราถ้าจะเทียบกับทั้งสี่ประเทศ เรื่องเงินทุน แม้ว่าเขาจะหามาเองก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องใช้เงินกู้มาทำการลงทุน เพราะไม่มีใครเอาเงินสดของตัวเองมาลงทุนหรอกครับ นักลงทุนที่ชาญฉลาดเขาต้องกู้เงินจากแหล่งเงินกู้มาลง เพราะตามหลักของกฏหมายแล้ว ดอกเบี้ยเขาให้เอามาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการอยู่แล้ว ที่นี้มาลองเปรียบเทียบดูจาก 5 ประเทศ ไทยเรามีความเป็นไปได้สูงที่สุดในด้านการหาทุนมาดำเนินกิจการครับ

มาดูด้านที่ดินบ้าง เมื่อเทียบกันทั้งห้าประเทศ เราจะถูกที่สุดแล้วครับ ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าที่ดิหรือค่าซื้อที่ดิน อีกอย่างการครอบครองที่ดินทั้งห้าประเทศมีประเทศไทยที่เดียวครับ ที่สามารถถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ ( Free Holds) นอกนั้นจะเป็นการถือครองสิทธิ์การเช่าระยะยาว( Long Lease)ทั้งหมด ดังนั้นเราได้เปรียบเขาอยู่สองช่วงตัวแล้ว จะมีแต่ค่าแรงงานเท่านั้นที่เราแพงกว่าชาวบ้านเขาครับ ที่ประเทศเราได้ขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำมาช่วงหก-เจ็ดปีก่อน ทำให้เกิดการย้ายฐานเข้าไปที่ประเทศเพื่อนบ้านกันเยอะพอควรครับ ที่เห็นชัดๆคือหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ในด้านการ์เม้นต์ รองเท้า อาหารกระป๋อง อาหารทะเล อีเล็คโทนิค ที่ใช้แรงงานค่อนข้างเยอะได้ย้ายไปที่เวียดนามกันเยอะมากครับ

แต่อย่างไรก็ตาม การย้ายฐานผลิตด้วยเหตุผลค่าแรงขั้นต่ำที่สูงเกินไป ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น เป็นการแก้ปัญหาของผู้ประกอบการที่เราทราบๆกันดี แล้วถามว่าหากเราจะส่งเสริมให้เขาลงทุนการผลิตสินค้าที่ไม่ต้องมากังวลเรื่องค่าแรงที่เพิ่มขึ้นได้หรือไม่ ก็อาจจะมีได้ครับ แม้สินค้าและธุรกิจประเภทนี้จะมีน้อยมาก แต่ก็น่าคิดนะครับ ว่าอะไรละที่เราจะดึงดูดใจให้เขาอยู่กับเราได้ยั่งยืนยาวนาน ผมว่าเราควรจะต้องหาแนวคิดที่เป็นนโยบายภาครัฐต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมนะครับ เราต้องระดมความคิดกัน และอาจจะต้องนำมาเป็นยุทธศาสตร์ชาติเลยละครับ เพื่อเราจะได้ไม่ต้องวิ่งตามกระแส และไม่ถูกเขาย้ายฐานผลิตหนีเราไปครับ ฝากเป็นข้อคิดด้วยนะครับ