แนวคิดการเช่าที่เพื่ออุตสาหกรรม
โดย กริช อึ้งวิฑูรย์สถิตย์ช่วงสองสามอาทิตย์ก่อน ผมต้องเดินทางไปย่างกุ้งทุกอาทิตย์เลย เพราะมีนักธุรกิจจากไทย จีน ไต้หวันที่ต้องการเข้าไปลงทุนในเมียนมามาหาแทบทุกอาทิตย์ สิ่งที่ได้จากการที่เราได้พบปะพูดคุยจากนักลงทุนหลายๆชาติ คือ “แนวคิด”ครับ อันนี้เราหาเรียนไม่ได้จากบทเรียนที่เรียนมาจากมหาวิทยาลัย แต่สามารถถามไถ่พูดคุย และพยายามจับประเด็นเอา เราจะได้มีโอกาสในการเรียนรู้จากประสบการณ์ของเขา แล้วนำมาวิเคราะห์ดูว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ โดยอาจจะใช้ประสบการณ์ของเรา และทฤษฎีต่างๆที่เล่าเรียนมา แล้วมาตกผลึกอีกที เราจะเห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างมากเลยครับ จึงขออนุญาตนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
โดย กริช อึ้งวิฑูรย์สถิตย์
ช่วงสองสามอาทิตย์ก่อน ผมต้องเดินทางไปย่างกุ้งทุกอาทิตย์เลย เพราะมีนักธุรกิจจากไทย จีน ไต้หวันที่ต้องการเข้าไปลงทุนในเมียนมามาหาแทบทุกอาทิตย์ สิ่งที่ได้จากการที่เราได้พบปะพูดคุยจากนักลงทุนหลายๆชาติ คือ “แนวคิด”ครับ อันนี้เราหาเรียนไม่ได้จากบทเรียนที่เรียนมาจากมหาวิทยาลัย แต่สามารถถามไถ่พูดคุย และพยายามจับประเด็นเอา เราจะได้มีโอกาสในการเรียนรู้จากประสบการณ์ของเขา แล้วนำมาวิเคราะห์ดูว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ โดยอาจจะใช้ประสบการณ์ของเรา และทฤษฎีต่างๆที่เล่าเรียนมา แล้วมาตกผลึกอีกที เราจะเห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างมากเลยครับ จึงขออนุญาตนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
เรามาดูกันที่แนวคิดของนักธุรกิจไทยก่อนนะครับ ว่าไทยเราคิดกันอย่างไร โดยผมได้พูดคุยกับเขาเรื่องการที่เขาจะเช่าหรือจะซื้อที่ดินมาลงทุนทำโรงงานอุตสาหกรรม ท่านผู้นั้นได้เล่าว่า ไปลงทุนที่เวียดนาม กัมพูชามาแล้ว และทั้งสองประเทศท่านได้ลงทุนไปกับการ “ซื้อที่ดิน”ไว้ครอบครอง ด้วยระบบการเช่าระยะยาว (Long Lease) กับทางรัฐบาล โดยต้องเสียค่าชดเชยให้กับเอกชนหรือผู้ที่ครอบครองเดิม ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ และยังเล่าว่า การก่อสร้างต้องสร้างเองทั้งหมด แต่ก็ดีในระยะยาว เพราะไม่ต้องจ่ายค่าเช่าเป็นรายเดือน และไม่ต้องปวดหัวกับการขอปรับค่าเช่าทุกปี
อีกทั้งรัฐบาลยังให้การสนับสนุนอีกด้วย ข้อเสียคือต้องลงทุนเงินค่าเช่าซื้อที่ดิน ค่าก่อสร้างช่วงต้นเป็นเงินเหยียบๆร้อยกว่าล้านบาท ดังนั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ต้องลุยต่อไปให้ถึงที่สุด ผมได้ถามถึงแหล่งเงินกู้ที่เขาจะได้มานั้น ทำอย่างไร เพราะเป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักลงทุนว่า การใช้เงินตัวเองไปลงนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำที่สุด ควรจะต้องใช้เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน เพื่อจะได้เกิดดอกเบี้ย ในการนำมาหักลบกลบหนี้ในรูปของบัญชีที่จะต้องส่งสรรพกรหรือหน่วยงานภาษีของรัฐ
ท่านได้บอกว่าการจะนำหลักทรัพย์ที่ต่างประเทศมาค้ำประกันเงินกู้นั้นยากมาก จะต้องมีสถาบันการเงินท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะเขาจะต้องเป็นผู้เข้าประเมินราคาที่ดิน และเป็นผู้รับจดทะเบียนจำนองแทนสถาบันการเงินในประเทศของผู้กู้ นั้นหมายความว่าเขาจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสองต่อ อีกทั้งยังต้องมีเครดิตที่ดีมากกับสถาบันการเงินทั้งสองฝั่งด้วยเช่นกัน ซึ่งยุ่งยากมาก ท่านเลยต้องใช้วิธีนำเอาหลักทรัพย์ในไทยไปค้ำประกันเงินกู้ อีกทั้งยังต้องใช้การค้ำประกันในนามบุคคลธรรมดามาค้ำด้วยเช่นกัน
ส่วนการที่ท่านไปกู้เงินด้วยวิธีดังกล่าวสามารถกู้ผ่านหรือไม่ ท่านเล่าว่าลำบากมาก แต่ตามหลักการของสถาบันการเงิน ไม่น่าจะติดขัดอะไร สามารถทำได้ เพียงแต่ท่านไม่เลือกวิธีนั้น เพราะท่านเห็นว่าทำไมต้องไปจ่ายสองต่อ ในขณะที่หากจะขอกู้ตรงจากธนาคารหรือสถาบันการเงินท้องถิ่น ท่านก็บอกว่าดอกเบี้ยมหาโหดเลยครับ ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่าทำไมบริษัทหรือผู้ประกอบการไทยจึงเลือกที่จะใช้เงินตัวเองเขาไปดำเนินกิจการ นั้นคือการช่วยตัวเอง “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”แหละครับ
ในความเห็นของผมส่วนตัวนะครับ รัฐบาลน่าจะมีการจัดอบรมและเชิญภาคสถาบันการเงินเข้ามาส่งเสริมให้กับผู้ประกอบการที่อยากจะไปขุดทองจากต่างประเทศได้มีโอกาสได้ใช้บริการเงินกู้ที่สะดวกสบายบ้างก็จะดีนะครับ
ตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้วอย่าลืมว่าเงินผลตอบแทนจากการลงทุนจากต่างประเทศนั้น เป็น “ขา”หนึ่งในสามขาของ “บัญชีเงินเดินสะพัด” อันประกอบด้วย 1.บัญชีดุลการค้าและบริการ 2.บัญชีเงินโอน 3.บัญชีรายได้สุทธิจากต่างประเทศ และบัญชีเงินเดินสะพัดก็คือหนึ่งในสามขาของดุลการชำระเงิน อันประกอบด้วยสามขาคือ 1.บัญชีเงินเดินสะพัด 2.บัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย 3.บัญชีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เห็นมั้ยครับว่าอย่ามองข้าม ประเทศสิงคโปร์เขามีพื้นที่เล็กๆ ทรัพยากรธรรมชาติแทบจะไม่มี สิ่งที่เขามีคนทรัพยากรมนุษย์ เพราะนอกจากรายได้ของบัญชีดุลการค้าและบริการ(ที่เขามีแค่ท่าเรือที่เป็นฮับการการคมนาคมทางน้ำในภูมิภาคนี้)ที่เป็นรายได้หลัก ในการเป็นพระเอกช่วยให้รายได้ประชาชาติ (GDP)ของเขาเป็นบวกได้
เขาจึงให้ความสำคัญในการออกไปลงทุนยังต่างประเทศมาก เพื่อจะได้มาซึ่งรายได้สุทธิจากต่างประเทศนี่แหละ ที่พอจะเป็นพระรองที่เป็นหน้าเป็นตาของเขาได้ เราจึงพบเจอคู่แข่งในตลาดต่างประเทศที่มาจากสิงคโปร์ในสมรภูมิการค้าต่างประเทศเป็นประจำ ถึงเวลาแล้วครับที่ไทยเราจะต้องหันกลับมาส่งเสริมผู้ประกอบการไทยโกอินเตอร์กันอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่พูดส่งเสริมแต่ปาก บอกให้เราออกไปสู้รบแต่ไม่ให้อาวุธ(เงินทุน) นักรบกองทัพงูเห่าก็ตายแหงๆๆ
อาทิตย์หน้ามาดูนักธุรกิจจีนกับใต้หวันบ้าง ว่าเขามองการเช่าหรือซื้อที่ดินกันอย่างไรครับ