posttoday

ช่วงยากลำบากของผู้ประกอบการไทยในเมียนมา 

18 กันยายน 2564

คอลัมน์ เปิดประตูค้าชายแดน

ช่วงนี้นับว่าเป็นช่วงที่ยากลำบากที่สุดของผู้ประกอบการไทย ผมเองต้องยอมรับว่า เมื่อครั้งปีค.ศ. 1990 เราก็คิดว่ายากลำบากมากแล้ว แต่พอมาเจอปีค.ศ. 2020-2021 เป็นสองปีที่แทบกระอักเลือดเลยจริงๆครับ

ไหนจะต้องเจอวิกฤติ COVID-19 ไหนจะต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หน่ำซ้ำยังมาเจอการประกาศสงครามกลางเมืองกันอีก เฮ้อ....คงได้แต่ถอนหายใจละครับ มีน้องๆที่เป็นผู้ประกอบการไทยในเมียนมาหลายท่านที่โทรมาคุยกับผม

คำถามยอดฮิตที่ถามมา จะต้องมีคำถามว่า เมื่อไหร่ประเทศเมียนมาจะเปิดประเทศ? ไม่มีกระแสเงินสดในตลาดเงินแล้วจะค้า-ขายกันยังไง? ธนาคารจะเปิดทำการอนุญาตให้โอนเงินกันเมื่อไหร่ ? แลกเงินจ๊าดเป็นเงินบาทได้ที่ไหน? ค่าเงินจ๊าดจะหยุดที่เท่าไหร่? ........

มากมายหลายคำถาม ที่เกือบจะทุกคนที่ต้องถามมาครับ วันนี้ผมต้องบอกว่า ผมเองก็ไม่ทราบทั้งหมดเหมือนกันครับ เพราะถ้าผมหยั่งรู้ได้หมด  ผมคงรวยเละแน่นอนครับ 

ด้วยสถานการณ์อันค่อนข้างจะสับสนนี้ ผมในฐานะที่เคยผ่านเหตุการณ์มาก่อนถึงสองครั้ง ก็อยากจะบอกน้องๆผู้ประกอบการไทยว่า เราไม่ควรจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองของเขา หรือไปถือหางฝ่ายไหนโดยเด็ดขาด

เราต้องระลึกเสมอว่า เราเป็นเพียงผู้ไปอาศัยใบบุญเขาในการทำมาหากินเท่านั้น อีกอย่างเราไม่ใช่ประชาชนของเขา ดังนั้นคงไม่มีฝ่ายไหนเขาจะสบายใจหรอกครับ ถ้าเราวางตัวไม่เป็นกลาง แม้แต่คิดก็ไม่ควรนะครับ เดี๋ยวเผลอปากไปเชียร์เข้าความยุ่งยากจะตามมาครับ

เราควรมาจับตาดูว่าสถานการณ์ในอนาคตจะไปในทิศทางไหน แล้วเราจะต้องปรับตัวอย่างไรให้ธุรกิจของเราอยู่รอดได้ ก็จะดีที่สุดครับ

ในส่วนของคำถามที่หลั่งไหลเข้ามา ผมขออนุญาตใช้ประสบการณ์ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนตัวมาตอบเท่านั้น ส่วนท่านใดจะนำไปใช้หรือท่านใดไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไรครับ ถือว่าอ่านเล่นๆก็พอครับ ที่ถามว่าประเทศเมียนมาจะเปิดประเทศเมื่อไหร่? ต้องดูหลายๆปัจจัยนะครับ

แน่นอนว่าเขาต้องจัดการกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้อยู่ในการควบคุมได้ก่อน นั่นก็หมายความว่าเราต้องจับตาดูว่าเขามีการฉีดวัคซีนไปได้มากน้อยแค่ไหนด้วย ถ้าหากว่าการฉีดวัคซีนไม่ถึง 30-40% ของประชากร ผมคิดว่าคงยากนะครับ ตัวเลขเหล่านี้ท่านสามารถเข้าไปดูในประกาศที่ทางสถานฑูตไทยประจำประเทศเมียนมามีให้ทุกๆวันครับ

ต่อมาต้องดูว่าประเทศไทยเราเปิดการใช้สนามบินเป็นไปตามปกติหรือยัง? ถ้ายังไม่เปิด ผมเชื่อว่าประเทศเมียนมาเขาก็จะเปิดยาก เพราะเครื่องบินไฟท์ที่บินมาจากกรุงย่างกุ้ง เข้ามาสู่ประเทศไทยเรามากที่สุด แต่ถ้าหากประเทศไทยเราเปิดประเทศได้ ก็ไม่ใช่ว่าประเทศเมียนมาจะเปิดได้เสมอไปนะครับ อาจจะมีภาวะแทรกซ้อนเข้ามาอีกก็ได้  ดังนั้นเราดูสถานการณ์ในไทยเป็นปัจจัยประกอบด้วยก็จะดีนะครับ 

ส่วนที่ถามว่าสถานะการธนาคารที่ปิดๆเปิดๆจะเป็นไปอีกนานแค่ไหน? ก็คงต้องตามข่าวจากทางการเมียนมาว่าเขาจะดำเนินการอย่างไรต่อไปอย่างใกล้ชิดแหละครับ นั่นคือคำตอบสุดท้ายที่ดีที่สุดครับ และอย่าเพิ่งเชื่อข่าวลือจนกว่าจะเห็นประกาศที่เป็นลายลักษณ์อักษรจริงๆก่อนเสมอนะครับ

ส่วนที่ถามเรื่องการโอนเงินว่าจะทำอย่างไร? ผมต้องบอกน้องๆว่า การโอนเงินใต้ดินเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายนะครับ ต้องระมัดระวังกันด้วย เพราะที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากได้มีปรากฎการณ์เช่นนี้ และถูกหน่วยงานภาครัฐบางหน่วยงานได้ทำการอายัดทรัพย์ไว้ตรวจสอบมาแล้วหลายบริษัทครับ  ดังนั้นพวกเราต้องเตรียมตัวกันให้ดี อย่าได้เสี่ยงจนเกินไปนะครับ

ทางสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ก็ได้มีการร้องขอผ่อนปรนการเข้มงวดด้านนี้อยู่ครับ ถ้าได้รับคำตอบ ผมจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งครับ

อย่างไรก็ตาม การโอนเงินออกมาจากประเทศเมียนมา ก็ต้องตรวจสอบดูให้ดีด้วยนะครับ ถ้าหากบริษัทท่านได้นำเข้าสินค้าไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ท่านต้องมีการยื่นขออนุญาตนำเข้าโดยมีเอกสารประกอบเสมอ ดังนั้นท่านมีสิทธิ์และจะต้องส่งเงินออกมาตามช่องทางธนาคารเท่านั้น หากไม่มีการส่งเงินออกมาตามจำนวนที่แจ้งไว้ ท่านอาจจะถูกตรวจสอบจากทางสรรพกรของประเทศเมียนมา อาจจะถูกลงชื่อในบัญชีดำของทางสรรพกรได้ ดังนั้นต้องใจเย็นๆอย่างเดียวเลยครับ

เพราะถ้าเงินได้ถูกส่งออกมาทางใต้ดินแล้ว อนาคตถ้าธนาคารเปิดดำเนินการได้ตามปกติ แล้วเราจะหาเงินที่ไหนส่งออกมาอีกละครับ เหตุผลนี้เคยเกิดขึ้นในยุคปี 1988-2000 มาแล้วนะครับ ถ้าใครอยู่ในช่วงนั้นจะจำได้ว่า ในยุคนั้นมีนโยบายหนึ่งคือ Import First Export Later นั่นก็คล้ายคลึงกันกับปัจจุบันนี้แหละครับ 

ส่วนใครที่กังวลใจในเรื่องค่าของเงินจ๊าด และถามว่าสุดท้ายอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินจ๊าดจะอยู่ที่เท่าไหร่? ผมเองต้องรับสารภาพว่า ไม่ทราบจริงๆครับ เพราะอัตราแลกเปลี่ยนในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง มีปัจจัยที่คาดไม่ถึงเยอะมาก

เราเองต้องอย่าได้กอดเงินจ๊าดไว้นานจนเกินความจำเป็นนะครับ นั่นคือความเสี่ยงที่อาจจะส่งผลกระทบต่อกำไร-ขาดทุนได้ครับ ถ้าจำเป็นก็ส่งกลับหรือแลกเป็นเงินสกุลอื่นๆบ้างก็จะดีครับ แต่ต้องคำนึงถึงกฎข้อบังคับของกฎหมายด้วยนะครับ 

ขอให้ทุกท่านที่ทำธุรกิจในประเทศเมียนมา จงรักษาตัวเองให้พ้นจากพิษภัยของสรรพโรคที่กำลังระบาดอยู่นี้ให้ดีนะครับ ขอจงโชคดีครับ