posttoday

Google Chrome เพิ่มส่วนขยาย ตรวจจับเสียงปลอม Deepfake ที่สร้างจาก AI

23 ตุลาคม 2567

“Hiya Deepfake Voice Detector” ส่วนขยายใหม่บน Google Chrome ที่ใช้ AI ในการตรวจสอบว่าเสียงจากสื่อต่างๆเป็นเสียงจริงหรือเสียงที่ถูกปลอมขึ้นจากเทคโนโลยี Deepfake

Hiya Deepfake Voice Detector” ส่วนขยายใหม่บน Google Chrome จากบริษัท Hiya ที่ใช้ขุมพลังจากปัญญาประดิษฐ์ (Ai) ในการตรวจสอบว่าเสียงที่ได้ยินจากสื่อต่างๆนั้นเป็นเสียงจริงหรือเสียงที่ถูกปลอมขึ้นจากเทคโนโลยี Deepfake โดย Hiya ระบุว่าเครื่องมือนี้มีความแม่นยำถึง 99% และสามารถตรวจสอบเสียงได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาที

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ Hiya ต้องพัฒนาเครื่องมือตรวจจับเสียงปลอมขึ้นมา เนื่องจากบริษัทเห็นว่า ในช่วงระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 เทคโนโลยี Deepfake ได้ถูกพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด มีความแยบยลมากขึ้น จนยากที่จะแยกแยะว่าภาพ คลิป เสียง ที่ถูกเผยแพร่ออกมาตามสื่อต่างๆ เป็นของจริงหรือของปลอมที่สร้างขึ้นจาก Ai ดังนั้น การพัฒนาเครื่องมือ AI ให้สู้กับ AI จึงมีความสำคัญมากในโลกยุคดิจิทัลเพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้น

Google Chrome เพิ่มส่วนขยาย ตรวจจับเสียงปลอม Deepfake ที่สร้างจาก AI

 

เทคโนโลยีตรวจจับเสียงปลอมของ Hiya อาศัยอัลกอริทึม AI ที่ได้มาจากการควบรวมกิจการกับ Loccus.ai เมื่อเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ตาม จากการทดสอบให้เครื่องมือดังกล่าวตรวจจับเสียงปลอม ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ “Hiya Deepfake Voice Detector” ไม่สามารถวิเคราะห์ได้ เช่น คลิปวิดีโอมีเสียงดนตรีประกอบที่ดังเกินไป รวมถึงสามารถวิเคราะห์ได้เฉพาะเสียง ไม่สามารถตรวจจับคลิปปลอมที่ AI สร้างขึ้นได้

นอกจากนี้ จากการทดสอบยังพบว่าเครื่องมือดังกล่าวแม้จะสามารถตรวจจับเสียงปลอมของกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ แต่กลับไม่สามารถยืนยันความถูกต้องของเสียงจริงของเธอได้ รวมถึงระบบยังตรวจไม่พบว่าเสียงปลอมของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์และประธานาธิบดีเซเลนสกีแห่งยูเครนเป็นของปลอม โดยกลับให้คะแนนความน่าเชื่อถือสูงถึง 88 และ 90 คะแนนตามลำดับ

Google Chrome เพิ่มส่วนขยาย ตรวจจับเสียงปลอม Deepfake ที่สร้างจาก AI

อย่างไรก็ตาม Hiya Deepfake Voice Detector สามารถตรวจจับเสียงปลอมของคิม จู-ฮา ผู้ประกาศข่าวช่อง MBN ของเกาหลีได้ทันที 

เครื่องมือดังกล่าว ถือว่าสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายใหม่ในการรักษาความน่าเชื่อถือของข้อมูลในยุคดิจิทัล และความจำเป็นในการพัฒนาเครื่องมือตรวจจับ Deepfake ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการสร้างกรอบกฎหมายที่ครอบคลุมเพื่อป้องกันการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด