ลายมือหมอ AI ก็จัดการได้! ด้วยการแปลงลายมือเป็นข้อมูลดิจิทัล
ที่ผ่านมาหลายท่านอาจปวดหัวกับนำข้อมูลที่จดบันทึกบนกระดาษมาใช้เชิงดิจิทัลกันไม่น้อย แต่เราอาจไม่ต้องลำบากอีกต่อไป เมื่อ Google คิดค้น InkSight AI แปลงลายมือให้เป็นข้อมูลดิจิทัล
เมื่อพูดถึงการจดบันทึกเนื้อหาหรือข้อความเราย่อมนึกถึงการเขียนลงบนกระดาษเป็นอันดับแรก แต่ปัจจุบันแนวทางการจดบันทึกนี้ได้รับความนิยมน้อยลง แต่ด้วยข้อจำกัดในการจัดหมวดหมู่และค้นหาย้อนหลังในรูปแบบดิจิทัลทำได้ยาก การจดบันทึกด้วยลายมือจึงได้รับความนิยมน้อยลงเรื่อยๆ
ด้วยเหตุนี้จึงมีการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่เปลี่ยนลายมือของเราให้เป็นข้อมูลเชิงดิจิทัล
AI ที่แปลงข้อมูลลายมือให้เป็นดิจิทัล
ผลงานนี้เป็นของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ Google กับการพัฒนาระบบ AI รุ่นใหม่ InkSight สามารถแปลงภาพถ่ายที่ได้รับการบันทึกด้วยลายมือเป็นข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลโดยอัตโนมัติ ด้วยระดับความแม่นยำในการประเมินและอ่านลายมือของมนุษย์อยู่ที่ 87%
โมเดลที่ถูกนำมาใช้งานในการประมวลผลข้อมูลคือ Vision Transfromer(VIT) ของ Google ร่วมกับโมเดลภาษา Mt5 ช่วยให้ AI สามารถแปลงข้อมูลที่มีความซับซ้อนจากการจดบันทึกผ่านลายมือได้อย่างแม่นยำ พร้อมประมวลผลออกมาเป็นข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล
แตกต่างจากหลักการทำงานของโปรแกรมแปลงลายมือเป็นข้อมูลเชิงดิจิทัลที่ผ่านมา ซึ่งอาศัยการวิเคราะห์คุณสมบัติเชิงเรขาคณิตของเส้นที่เขียนเป็นหลัก InkSight อาศัยระบบในการอ่านทำความเข้าใจข้อความ ร่วมการสร้างข้อความขึ้นมาใหม่ ในการแปลงและบันทึกข้อมูลให้เป็นดิจิทัล
ด้วยผลลัพธ์นี้จะช่วยให้สามารถแปลงข้อมูลลายมือให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลโดยอัตโนมัติ แม้ระดับความแม่นยำของข้อมูลที่ได้จะแปรผันตามภาพถ่ายต้นทาง ในกรณีที่การจดบันทึกไม่เป็นระเบียบ แสงไม่เพียงพอ หรือภาพถ่ายไม่ชัดเจนอาจทำให้เกิดการคลาดเคลื่อนเพิ่มเติมได้ แต่โดยเฉลี่ยจะมีระดับความแม่นยำอยู่ที่ 87%
ถือเป็นระบบแปลงลายมือให้เป็นข้อมูลเชิงดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
AI ที่เชื่อมโยงอนาล็อกสู่ดิจิทัลและอนาคต
จริงอยู่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้รับการพัฒนาให้สะดวกในการจดบันทึก ปากกสไตลัสได้รับการพัฒนาให้ใกล้เคียงกับการจับดินสอปากกา เพื่อให้ข้อมูลที่จดได้รับการบันทึกในรูปแบบดิจิทัล แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้งานกระดาษกับปากกาทั่วไปก็ยังเป็นวิธีการจดบันทึกที่ได้รับความนิยมจนปัจจุบัน
ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยพบว่า สาเหตุที่ทำให้การจดบันทึกปกติได้รับความนิยมมาจาก การเขียนด้วยมือถือเป็นขั้นตอนเรียนรู้ทำความเข้าใจขั้นพื้นฐานของมนุษย์ การจดบันทึกด้วยมือจะช่วยให้คนเราจดจำและทำความเข้าใจเนื้อหาดังกล่าวได้ดีกว่าการพิมพ์ อีกทั้งการใช้กระดาษกับปากกาก็มีต้นทุนน้อยพร้อมสำหรับทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา
สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการทำงาน โดยเฉพาะการจดบันทึกแนวคิดหรือบันทึกการประชุมลงบนกระดาษ ช่วยให้งานเหล่านั้นได้รับการแปลงเป็นข้อมูลดิจิทัล ทำการจัดเก็บข้อมูลได้อย่างราบรื่น เช่นเดียวกับนักเรียนนักศึกษาที่จดบันทึกเนื้อหาการสอน ช่วยให้จัดระเบียบและนำกลับมาอ่านทบทวนย้อนหลังได้ง่ายยิ่งขึ้น
ที่ได้รับประโยชน์เป็นอย่างยิ่งคือกลุ่มนักวิจัย นักโบราณคดี ไปจนนักประวัติศาสตร์ทั้งหลาย ด้วยเนื้อหาที่มีการบันทึกในอดีตล้วนได้รับจดบันทึกด้วยลายมือบนหน้ากระดาษที่ผุพังตามกาลเวลาได้ง่าย การแปลงข้อมูลเป็นไฟล์ดิจิทัลจึงมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง ทำให้เก็บรักษาไปจนวิเคราะห์ข้อมูลสะดวกขึ้นมาก
InkSight จึงถือเป็น AI ที่นำไปใช้งานได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่ในการเก็บรักษาข้อมูลไปจนรักษาอัตลักษณ์ลายมือของผู้ใช้งาน เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลบนหน้ากระดาษในโลกอนาล็อกให้เข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะช่วยรักษารูปแบบการเขียน การใช้ภาษา แนวคิด ไปจนตัวตนของผู้คนที่ทำการจดบันทึกเอาไว้ในฐานข้อมูลต่อไป
นี่จึงถือเป็นนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มความสะดวกทั้งในแวดวงวิชาการ การทำงาน ไปจนชีวิตประจำวัน
ปัจจุบัน InkSight ยังมีข้อจำกัดในบางด้าน ตั้งแต่การประมวลผลข้อความจะเกิดขึ้นทีละคำทำให้ต้องอาศัยเวลายาวนาน หรือในกรณีการเขียนที่มีความกว้างของเส้นมากด้วยอุปกรณ์การเขียนอย่างพู่กัน อาจทำให้การแปลงข้อมูลเกิดความสับสนคลาดเคลื่อน ซึ่งเป็นจุดที่ต้องได้รับการพัฒนาต่อไป
แต่ทางทีมวิจัยมองว่า InkSight เป็นข้อพิสูจน์เรื่อง AI ไม่ได้เข้ามาแทนที่ แต่ช่วยส่งเสริมขีดความสามารถของมนุษย์ให้โดดเด่นยิ่งขึ้น
ที่มา