อินโนพาวเวอร์ จับมือ อาร์วี คอนเน็กซ์ พัฒนานวัตกรรมพลังงาน เทคโนโลยีขั้นสูง
อินโนพาวเวอร์ จำกัด ร่วมกับ อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เตรียมพัฒนา นวัตกรรมพลังงานและเทคโนโลยีขั้นสูง เป้าหมายสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่และสนับสนุนการพัฒนาประเทศในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยผลักดันนวัตกรรมพลังงานที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมายของเราในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน อีกทั้ง เรายังสามารถนำเทคโนโลยี เช่น อากาศยานไร้คนขับ (UAV) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า เป็นการต่อยอดไปสู่การส่งมอบข้อมูลให้กับระบบส่งไฟฟ้า เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับบริหารจัดการ ความโปร่งใส และความเชื่อมั่น นอกจากนี้ ความมั่นคงทางไซเบอร์ยังเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่เรามุ่งเน้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ
ความร่วมมือนี้ครอบคลุมโครงการสำคัญหลายด้าน ได้แก่
(1) การพัฒนาแพลตฟอร์มและเครื่องมือดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการและลดระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
(2) การสำรวจและพัฒนาโอกาสการจัดการคาร์บอนเครดิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
(3) การสำรวจและพัฒนาโอกาสการเพิ่มความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ผ่านการพัฒนาโซลูชันด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์
(4) การสำรวจและพัฒนาโอกาสการการใช้เทคโนโลยีและระบบวิเคราะห์ภาพขั้นสูงในการสนับสนุนการดำเนินงานเชิงบูรณาการ
(5) การสำรวจโอกาสเพิ่มเติมในการพัฒนานวัตกรรมพลังงานที่ตอบสนองความต้องการของทั้งภาคเอกชนและประเทศชาติ
รองศาสตราจารย์ ดร. สุเจตน์ จันทรังษ์ ประธานบริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ กล่าวเสริมว่า ด้วยความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีขั้นสูง เรามั่นใจว่าความร่วมมือครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจและประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ข้อตกลงนี้ ทั้งสององค์กรจะผสานจุดแข็งและความสามารถเพื่อร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมและโซลูชันที่ตอบโจทย์ด้านพลังงาน พร้อมเป้าหมายร่วมในการพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความรู้และทรัพยากร เพื่อสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในระดับชาติ สำหรับบันทึกข้อตกลงนี้จะมีระยะเวลา 3 ปี โดยทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อผลักดันให้โครงการต่าง ๆ บรรลุเป้าหมาย พร้อมสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกันในงาน DronTech Asia 2024 อาร์วี คอนเน็กซ์ ได้ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ ITPS แคนาดา เพื่อร่วมพัฒนาระบบควบคุมภาคพื้นดินและการบินสำหรับการฝึกทดสอบการบิน UAS ขั้นสูง
โดยความร่วมมือครั้งนี้จะนำเอาระบบ GCS และ FCS อันล้ำสมัยของ RVC มาใช้ในการฝึกอบรม เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการฝึกให้กับนักบินและวิศวกร UAS โดยหลักสูตรการฝึกทดสอบการบิน UAS ของ ITPS เป็นหลักสูตรเดียวในโลกที่มุ่งเน้นการฝึกอบรมเชิงลึกเกี่ยวกับการทดสอบการบินและการปฏิบัติการสำหรับ UAS โดยเฉพาะ
“เราภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับ ITPS แคนาดา ในการพัฒนาระบบควบคุมสำหรับหลักสูตรนี้ ระบบของเราถูกออกแบบตามมาตรฐานสูงสุด เพื่อตอบสนองความต้องการของนักบินและวิศวกร UAS ที่ต้องการเครื่องมือที่มีความแม่นยำและเชื่อถือได้ ความร่วมมือครั้งนี้สะท้อนถึงศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาของ RVC และความมุ่งมั่นในการสนับสนุนอนาคตของวงการการบิน” รศ. ดร.สุเจตน์ จันทรังษ์ อาร์วี คอนเน็กซ์ กล่าวเสริม
หลักสูตรการฝึกทดสอบการบิน UAS ของ ITPS มีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่:
• โปรแกรมเข้มข้น 13 สัปดาห์ ที่รวมการฝึกบินทดสอบ UAS และการประเมินระบบ
• การสอนผ่านทั้งโมดูลทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติ พร้อมปรับให้เหมาะสมกับความต้องการเฉพาะของลูกค้า
• การมอบความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับเทคโนโลยี UAS การปฏิบัติการบิน และเทคนิคการทดสอบการบิน
จอร์จิโอ เคลเมนติ ประธาน ITPS กล่าวเสริมว่า “เรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้ร่วมงานกับ RVC ซึ่งระบบที่ทันสมัยของพวกเขาจะมีบทบาทสำคัญในหลักสูตรของเรา แตกต่างจากโปรแกรมฝึกทดสอบการบินแบบดั้งเดิมที่อาจมีข้อจำกัด หลักสูตรของเรามุ่งเน้นความท้าทายเฉพาะของการทดสอบ UAS เหมาะอย่างยิ่งสำหรับองค์กรที่ต้องการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติการและวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้าน UAS”
ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2568 ผู้เข้าอบรมจะได้ฝึกใช้งาน Sky Scout UAS จาก RVC ซึ่งรองรับการติดตั้ง Payloads หลากหลาย อาทิ เซนเซอร์ EO/IR และ Laser Designator รวมถึงอุปกรณ์สำคัญสำหรับภารกิจต่าง ๆ Sky Scout ออกแบบเพื่อความยืดหยุ่นในการใช้งานหลากหลายสถานการณ์ พร้อมระบบขนส่งเฉพาะที่เพิ่มประสิทธิภาพในการเคลื่อนย้ายและการปฏิบัติงาน