posttoday

“ทรู” ชี้ AI คือโอกาสและความท้าทาย เสนอหลักจริยธรรม 5 ข้อ เพื่ออนาคตยั่งยืน

22 ธันวาคม 2567

ทรู คอร์ปอเรชั่น เผย AI เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน พร้อมชี้ความท้าทายด้านจริยธรรม การใช้พลังงาน และข้อกำหนดทางกฎหมาย พร้อมเสนอแนวทางพัฒนา AI อย่างรับผิดชอบ เน้นโปร่งใส ยุติธรรม และปลอดภัย

KEY

POINTS

  • AI ใช้พลังงานไฟฟ้าสูงถึง 3 เมกะวัตต์ต่อวัน 
  • ปัจจุบันลูกค้าทรู 15 ล้านคนใช้บริการดิจิทัลผ่าน AI
  • แนะ 5 หลักจริยธรรม AI ที่ผู้ใช้งานต้องตระหนัก

นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู กล่าวในงาน อบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “ก้าวทัน AI ที่มีจริยธรรม เสริมพลังสื่อยุคใหม่” กับ สมาชิกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า ปัจจุบัน AI เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมาพร้อมความท้าทายที่สำคัญในหลายด้าน ทั้งการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น การขาดจริยธรรมในการใช้งาน และการขาดกรอบกติกาที่ชัดเจน ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาในอนาคต 

จากข้อมูลปัจจุบันพบว่า AI ใช้พลังงานไฟฟ้าสูงถึง 3 เมกะวัตต์ต่อวัน สะท้อนถึงการบริโภคพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลต่อความสมดุลในการจัดสรรพลังงาน โดยเฉพาะในประเทศที่ยังต้องพัฒนาพลังงานสะอาดเพื่อรองรับเป้าหมาย Net Zero และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

ขณะที่การใช้งาน AI ที่อาจละเมิดจริยธรรม เช่น การสร้างภาพปลอม เสียงจำลอง หรือการใช้ข้อมูลโดยไม่ได้รับการยินยอม อาจสร้างความเสี่ยงต่อความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของผู้ใช้งาน โดยเฉพาะในโลกที่เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนชีวิตประจำวัน ความกังวลนี้ยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อปัจจุบันยังไม่มีกรอบกติกาที่ชัดเจนสำหรับการควบคุมการใช้งาน AI 

ข้อจำกัดด้านข้อกำหนดทางกฎหมายและกฎระเบียบที่อาจไม่สอดคล้องกับการใช้งาน AI เช่น การกำหนดให้ระบบคอลเซ็นเตอร์ต้องมีเจ้าหน้าที่รับสายภายใน 20 วินาที ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ซึ่งอาจจำกัดความสามารถของ AI ในการให้บริการอย่างเต็มที่ แม้ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดระยะเวลารอคอยของลูกค้า ก็ตาม

ลูกค้าทรูใช้บริการดิจิทัล 15 ล้านคน

ด้านนายนิติธรรม โกวิทกูลโกร หัวหน้าสายงานด้านผลิตภัณฑ์และบริการ ทรู กล่าวว่า ทรู ได้นำ Generative AI มาใช้ในองค์กรเมื่อต้นปี 2567 ต้องยอมรับว่าในช่วงเริ่มต้นยังมีบริการไม่มาก และความฉลาดของ Generative AI ก็พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ทรู” ชี้ AI คือโอกาสและความท้าทาย เสนอหลักจริยธรรม 5 ข้อ เพื่ออนาคตยั่งยืน

นิติธรรม โกวิทกูลโกร หัวหน้าสายงานด้านผลิตภัณฑ์และบริการ ทรู

ทรู นำ AI มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการกับลูกค้า คือ มะลิ AI แชทบอท ตอบคำถามทั้งทางออนไลน์ และคอลเซ็นเตอร์ แทนคน ปัจจุบันมีลูกค้าทรูเข้ามาใช้บริการดิจิทัล 15 ล้านคน ทั้งการถามคำถามเรื่องสินค้า บริการ โปรโมชัน บิลค่าใช้จ่าย รวมถึงการแจ้งปัญหา โดยเร็วๆนี้ ทรู จะเปิดตัวแอปพลิเคชัน ทรู แบบใหม่ที่ผสมผสานฐานข้อมูลของลูกค้าจากทั้งดีแทค และ ทรู รวมไว้ที่เดียว เพื่อให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการได้ง่ายขึ้น 

จริยธรรม AI ที่สำคัญคือ AI ต้องไม่นำข้อมูลของคนอื่นมาตอบคำถามให้เรา และเราต้องมีการตรวจสอบกลับเสมอว่า AI ได้ตอบคำถามอย่างไรบ้าง เหมาะสมหรือไม่

AI ต้องรับผิดชอบสังคม ผ่าน 5 หลักจริยธรรม

นายมนตรี สถาพรกุล หัวหน้าสายงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทรู กล่าวเสริมว่า AI ต้องมีความรับผิดชอบเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและความปลอดภัยต่อสังคม ประกอบด้วย 1.ป้องกันการเลือกปฏิบัติ เมื่อมีการนำ AI มาใช้เป็นเครื่องมือในการรับสมัครงาน AI ไม่ควรตัดสินใจ เพราะเพศ หรือ สถานศึกษา 2.การเคารพสิทธิความเป็นส่วนตัว โดย AI ไม่ควรบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เสียง หรือ ใบหน้า โดยไม่ได้รับอนุญาต

3.การปกป้องสิทธิเสรีภาพ โดยการกรองเนื้อหาต้องไม่ละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น 4.ความปลอดภัยและการใช้งานอย่างถูกต้อง เช่น ระบบการแพทย์ต้องไม่ให้ข้อมูลผิดพลาดที่ส่งผลต่อชีวิต และ 5.สังคมที่เท่าเทียม โดย AI ควรช่วยสร้างความเท่าเทียม เช่น การเข้าถึงบริการดิจิทัลสำหรับทุกคน

นายมนตรี ได้ยกตัวอย่าง AI ที่ไม่รับผิดชอบ ทำให้เกิดความเสียหายอาทิ  1. การเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน โดยระบบคิดเลือกพนักงาน เลือกเฉพาะผู้จบจากสถาบันดัง โดยมองข้ามความสามารถอื่น 2. ข่าวปลอมและ Deepfake ในการสร้างวิดีโอปลอบของนักการเมืองเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคม 3. การเก็บข้อมูลเกินความจำเป็น โดย AI ฟังบทสนทนาผ่านแอปพลิเคชันและนำไปใช้งานโดยไม่ได้ขอความยินยอม

4. ระบบตรวจจับใบหน้าที่มีอคติ เช่น ระบบไม่สามารถจดจำใบหน้าคน บางเชื้อชาติได้อย่างถูกต้อง และ 5. ความไม่ปลอดภัยของรถยนต์ขับเอง ตัวอย่าง AI อ่านสัญญาณจราจรผิด ทำให้เกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น 

ดังนั้นการพัฒนาและใช้งาน AI ต้องเคารพ สิทธิมนุษยชน จริยธรรม และกฎหมาย โดยยึดหลัก  5 ข้อ ได้แก่ 1. ความโปร่งใส ผู้ใช้งานต้องรู้ว่ากำลังใช้งาน AI และ AI ตัดสินใจอย่างไร เช่น ระบบการคัดเลือกงานต้องอธิบายได้ว่า ตัดสินใจจากข้อมูลอะไร 2.ความยุติธรรม ห้ามมีอคติหรือเลือกปฏิบัติต่อผู้ใด เช่น ชาติพันธุ์ เพศ หรือสถานะทางสังคม

3.ความปลอดภัย AI ต้องไม่สร้างความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินของคน ตัวอย่าง รถยนต์ขับเองต้องปลอดภัยสำหรับทุกคน 4. ความเป็นส่วนตัว ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน ต้องถูกปกป้องอย่างเข้มงวด และ 5.ความรับผิดชอบ ผู้พัฒนา AI ต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้ AI