คาดการณ์แนวโน้มอนาคต AI ปี 2025 จากบริษัท IBM
ในปี 2024 เราทราบดีว่า AI ได้รับความสนใจและมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดขึ้นอีกปี คราวนี้เรามาดูแนวโน้ม AI ปี 2025 จากรายงานของบริษัท IBM กันเสียหน่อย
เราทราบกันดีว่า AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เป็นทิศทางแห่งอนาคตที่บริษัทจำนวนมากต่างให้ความสนใจ เห็นได้ชัดจากความตื่นตัวในหลายภาคส่วนที่เริ่มลงทุนกับ AI อย่างกว้างขวาง บางแห่งยังเริ่มทดสอบการนำมาใช้งานภายในองค์กรเพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการแก่ผู้บริโภค
วันนี้เราจึงมาพูดถึงรายงาน APAC AI Outlook 2025 ที่เป็นรายงานคาดการณ์ AI ปีหน้าจากบริษัท IBM กันเสียหน่อย
เมื่อ AI เปลี่ยนจากกระแสมาเป็นใช้งานจริง
ข้อมูลในรายงานอ้างอิงว่า ในปี 2024 องค์กรในภูมิภาค APAC ช่วงที่ผ่านมาแม้เริ่มมีการใช้งาน AI ในองค์กร แต่โครงการส่วนมากอยู่ในช่วงทดสอบการใช้งานในระยะสั้น เน้นการจับกระแสดึงดูดโดยใช้คำว่า AI และมีการใช้งานในโครงการขนาดเล็กที่ไม่ได้ส่งผลต่อการทำงานขององค์กรเป็นหลัก
สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกเนื่องจากความสนใจของตลาดอาจทำให้เกิดการตื่นตัวจนเกินไป เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในตลาดเทคโนโลยี ตั้งแต่เหตุการณ์ฟองสบู่ดอทคอมมาจนถึงการขยายตัวของบล็อกเชนและ NFT ทำให้ในช่วงแรกบริษัทและผู้ลงทุนจะยังไม่ทุ่มเม็ดเงินลงมากนัก
แต่การทดลองใช้งานก็ทำให้หลายบริษัทมีความเห็นตรงกันว่า AI จะกลายเป็นส่วนสำคัญของเทคโนโลยีในอนาคต ด้วยเหตุนี้ปี 2024 จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการให้ความสำคัญกับวางโครงสร้างและแนวทางการใช้ประโยชน์จาก AI เห็นได้ชัดจากการที่หลายบริษัทต่างให้ความสนใจและทุ่มเม็ดเงินในการพัฒนาอย่างจริงจัง
สิ่งเหล่านี้จะเป็นรากฐานให้กับโครงการพัฒนาและใช้งาน AI ในปี 2025 ต่อไป
5 แนวโน้ม AI ที่จะต้องเจอภายในปี 2025
ตามที่กล่าวไปข้างต้นทั่วโลกต่างให้ความสนใจกับการพัฒนา AI ไม่ใช่เพียงแค่กับกลุ่ม Chatbot ที่ในการพูดคุยตอบคำถามเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการนำไปปรับใช้กับทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง ทาง IBM ได้นำข้อมูลในส่วนนี้มารวบรวมและประมวลเพื่อคาดการณ์แนวโน้ม AI ในปี 2025 ดังนี้
1.Strategic AI
เมื่อแน่ใจว่า AI คืออนาคต แนวทางการใช้งานและพัฒนาจึงเปลี่ยนจากการทดลองใช้ระยะสั้น เป็นโครงการใหญ่ระดับยุทธศาสตร์ขององค์กร เพื่อยกระดับขีดความสามารถของบริษัทในการทำงานและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยลง
ตัวอย่างในการใช้งาน เช่น AI เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลในตลาดลงทุน หรือ AI จัดการทรัพยากรอัตโนมัติอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อปัญญาประดิษฐ์ขององค์กรและภาคธุรกิจต่างๆ
2.Rightsizing AI
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญในการใช้งาน AI คือการปรับขนาดและรูปแบบของ AI ที่ใช้ให้เหมาะสมกับเนื้อหางาน เป้าหมาย ความต้องการ และทรัพยากรขององค์กรนั้นๆ เพื่อให้ AI สามารถทำงานได้อย่างยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยไม่ต้องใช้โมเดลที่มีขนาดใหญ่เกินความจำเป็น
ส่วนนี้สามารถเห็นได้ชัดจากบริษัท AI Chatbot ทั้งหลาย ที่เริ่มมีการพัฒนา AI ที่มีขนาดและประสิทธิภาพน้อยลง แต่สามารถทำงาน ประมวลผล และตอบสนองความต้องการได้เร็วขึ้น เพื่อความคล่องตัวในการทำงานและลดค่าใช้จ่าย พร้อมส่งเสริมการใช้ AI อย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น
3.Unified AI
แนวทางนี้เป็นการสร้างระบบบริหารจัดการ AI ที่ครอบคลุม เป็นการรวมศูนย์จัดการระบบ AI หลายโมเดลเข้าด้วยกัน เพื่อความเป็นระเบียบและสะดวกต่อการบริหารองค์กรในภาพรวม ทั้งสำหรับตัวผู้ใช้งาน AI ในการทำงาน และนักพัฒนาที่ต้องตรวจสอบดูแลการทำงานของ AI
อย่างไรก็ตามการสร้างระบบรวมศูนย์ AI หลายรูปแบบเข้าด้วยกันถือเป็นเรื่องท้าทาย ทั้งเสถียรภาพในการใช้ ประสิทธิภาพการทำงาน การเชื่อมโยงระบบที่ซับซ้อน ไปจนการรักษาความปลอดภัยต่างๆ
4.Agentic AI
นี่อาจเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของการพัฒนา AI ในปี 2025 กับการพัฒนา AI ให้สามารถดำเนินการและทำงานได้เองโดยอัตโนมัติ มีอิสระในการตัดสินใจ เรียนรู้ และปรับตัวตามสถานการณ์ ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึก เพิ่มประสิทธิภาพ ลดระยะเวลาและข้อผิดพลาดในการทำงานลงมาก
แนวทางนี้เริ่มมีการทดสอบการใช้งานจริงในหลายภาคส่วน เช่น การใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลทางธรณีวิทยาของบริษัทน้ำมัน เพื่อย่นระยะเวลาการประมวลผลข้อมูลที่ใช้เวลาเป็นวันให้เหลือ 30 นาที หรือการใช้สนับสนุนการจัดคิวและงานเอกสารในโรงพยาบาลเพื่อจัดการคิวและทะเบียนประวัติของผู้ป่วย
5.Human-Centric AI
ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ แนวคิดในการออกแบบและใช้งาน AI โดยให้ความสำคัญต่อความต้องการรวมถึงการใช้งานของมนุษย์ ทั้งในส่วนของพนักงานและลูกค้าเพื่อสร้างผลลัพธ์และมุมมองเชิงบวกต่อองค์กร โดยมีจุดหมายหลักในการช่วยลดภาระงานแก่พนักงาน และความสะดวกเข้าถึงง่ายของผู้ใช้บริการ
ในส่วนนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เป็น AI ที่มุ่งหวังประสิทธิภาพและผลผลิตเพียงอย่างเดียว
องค์กรที่เริ่มมีการนำ AI มาปรับใช้งานในไทย
ไทย ถือเป็นอีกประเทศที่มีความตื่นตัวในการพัฒนาและใช้งาน AI ไม่แพ้ชาติอื่น องค์กรบางส่วนเริ่มมีการปรับตัวและนำ AI มาใช้งาน เช่น
- WHA Group มีการนำ AI เข้ามาสนับสนุนระบบจัดการน้ำและพลังงานที่ทันสมัย โดยอาศัย AI ในการประเมินการทำงานของระบบพลังงานสะอาด คาดการณ์ข้อมูลพยากรณ์อากาศเพื่อวิเคราะห์การทำงานของโซล่าเซลล์ ไปจนการติดตามและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ เพื่อการใช้งานทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน
- SCBX มีการนำ AI มาใช้และช่วยในหลายสาขา เช่น ช่วยอนุมัติและตรวจสอบสินเชื่อ เพิ่มความปลอดภัยและลดระยะเวลาการทำงานลงกว่า 592 ชั่วโมง/เดือน, ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้คำแนะนำการลงทุนที่ตรงกับความต้องการและพฤติกรรมการใช้งาน และวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเพื่อนำมาปรับปรุงการให้บริการ
เห็นได้ชัดว่าสำหรับการใช้งานเทคโนโลยี AI ประเทศไทยก็ไม่ได้ตกขบวน เริ่มมีการปรับใช้งานในหลายองค์กรและอุตสาหกรรมแล้วเช่นกัน ภายในรายงานยังคาดว่า ประเทศไทยจะมีสัดส่วนการลงทุนใน AI เพื่อปรับปรุงการให้บริการลูกค้า พัฒนาระบบการทำงาน และระบบการขาย แต่คาดว่าจะมีความท้าทายในเรื่องคุณภาพข้อมูลที่นำมาพัฒนาต่อไป
ที่มา
https://www.ibm.com/downloads/documents/gb-en/115dcc76ce363165
https://www.posttoday.com/business/stockholder/707723
https://www.posttoday.com/ai-today/715232
https://www.posttoday.com/ai-today/715315?utm_source=chatgpt.com