วิจัยใหม่ OpenAI ชี้ ยิ่งใช้ ChatGPT บ่อย ยิ่งทำให้รู้สึกเหงา
วิจัยใหม่ OpenAI ชี้! ใช้ ChatGPT บ่อยๆ อาจเหงาหนักกว่าเดิม จนบั่นทอนสุขภาพจิต โดยเฉพาะผู้ใช้งานแชทบอท AI เป็นประจำ กระทบทักษะการเข้าสังคมในชีวิตจริง
งานวิจัยจาก OpenAI ผู้พัฒนา ChatGPT ได้ออกมาเปิดเผยข้อค้นพบที่น่าสนใจว่า การใช้งานแชทบอท ChatGPT อย่างสม่ำเสมอ อาจนำไปสู่ความรู้สึกเหงาที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ใช้งานบางราย
นับตั้งแต่ OpenAI เปิดตัว ChatGPT ราว 2 ปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์มนี้ได้สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ โดยมีผู้ใช้งานประจำต่อสัปดาห์สูงถึง 400 ล้านคนทั่วโลก
ความสามารถในการตอบคำถาม สร้างสรรค์เนื้อหา และโต้ตอบได้อย่างเป็นธรรมชาติ ทำให้ ChatGPT กลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับหลายๆ คนในการทำงาน การเรียนรู้ ไปจนถึงการเป็นเพื่อนคลายเหงา
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยล่าสุดได้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบอีกด้านหนึ่ง โดยนักวิจัยจาก OpenAI ร่วมกับ MIT Media Lab ได้ทำการศึกษาเชิงลึกเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบทางอารมณ์ของการใช้งาน ChatGPT
พวกเขาได้วิเคราะห์บทสนทนาผ่านแชทนับล้านรายการ การโต้ตอบด้วยเสียงอีกหลายพันครั้ง และสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้งาน 4,000 คน เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้งานแชทบอท
ในการศึกษาอีกชิ้นหนึ่ง MIT Media Lab ได้ติดตามพฤติกรรมการใช้งาน ChatGPT ของผู้ใช้งานเกือบ 1,000 คน เป็นระยะเวลาสี่สัปดาห์ โดยเก็บข้อมูลทั้งในรูปแบบข้อความและเสียง
ในบริบทการสนทนาที่หลากหลาย ซึ่งผลการศึกษาเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการใช้งาน ChatGPT อย่างสม่ำเสมอ กับความรู้สึกเหงาที่อาจเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ใช้งานบางราย
ยิ่งใช้งาน ChatGPT บ่อย ยิ่งเหงามากขึ้น
แม้ว่าผลลัพธ์จากงานวิจัยจะมีความซับซ้อนและได้รับอิทธิพลจากหลายปัจจัย แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ นักวิจัยพบว่า ChatGPT อาจทำให้ผู้ที่ใช้งานเป็นประจำเกิดความรู้สึกเหงามากขึ้น
วิจัยระบุว่า ผู้ที่มี "การใช้งานรายวันในระดับสูง" ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหรือประเภทการสนทนาใดก็ตาม มีแนวโน้มที่จะเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว และมีปัญหาในการใช้งานมากขึ้น รวมถึงมีการเข้าสังคมน้อยลง
โดยทีมวิจัยวัดทั้งความรู้สึกโดดเดี่ยวและระดับการเข้าสังคมจริง เพื่อแยกแยะประสบการณ์ความรู้สึกโดดเดี่ยวส่วนตัวของผู้ใช้ออกจากระดับการแยกตัวที่เกิดขึ้นจริง
ดาบ 2 คมของโหมดเสียงลดความเหงา
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ นักวิจัยสังเกตเห็นภาวะที่ขัดแย้งกันเอง โดยโหมดเสียงของ ChatGPT แม้จะช่วยลดความรู้สึกเหงาของผู้ใช้งานได้
แต่ผู้ใช้ที่รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวเป็นทุนเดิมมีแนวโน้มใช้งานเครื่องมือนี้มากเกินไปจนส่งผลเสียและทำให้ความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวของพวกเขาทวีความรุนแรงยิ่งกว่าเดิม
ในการศึกษาทั้งสองชิ้น นักวิจัยได้ทดลองใช้ Advanced Voice Mode ของ ChatGPT โดยตั้งค่าให้บอทมีลักษณะการโต้ตอบสองแบบคือ
"neutral mode" ที่เน้นความสุภาพ เป็นทางการ และให้ข้อมูล กับ "engaging mode" ที่เน้นความเป็นมิตร การแสดงความรู้สึก และสร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์
ผลปรากฏว่าผู้ใช้งานรู้สึกเหงามากขึ้นเมื่อโต้ตอบกับ "neutral mode" เมื่อเทียบกับการโต้ตอบแบบ "engaging mode"
ผลกระทบทางอารมณ์กับเทคโนโลยีใหม่
นักวิจัยเองก็ยอมรับว่าการศึกษาผลกระทบทางอารมณ์ของผู้ใช้กับเทคโนโลยีที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่นั้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย เนื่องจากผู้คนมักไม่สามารถอธิบายความรู้สึกของตนเองต่อเทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมาคือ ผลกระทบของโซเชียลมีเดียต่อสุขภาพจิต ซึ่งนักวิจัยเองก็ใช้เวลานานหลายปีกว่าจะศึกษาจนเข้าใจอย่างแท้จริง
ผลการวิจัยนี้เป็นเครื่องเตือนใจสำคัญว่า แม้เทคโนโลยีอย่าง ChatGPT จะมีประโยชน์มากมาย แต่การใช้งานมากเกินไปและขาดการตระหนักถึงผลกระทบทางอารมณ์ที่อาจเกิดขึ้น ก็อาจนำไปสู่ปัญหาได้เช่นกัน
เช่นเดียวกับโซเชียลมีเดีย การใช้ AI อย่างสมดุลและควบคู่ไปกับการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในชีวิตจริงจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้เทคโนโลยีกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เรารู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้น
OpenAI เองก็ตระหนักถึงประเด็นนี้ และได้มีการพัฒนาโมเดลใหม่ๆ อย่าง GPT-4.5 ที่ถูกออกแบบมาให้มีความเข้าใจและตอบสนองต่ออารมณ์ของผู้ใช้งานได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อประเมินผลกระทบของโมเดลเหล่านี้ในระยะยาวต่อไป