"Aardvark Weather" AI พลิกโฉมพยากรณ์อากาศ แม่นยำถึงระดับท้องถิ่น
“Aardvark Weather” AI พลิกโฉมพยากรณ์อากาศสุดล้ำ แม่นยำ รวดเร็ว ชนะขาดทุกด้าน แม่นยำถึงระดับท้องถิ่น หวังช่วยชาติกำลังพัฒนารับมือภัยพิบัติ
ด้วยวิกฤต Climate change ที่ทวีความรุนแรง การพยากรณ์อากาศที่แม่นยำและทันท่วงทีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
ล่าสุด รายงานจาก The Guardian เผยว่า สถาบันวิจัยชั้นนำอย่างมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้เปิดตัว "Aardvark Weather" ระบบพยากรณ์อากาศที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI)
ซึ่งไม่เพียงแต่ให้ผลลัพธ์ที่รวดเร็วกว่าระบบปัจจุบันหลายเท่า แต่ยังใช้พลังประมวลผลน้อยลงอย่างน่าตกตะลึงถึงหลักพันเท่า
งานวิจัยดังกล่าวถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature ซึ่งเป็นผลงานความร่วมมือของสถาบันวิจัยชั้นนำอย่างมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ , สถาบันอลัน ทัวริง, Microsoft Research และศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางแห่งยุโรป (ECMWF) ที่อาจพลิกโฉมหน้าการพยากรณ์อากาศไปตลอดกาล
ปัจจุบัน การพยากรณ์อากาศเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ต้องอาศัยซูเปอร์คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงและทีมผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ข้อมูลจากทั่วโลก
ซึ่งแต่ละขั้นตอนอาจกินเวลานานหลายชั่วโมงกว่าจะประมวลผลออกมาเป็นรายงานพยากรณ์อากาศ
ทว่า "Aardvark Weather" ได้นำเสนอแนวทางที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง
โดยเป็นการฝึกฝน AI ด้วยข้อมูลดิบจากสถานีตรวจอากาศภาคพื้นดิน ดาวเทียม บอลลูนตรวจอากาศ เรือ และเครื่องบินนับล้านๆ ข้อมูล เพื่อให้ AI เรียนรู้และสามารถคาดการณ์สภาพอากาศในอนาคตได้อย่างแม่นยำ
ศาสตราจารย์ริชาร์ด เทอร์เนอร์
ศาสตราจารย์ริชาร์ด เทอร์เนอร์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อธิบายว่า
"ระบบของ Aardvark Weather มีศักยภาพในการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำได้ไกลถึง 8 วัน ซึ่งนานกว่าระบบปัจจุบันที่ทำได้แค่ 5 วัน"
"ทั้งยังสามารถให้ข้อมูลพยากรณ์ในระดับท้องถิ่นที่ละเอียดและแม่นยำยิ่งขึ้น นี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะนำเราไปสู่วิธีการพยากรณ์อากาศแบบใหม่"
หนึ่งในคุณสมบัติที่โดดเด่นของ "Aardvark Weather" คือประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงาน ซึ่งศาสตราจารย์เทอร์เนอร์กล่าวว่า Aardvark Weather ใช้พลังประมวลผลน้อยกว่าระบบเดิม "หลายพันเท่า"
และยังสามารถทำงานได้เร็วกว่า "หลายสิบเท่า" แค่นักวิจัยเพียงคนเดียวที่มีคอมพิวเตอร์ตก็สามารถสร้างรายงานพยากรณ์อากาศที่มีคุณภาพได้อย่างแม่นยำ
ดร. สก็อตต์ ฮอสคิง จากสถาบันอลัน ทัวริง มองว่า ความก้าวหน้านี้จะช่วย "เปิดโอกาสให้ทุกประเทศเข้าถึงเทคโนโลยีการพยากรณ์อากาศอันทรงพลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนาที่อาจมีข้อจำกัดด้านทรัพยากร"
นอกจากนี้ ยังเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานรับมือภัยพิบัติ และภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องอาศัยข้อมูลพยากรณ์อากาศที่แม่นยำในการวางแผนและดำเนินงาน
ทั้งนี้ "Aardvark" ได้รับแรงบันดาลใจและพัฒนาต่อยอดจากงานวิจัยชิ้นก่อนหน้านี้ของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอย่าง Huawei, Google และ Microsoft ที่ได้แสดงให้เห็นว่า
ขั้นตอนสำคัญในการพยากรณ์อากาศ อย่างการคำนวณการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศตามเวลา สามารถใช้ AI เข้ามาแทนที่เพื่อให้ผลลัพธ์ที่รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้นได้
ซึ่งปัจจุบัน ศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางแห่งยุโรป (ECMWF) ได้เริ่มนำแนวทางนี้ไปใช้งานจริงแล้ว
ที่น่าทึ่งคือ นักวิจัยพบว่า "Aardvark" สามารถให้ผลการพยากรณ์ที่แม่นยำในบางด้านได้ดีกว่าระบบ GFS ระดับชาติของสหรัฐอเมริกา
แม้จะใช้ข้อมูลนำเข้าเพียง 10% ของปริมาณที่ระบบปัจจุบันต้องการ และยังสามารถแข่งขันกับพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาสหรัฐฯ ได้ชนิดที่ว่าสูสี
ความสำเร็จของ "Aardvark Weather" ถือเป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญในวงการพยากรณ์อากาศ
ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้เราเข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพอันไร้ขีดจำกัดของเทคโนโลยี AI ในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนและยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษยชาติ