Microsoft ไทย ชี้ AI คือโอกาสทอง หากไม่ปรับตัว เสียโอกาสมหาศาล
ซีอีโอ Microsoft ไทย ชี้ AI คือโอกาสทองของผู้เปิดรับ เพราะศักยภาพไร้ขีดจำกัด พร้อมกระตุ้นทุกภาคส่วนเร่งใช้ ก่อนเสียเปรียบในเวทีโลก
คุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ออกมาฉายภาพอนาคตของ AI ภายในงานสัมมนา
"กรุงเทพธุรกิจ AI Revolution 2025 : A New Paradigm of New World Economic" ณ ห้องฉัตราบอลรูม โรงแรม สยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ วันที่ 27 มีนาคม 2568 ตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น.
พร้อมกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเร่งทำความเข้าใจและนำเทคโนโลยีนี้มาปรับใช้ เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสสำคัญในการเติบโตและแข่งขัน
คุณธนวัฒน์มองว่า ความสามารถของ AI ไม่ได้หยุดอยู่แค่การเข้าใจภาษา แต่ยังสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ของโลกในแทบทุกศาสตร์วิชาได้อย่างง่ายดาย ยกตัวอย่างเช่น
การแปลงหนังสือภาษาบาลีของท่านพุทธทาสให้เป็นภาษาไทยผ่านแชทบอท ทำให้ผู้สนใจสามารถเข้าถึงและศึกษาธรรมะได้อย่างสะดวกสบาย
นอกจากนี้ AI ยังมีศักยภาพในการสรุป วิเคราะห์ ให้คำแนะนำ เปรียบเสมือนมีผู้ช่วยระดับดร. ส่วนตัว ที่สามารถช่วยกลั่นกรองไอเดีย ทำความเข้าใจเนื้อหา จดจำบริบทการสนทนา และวางแผนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
AI เปลี่ยนโฉมทุกอุตสาหกรรม โอกาสทองของการศึกษาไทย
คุณธนวัฒน์กล่าวว่า AI ไม่ได้จำกัดอยู่แค่อุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง แต่ได้เข้ามามีบทบาทและสร้างประโยชน์ให้กับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร ค้าปลีก โทรคมนาคม หรือสื่อ
แต่สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือโอกาสของ AI ในการยกระดับการศึกษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงข้อจำกัดด้านจำนวนครูต่อจำนวนนักเรียนที่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำสูง
การมี AI เป็นผู้ช่วยส่วนตัวของนักเรียน (Co-pilot) จะช่วยให้พวกเขาสามารถเข้าถึงองค์ความรู้จากทั่วโลกในภาษาที่ตนเองถนัด
รวมถึงเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับครูในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกเหนือจากประโยชน์ในด้านธุรกิจและการศึกษาแล้ว คุณธนวัฒน์ยังได้ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของ AI ในการแก้ไขปัญหาที่ท้าทายระดับโลก เช่น
การจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ การวิเคราะห์โมเลกุลในขยะเพื่อเร่งการสลายตัว รวมถึงการส่งเสริม "Soft Power" ของประเทศไทยผ่านการใช้ AI และ Digital Twin
ในการนำเสนอวัฒนธรรมและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ไปสู่สายตาชาวโลกได้อย่างน่าสนใจ
คุณธนวัฒน์ ยังได้ให้ข้อคิดว่า ศักยภาพของ AI นั้นไม่มีที่สิ้นสุด โดยมีเพียงจินตนาการของเราเท่านั้นที่เป็นข้อจำกัด
การเพิกเฉยต่อการนำ AI มาประยุกต์ใช้ ไม่ว่าจะเป็นในระดับบุคคล องค์กร หรือประเทศ จะส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างมากเมื่อเทียบกับผู้ที่เปิดรับเทคโนโลยีนี้อย่างเต็มที่
ซึ่งอาจทำให้เสียเปรียบในการแข่งขันระยะยาว เหมือนกับการพลาดขบวนรถไฟ