อีกระดับของ AI สู่การช่วยถอดรหัสในเอกสารประวัติศาสตร์
AI ถอดรหัสจดหมายโบราณ! นักวิจัยพัฒนา AI วิเคราะห์เอกสารประวัติศาสตร์ ไขปริศนาเนื้อหาลับที่เคยเป็นปริศนา เติมเต็มช่องว่างแห่งอดีต!
ปัจจุบันเมื่อพูดถึงการเข้ารหัส หลายท่านย่อมนึกถึงการเข้ารหัสด้วยระบบคอมพิวเตอร์ สำหรับรักษาความปลอดภัยและข้อมูลส่วนตัวทางไซเบอร์ซึ่งยิ่งเพิ่มความซับซ้อนจากระบบ AI แต่อันที่จริงข้อมูลเข้ารหัสไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่ถูกใช้งานมาตั้งแต่ก่อนยุคสมัยจะมีคอมพิวเตอร์เสียอีก
วันนี้เราจึงมาพูดถึงการนำ AI เข้ามามีส่วนช่วยไขรหัสลับบนหน้าประวัติศาสตร์
AI ถอดรหัสลับในจดหมายประวัติศาสตร์
ผลงานนี้เป็นของนักวิจัยจาก University of Oslo กับการพัฒนา AI สำหรับไขรหัสลับเนื้อหาบนเอกสารประวัติศาสตร์ โดยอาศัยขีดความสามารถในการใช้ภาษาของ AI ในการแกะรายละเอียด เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจเอกสารจำนวนมากที่ยังคงเป็นปริศนาจนปัจจุบัน
แนวคิดนี้เกิดจากการต่อยอดของทีมวิจัยที่ประสบความสำเร็จในการถอดรหัสจดหมายของ Mary Tudor ราชินีแห่งสก็อตแลนด์ ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการเมืองอังกฤษในศวตวรรษที่ 16 ช่วยให้พวกเขารับรู้ถึงเนื้อความในจดหมายที่สื่อสารกับโลกภายนอก และความพยายามในการเคลื่อนไหวแม้จะถูกคุมขังอยู่ในคุก
ขั้นตอนการใช้งานอุปกรณ์นี้เริ่มต้นจากการป้อนข้อมูลให้เป็นในรูปแบบออนไลน์ จากนั้นนำข้อมูลที่ได้เข้าไปประมวลผลเพื่อถอดเนื้อความภายในเอกสาร เมื่อทำการตรวจสอบความเรียบร้อยเสร็จสิ้น จึงเริ่มใช้ AI ในการจับคู่ข้อความแต่ละภาษา เพื่อตรวจสอบว่าเนื้อความที่ต้องการแกะสอดคล้องกับภาษาใด
ภายหลังการตรวจทานและแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยจากผู้เชี่ยวชาญพบว่า AI สามารถประมวลผลเอกสารดังกล่าวออกมาได้สำเร็จ โดยสามารถถอดเนื้อหาจดหมายของจักรพดิแม็กซิมิเลียนที่ 2 แห่งโรมันตะวันออก ที่มีเนื้อความร้องขอการสนับสนุนในการขึ้นสู่บัลลังก์ พร้อมข่มขู่ว่าอาจใช้กำลังทหารเข้ากดดันหากพระองค์ไม่ได้รับเลือก
นับเป็นความสำเร็จอีกขั้นที่อาจช่วยให้เข้าใจและเติมเต็มช่องว่างเนื้อหาทางประวัติศาสตร์อีกมาก
แตกต่างจาก AI ทั่วไป ภาษาไม่อาจแยกขาดจากคน
สำหรับผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์หลายท่านอาจรู้สึก AI นี้ไม่ใช่ของแปลก ด้วยเดิมที Enigma คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกก็ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อถอดรหัสลับของนาซีในสงครามโลกครั้งที่ 2 การพัฒนาเครื่องถอดรหัสยุคปัจจุบันจึงอาจไม่ใช่เรื่องน่าตื่นตา
อย่างไรก็ตามการถอดรหัสสำหรับใช้ในการรบ กับการถอดรหัสเอกสารประวัติศาสตร์มีข้อแตกต่างสำคัญคือ ความกว้างของเนื้อหา การถอดรหัสในสงครามเนื้อหาใจความสำคัญอยู่ในขอบเขตการคาดเดา จึงสามารถนำความรู้ภาษา ความรู้ทางการทหาร และความรู้ทางคณิตศาสตร์มารวมกันสร้างเป็นเครื่องถอดรหัสได้สำเร็จ
ในขณะที่เอกสารประวัติศาสตร์มีรายละเอียดและความซับซ้อนแตกต่างกัน ตั้งแต่รูปแบบรหัส ภาษาที่ใช้งาน ลายมือที่เขียน ความสมบูรณ์ของเอกสาร ซ้ำร้ายคือความเป็นไปได้ของเนื้อหาที่มากมาย อาจเป็นได้ทั้งจดหมายลับทางการเมืองไปจนจดหมายรักหวานซึ้ง ทำให้การพัฒนาเครื่องมือตีความทำได้ยากกว่า
อีกหนึ่งข้อจำกัดของ AI สำหรับใช้ในการไขรหัสเอกสารประวัติศาสตร์คือ ข้อมูล โมเดล AI ในปัจจุบันอาศัยข้อมูลมหาศาลในการฝึกอบรม แต่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไม่ได้มีมากนัก บางครั้งทั้งหมดที่เก็บรักษาไว้มีเพียงจดหมายเนื้อหาครึ่งหน้า การพัฒนาจึงทำได้ยาก
นี่เป็นเหตุผลให้มนุษย์เข้ามาเป็นฟันเฟืองสำคัญของการทำงาน ทั้งในขั้นตอนการตรวจสอบเบื้องต้นและตรวจทานเนื้อหาขั้นสุดท้าย ทั้งหมดจะถูกส่งตรวจและประมวลผลผ่านนักภาษาศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ตัวจริง ในขณะที่ AI จะรับหน้าที่จับคู่และถอดความซึ่งใช้เวลานาน เพื่อตรวจสอบการทำงานและข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น
นั่นทำให้สาขาประวัติศาสตร์และการถอดรหัส มนุษย์จะยังคงเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการทำงานเช่นเดิม
ปัจจุบัน AI ที่พวกเขาพัฒนาได้รับการออกแบบให้ถอดรหัสเนื้อหาบนจดหมายหรือโปสการ์ดเป็นหลัก แต่ในอนาคตพวกเขาคาดหวังว่าจะสามารถขยายขอบเขตไปสู่เนื้อหาที่ใช้สัญลักษณ์ ไปจนภาษาโบราณแบบอักษร Linear B อักษรกรีกเก่าแก่ที่เคยใช้งานเมื่อ 1,500 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งไม่เหลือผู้ใช้งานในปัจจุบัน เพื่อเข้าใจเนื้อหาและบริบทในช่วงเวลาเหล่านั้น
ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์ต่อไป
ที่มา
https://techxplore.com/news/2025-02-ai-decoding-secret-letters.html