posttoday

Brighton นำร่อง ใช้ AI วัดภาวะผู้นำนักเตะ เสริมทัพกลยุทธ์จัดทีม

20 เมษายน 2568

ยุคใหม่ลูกหนัง! Brighton ใช้ AI ส่องพฤติกรรมนักเตะในสนาม วิเคราะจิตวิทยาเชิงลึก เสริมทัพกลยุทธ์จัดทีม เฟ้นหาผู้เล่นแม่นยำยิ่งขึ้น

"เล่นเหมือนหมดใจ" หรือ "ดูไม่ค่อยมุ่งมั่น" – วลีเหล่านี้เป็นที่คุ้นหูจากกูรูลูกหนังหลังเกม แต่คำถามคือ เราจะประเมินสภาพจิตใจนักเตะมืออาชีพจากเพียงภาษากายในสนามได้อย่างแม่นยำจริงหรือ?

 

สำนักข่าว The Guardian รายงานว่า ในโลกฟุตบอลที่ข้อมูลทางกายภาพและสถิติถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้น การค้นหาตัวชี้วัดเชิงลึกด้านจิตใจ เช่น การควบคุมอารมณ์ หรือภาวะผู้นำ ยังคงเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ 

 

แม้แต่ Thomas Tuchel อดีตกุนซือชื่อดัง ยังเคยแนะนำให้นักเตะอังกฤษสื่อสารกันมากขึ้น หลังสังเกตปฏิสัมพันธ์ในเกมรอบชิงชนะเลิศยูโร 2024

 

แต่การนับจำนวนครั้งที่ผู้เล่นพูดคุยหรือออกท่าทาง เป็นเพียงผิวเผินของสงครามจิตวิทยาอันซับซ้อนที่ซ่อนอยู่เบื้องลึกภายในใจ

 

ทว่าวันนี้ สโมสรชั้นนำอย่าง Brighton ในพรีเมียร์ลีก กำลังใช้เทคนิคการวิเคราะห์รูปแบบใหม่ด้วย AI เพื่อเติมเต็มช่องว่างนี้ ทั้งในการจัดตัวผู้เล่นและการเฟ้นหาแข้งหน้าใหม่

 

เบื้องหลังแนวคิดการวิเคราะห์จิตวิทยาเชิงลึกนี้คือ Yaw Amankwah อดีตกองหลังผู้ผันตัวสู่วงการวิเคราะห์ โดยเขามองว่า 

 

"เมื่อคุณเลิกจ้องแต่ลูกบอล และหันมาสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว นั่นคือขุมทรัพย์ข้อมูลมหาศาล" 

 

Yaw Amankwah เชื่อว่า การมองเกมโดยเน้นคุณสมบัติทางจิตใจ โดยพักเรื่องแท็กติกไว้ก่อน จะเปิดมิติใหม่ๆ ที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยมองเห็น

 

 "มันคือสัญญาณเล็กๆ ที่ไม่ใช่คำพูด ซึ่งบ่งบอกชัดเจนว่าผู้เล่นคนนั้นมั่นใจสุดๆ หงุดหงิดสุดๆ หรืออยากเก็บตัวอยู่คนเดียว"

Brighton นำร่อง ใช้ AI วัดภาวะผู้นำนักเตะ เสริมทัพกลยุทธ์จัดทีม

เขายกตัวอย่างช็อตง่ายๆ เมื่อผู้เล่นยิงไกลออกไปแต่วืดเป้าจนน่าผิดหวัง อีก 45 วินาทีต่อมา เพื่อนร่วมทีมเดินผ่านแล้วตบหลังเบาๆ ให้กำลังใจ

 

แฟนบอลหรือสื่ออาจมองข้ามจุดเล็กๆแบบนี้ไป แต่สำหรับอดีตนักเตะอย่าง Amankwah นี่คือภาพสะท้อนภาวะผู้นำเรียบง่ายที่น้อยคนจะสังเกตเห็น 

 

"ผมเข้าใจสัญญาณและพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่จำเป็นต่อการเล่นฟุตบอลให้มีประสิทธิภาพบนสนามจริงๆ"

 

ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา Amankwah ร่วมกับ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา Geir Jordet วิเคราะห์ฟุตเทจการแข่งขันนับพันชั่วโมงทั่วโลก

 

รวมถึงทุกเกมในพรีเมียร์ลีกและวีเมนส์ ซูเปอร์ลีก จนได้ชุดข้อมูลการสังเกตการณ์เฉพาะตัวกว่า 100,000 รายการ ผ่านบริษัท Inside Out Analytics

 

ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้พวกเขาสามารถจัดอันดับผู้เล่นตามลักษณะพฤติกรรมต่างๆ ได้ โดยเขาเรียกสิ่งนี้ว่า "การเปิดโลกใหม่ให้วงการฟุตบอลอย่างแท้จริง" 

 

โดยข้อมูลที่ได้มาเปรียบเสมือน "เกณฑ์มาตรฐาน" ที่สโมสรใช้อ้างอิงได้ เพราะก่อนหน้านี้ แม้จะนับจำนวนครั้งของพฤติกรรมได้ แต่การตีความความหมายยังคงเป็นเรื่องยาก

 

"ตอนนี้เราสามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่า สำหรับพฤติกรรมแบบนี้ ในสถานการณ์แบบนี้ ผู้เล่นคนนี้ เมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ในตำแหน่งเดียวกันทั่วทั้งพรีเมียร์ลีก เขาอยู่ในกลุ่มไหน"  Geir Jordet ให้ความเห็น

 

Brighton นำร่อง ใช้ AI วัดภาวะผู้นำนักเตะ เสริมทัพกลยุทธ์จัดทีม

หนึ่งในสโมสรระดับท็อปที่เคยใช้แพลตฟอร์มนี้คือ Bayern Munich ยุค Julian Nagelsmann โดย Max Pelka อดีตนักจิตวิทยา Bayern  Munich (ปัจจุบันอยู่ Brighton) เผยว่า 

 

"ในสโมสร ทุกแผนกมีตัวเลขสนับสนุนการตัดสินใจ ยกเว้นแผนกจิตวิทยา" แม้จะมีเครื่องมือประเมินทางจิตวิทยาอยู่บ้าง แต่ก็ไม่สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในสนามจริง

 

Pelka  ทำงานกับ Jordet และ Amankwah วิเคราะห์เกมบาเยิร์น 25 นัดช่วงครึ่งหลังฤดูกาล 2022-23

หลังจบแต่ละเกม Pelka จะสรุปผลการสังเกตเชิงลึกจากทีมวิเคราะห์ของ Amankwah  (เช่น ท่าทาง การขยับศีรษะ ภาษามือ) ให้เหลือเพียงสรุปประสิทธิภาพทางจิตวิทยา 1 หน้า

 

แล้วนำเสนอต่อโค้ช ข้อมูลนี้ถูกใช้ประกอบการตัดสินใจจัดตัวผู้เล่นของ  Julian Nagelsmann และทีมงาน

 

"มันคืออีกปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจเรื่องการจัดตัวผู้เล่นในทีม โค้ชสามารถดูได้ว่าต้องการผู้เล่นที่มีภาวะผู้นำในแนวรับ หรือต้องการบุคลิกแบบอื่น"  Pelka อธิบาย

 

นอกจากนี้ ผู้เล่นเองก็สามารถเข้าถึงการวิเคราะห์สิ่งที่ Jordet เรียกว่า "บุคลิกการเล่นในสนาม" ของตนเองได้

 

Pelka เล่าว่า "มีกองหลังคนหนึ่งสนใจมาก เขาอยากรู้ว่าจะใช้ภาษากายนำทีมและชี้นำเพื่อนร่วมทีมได้อย่างไร"

 

"ซึ่งการพัฒนาคุณสมบัติด้านนี้อาจไม่ง่าย แต่การมีข้อมูลพฤติกรรมที่เป็นรูปธรรมในสนาม ช่วยให้เราทำงานเพื่อแก้ไขช่องโหว่นี้ได้ง่ายขึ้นอย่างมหาศาล"

 

ปัจจุบัน Pelka กำลังนำเทคนิคเหล่านี้ไปใช้กับผู้เล่น Brighton โดย Fabian Hürzeler  โค้ชคนปัจจุบัน ก็ได้รับสรุปข้อมูลทางจิตวิทยาที่สำคัญของทีมเช่นกัน

 

ก้าวต่อไปที่สำคัญคือการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้น แทนที่การวิเคราะห์ด้วยมนุษย์แบบเดิมที่ใช้เวลามหาศาล 

 

"อีกไม่นาน ข้อจำกัดในการวิเคราะห์จำนวนผู้เล่นในทีมพร้อมกันจะลดลงมาก เราสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกแก่สโมสรเพื่อตัดสินใจเรื่องนักเตะใหม่ได้" Jordet กล่าว

 

คงเรียกได้ว่า การผสมผสานเทคโนโลยี AI เข้ากับการวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์ในสนามกำลังเปิดมิติใหม่ที่น่าจับตาในวงการฟุตบอลสมัยใหม่

 

และอาจเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพที่ซ่อนอยู่ของนักเตะในอนาคตอย่างแท้จริง