จากจ่าเฉยสู่ Robocop เมื่อไทยเริ่มนำหุ่นยนต์ตำรวจมาใช้งาน
AI Police Cyborg 1.0 หุ่นยนต์ตำรวจตัวแรกของไทย เสริมกำลังรักษาความปลอดภัยงานสงกรานต์ เปิดศักราชใหม่ของเทคโนโลยีตำรวจสมัยใหม่
ที่ผ่านมาเราอาจเห็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีหุ่นยนต์จากต่างประเทศมาไม่น้อย ทั้งจากประเทศมหาอำนาจเทคโนโลยีอย่างสหรัฐฯ, การพัฒนาหุ่นยนต์รูปร่างมนุษย์ของจีน ไปจนการพัฒนาหุ่นยนต์สนับสนุนใช้สอยในชีวิตประจำวันของญี่ปุ่น ที่ล้วนน่าตื่นตาและสร้างความประทับใจแก่หลายคน
แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อไทยเริ่มนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ดังกล่าวมาใช้ในงานตำรวจ
AI Police Cyborg 1.0 หุ่นยนต์ตำรวจตัวแรกของไทย
ผลงานนี้เป็นของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 และตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม กับการเปิดตัว AI Police Cyborg 1.0 หรือ พ.ต.อ.นครปฐม ปลอดภัย เป็นหุ่นยนต์ตำรวจขับเคลื่อนด้วย AI ที่คอยช่วยดูแลความปลอดภัยภายในงานเทศกาลสงกรานต์ ในพื้นที่ถนนต้นสน จังหวัดนครปฐม
ตัวหุ่นได้รับการติดตั้งกล้อง AI อัจฉริยะรอบตัวเพื่อเก็บภาพสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมเชื่อมต่อเข้ากับกล้องวงจรปิดภายในพื้นที่ และภาพถ่ายทางอากาศจากโดรนในมุมสูงรวบรวมไว้ในที่เดียว จากนั้นจึงนำระบบ AI ภายในตัวมาวิเคราะห์ประมวลผลด้วยระบบ Video Analytics จากระบบ AI
สิ่งนี้ทำให้หุ่นยนต์สามารถตรวจจับใบหน้าค้นหาบุคคลตามหมายจับหรือขึ้นบัญชีดำ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเตรียมรับมือและเฝ้าระวัง, ตามรอยคนร้ายหรือผู้ต้องสงสัยได้แบบเรียลไทม์, Advanced search ระบบค้นหาบุคลอัจฉริยะ, ตรวจจับอาวุธหรือสิ่งเทียมอาวุธ ไปจนแจ้งเตือนเหตุใช้ความรุนแรงภายในพื้นที่ได้แบบเรียลไทม์
ข้อมูลที่เชื่อมต่อทั้งหมดหลังผ่านการนำมาประมวลผลและตรวจสอบเสร็จสิ้น เมื่อแน่ใจว่าเกิดเหตุร้ายแรงข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งไปแจ้งแก่ ศูนย์ควบคุมและสั่งการสำหรับการบริหารความปลอดภัยของงาน พร้อมแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ให้เตรียมพร้อมรับมือและเข้าคลี่คลายสถานการณ์ต่อไป
แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลมากนักแต่นี่ก็ถือเป็นอีกก้าวใหม่ของตำรวจไทยที่พยายามมปรับตัวหาเทคโนโลยี
การใช้งานหุ่นยนต์ตำรวจจากทั่วทุกมุมโลก
สำหรับหลายท่านการใช้งานหุ่นยนต์ตำรวจ หรือ Robocop อาจฟังดูเป็นเรื่องตลกหรือเกินความจำเป็น ข้อมูลด้านความแม่นยำและขีดความสามารถในการใช้จริงก็ยังไม่เปิดเผยจนชวนให้ตั้งคำถาม กระนั้นการใช้งานหุ่นยนต์ตำรวจเข้ามาทดแทนกำลังคนไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากไม่ใช่แค่ไทยทั่วโลกต่างมุ่งหน้ามายังทิศทางนี้
ประเทศที่น่าหยิบยกมาพูดถึงเป็นที่แรกคือ จีน กับการนำ AnBot หุ่นยนต์ที่ใช้ตรวจตราประจำสถานีรถไฟเมืองเจิ้งโจว ที่สามารถตรวจจับใบหน้าติดตามผู้ต้องสงสัย ตรวจจับไฟไหม้ หรือวัดคุณภาพอากาศ, RT-G (Rotun) หุ่นยนต์ทรงกลมที่คิดตั้งกล้อง AI ในการตรวจสอบสถานการณ์ พร้อมอุปกรณ์ยับยั้งเหตุรุนแรงอย่างตาข่ายและแก๊สน้ำตา ไปจน PM01 หุ่นยนต์รูปร่างมนุษย์ที่เริ่มมีการใช้เดินตรวจตราคู่เจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองเซินเจิ้น
ทางด้านสหรัฐฯเองก็ไม่น้อยหน้า ด้วย Knightscope K5 หุ่นยนต์ทรงกระบอกรับหน้าที่เฝ้าระวังและรายงานกิจกรรมน่าสงสัยในพื้นที่สาธารณะ สามารถนำไปใช้งานทั้งในอาคารหรือพื้นที่กลางแจ้ง ในช่วงทดลองการใช้งานพบว่า หุ่นยนต์ตัวนี้ช่วยลดการก่ออาชญากรรมภายในพื้นที่
ประเทศอื่นเองก็เริ่มสนใจและปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีหุ่นยนต์มากขึ้น เช่น สิงค์โปร์ที่เริ่มนำหุ่นยนต์ Xaver มาเคลื่อนที่ตรวจตรารายงานพฤติกรรมน่าสงสัยแก่เจ้าหน้าที่ และสามารให้ความช่วยเหลือนำทางนักท่องเที่ยวได้ เช่นเดียวกับตูนิเซียกับหุ่นยนต์ PGuard ที่ตำรวจนำมาใช้งานระงับการเดินทางในช่วงโควิด
ประเทศที่แสดงความสนใจและมุ่งนำเทคโนโลยีนี้มาใช้อย่างจริงจังคือ สหรัฐอาหรับเอมิเตรส์ พวกเขาไม่เพียงนำหุ่นยนต์ตำรวจมาใช้งานตั้งแต่ปี 2017 เท่านั้น แต่ยังมุ่งเสริมการใช้งานหุ่นยนต์ภายในกรมตำรวจ และเตรียมจะผลักดันให้มีหุ่นยนต์มีจำนวนกว่า 25% ของกำลังตำรวจของประเทศภายในปี 2030
แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า หุ่นยนต์ตำรวจกำลังเข้ามามีบทบทและอาจเป็นกำลังสำคัญของทั่วโลก
จุดหมายสำคัญของการนำหุ่นยนต์ตำรวจมาใช้งานอยู่ที่การเพิ่มความสะดวก ปลอดภัย และเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าระงับเหตุด่วนเหตุร้าย ช่วยลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่จากภารกิจภาคสนาม อย่างไรก็ตามข้อกังวลด้านความเป็นส่วนตัวและจริยธรรมก็เป็นสิ่งที่ถูกนำมาพูดถึงให้พิจารณาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับประเทศไทยเราอาจไม่ต้องกังวลในจุดนั้นเพราะนี่เป็นเพียงก้าวแรก แต่ก็ถือเป็นทิศทางพัฒนาการที่น่าสนใจ
ที่มา
https://www.siamphone.com/contents/news-50975.html
https://www.voathai.com/a/dubai-robot-cop-tk/3912687.html
https://www.asmag.com/showpost/30825.aspx
https://interestingengineering.com/innovation/china-humanoid-robot-cops