เปิดตัว Medical AI Platform พร้อมยกระดับนวัตกรรมสุขภาพไทย
อว. จับมือพันธมิตรพัฒนาระบบ AI ทางการแพทย์ครบวงจร ตั้งแต่จัดการข้อมูล วิจัยโมเดล ไปจนถึงบริการใช้งานจริง ชูจุดเด่นลดพึ่งพาต่างชาติ ตอบโจทย์บริบทไทย
21 เมษายน 2568 – ณ โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์ พอยต์ ลุมพินี กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เดินหน้าผลักดันการใช้ AI ในระบบสาธารณสุขของไทย
ภายในงานมีการประกาศความร่วมมือระหว่าง อว., กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล และเครือข่าย Medical AI Consortium พร้อมเปิดตัว “แพลตฟอร์มข้อมูลกลางทางการแพทย์ (Medical AI Data Platform)” อย่างเป็นทางการ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล ที่เอื้อต่อการพัฒนา AI ทางการแพทย์ของประเทศ
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวถึงนโยบาย "อว. for AI" ว่า กระทรวงให้ความสำคัญกับการใช้ AI เพื่อยกระดับบริการสุขภาพ โดยเฉพาะด้านการวินิจฉัยที่แม่นยำ รวดเร็ว และลดความเหลื่อมล้ำ แพลตฟอร์มใหม่นี้ไม่ใช่แค่แหล่งรวมข้อมูลภาพทางการแพทย์ แต่ยังมีเครื่องมือที่ช่วยให้นักวิจัยและแพทย์สามารถพัฒนาโมเดล AI ได้จริง โดยสนับสนุนจากหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ เช่น บพค., สกสว., เนคเทค และ สวทช.
แพลตฟอร์ม Medical AI Data Platform ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่:
1.ระบบจัดการข้อมูล (Data Management) รวบรวม จัดเก็บ และควบคุมสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลภาพทางการแพทย์ พร้อมซอฟต์แวร์ RadiiView ที่ช่วยแพทย์ระบุรายละเอียดในภาพได้แม่นยำ
2.ระบบพัฒนาโมเดล AI (AI Modeling) ใช้แพลตฟอร์ม NomadML ช่วยให้นักวิจัยสร้างโมเดล AI ได้ง่าย โดยไม่ต้องเขียนโค้ด และเชื่อมต่อกับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ LANTA ของ สวทช.
3.ระบบให้บริการ AI (AI Service Deployment) สำหรับนำโมเดล AI ที่ผ่านการตรวจสอบแล้วไปใช้งานจริงผ่าน National AI Service Platform
ในขณะนี้ แพลตฟอร์มสามารถรวบรวมภาพทางการแพทย์แล้วกว่า 2.2 ล้านภาพ ครอบคลุมโรคสำคัญ 8 กลุ่ม เช่น โรคทรวงอก มะเร็งเต้านม เบาหวานขึ้นจอประสาทตา และหลอดเลือดสมอง พร้อมต้นแบบโมเดล AI แล้ว 2 บริการ ที่ช่วยแบ่งเบาภาระงานแพทย์และเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัย
Medical AI Consortium ปัจจุบันมีสมาชิก 6 สถาบันการแพทย์ชั้นนำของประเทศ เช่น คณะแพทยศาสตร์ ม.มหิดล, ม.จุฬาฯ, ม.สงขลานครินทร์, ม.เชียงใหม่ และ ม.นวมินทราธิราช ซึ่งทุกฝ่ายเชื่อมั่นว่าการร่วมมือครั้งนี้จะเร่งสร้างนวัตกรรม AI ทางการแพทย์ที่ใช้ได้จริง
ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเสริมว่า AI ที่พัฒนาในไทย เช่น RadiiView และ NomadML จะช่วยให้ประเทศลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติ และสร้างโมเดลที่เหมาะกับบริบทไทย
ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดี ม.มหิดล ยกตัวอย่างความร่วมมือกับบริษัทสตาร์ตอัป ในการใช้ AI ช่วยวิเคราะห์ภาพเอกซเรย์ทรวงอก ซึ่งสามารถใช้งานได้จริงในหลายโรงพยาบาล และได้รับการรับรองจาก อย. เป็นที่เรียบร้อย
นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า AI ช่วยเพิ่มความไวในการคัดกรองโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตาได้ถึง 97% เมื่อเทียบกับ 74% จากการประเมินโดยบุคลากรทั่วไป และมีความแม่นยำใกล้เคียงกัน
Medical AI Consortium จึงมุ่งผลักดันแนวคิด "ร่วมแชร์ เชื่อม ใช้" เพื่อสร้างระบบข้อมูลร่วมที่ปลอดภัย มีธรรมาภิบาล และเปิดโอกาสให้นักวิจัย สถาบันการศึกษา และโรงพยาบาลทั่วประเทศเข้าร่วมพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ไทยได้จริง