ส่องสัมพันธ์ "ทรัมป์ - ผู้นำ Big Tech" จากมิตรภาพสู่กลเกมธุรกิจ
ส่องความสัมพันธ์ “ทรัมป์ - ผู้นำยักษ์ใหญ่ไอที” จากมิตรภาพสู่แรงกดดันทางธุรกิจ เซ่นปมภาษีตอบโต้ หุ้นเทคโนโลยีร่วงระนาว
ก่อนที่ประธานาธิบดี Donald Trump จะเข้ารับตำแหน่งเป็นสมัยที่สอง บรรดาผู้นำบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของสหรัฐฯ จำนวนไม่น้อยได้พยายามสร้างความสัมพันธ์อันดีกับท่านผู้นำ
ทั้งการเข้าพบแบบส่วนตัวและการได้รับเกียรติเข้าร่วมในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์กลับพลิกผันในเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังการเข้ารับตำแหน่ง ผู้นำสายหลายรายต้องเผชิญหน้ากับผลกระทบจากนโยบายที่สร้างความผันผวนและข้อจำกัดต่างๆ
ทั้งเรื่องกำแพงภาษี ข้อจำกัดด้านการเข้าเมือง และการตัดงบประมาณ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการดำเนินงานและผลประกอบการของคนสายไอที
แม้ว่า Trump จะประกาศยกเว้นภาษีนำเข้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายรายการสำหรับสินค้าจากจีน แต่กำแพงภาษีอื่นๆ ที่ยังคงอยู่ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เหล่าซีอีโอในสหรัฐฯ ชะลอการตัดสินใจใช้จ่ายและการจ้างงาน
อีกทั้งยังอาจเพิ่มต้นทุนในการสร้างศูนย์ข้อมูลสำหรับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำคัญในยุคปัจจุบัน
รายงานจาก Business Insider เผยว่า นับตั้งแต่ Trump เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง ราคาหุ้นของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่หลายเจ้าได้ปรับตัวลดลง เช่นเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ S&P 500 และดัชนี Nasdaq Composite ซึ่งเป็นดัชนีสำคัญของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี
ขณะที่ Darrell West นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Center for Technology Innovation สถาบัน Brookings Institution แสดงความเห็นว่า ผู้นำเทคโนโลยีหลายราย "อาจรู้สึกผิดหวัง"
"ในช่วงแรก รัฐบาล Trump มีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างราบรื่นกับผู้นำเทคโนโลยี แต่หลังจากนั้นก็พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ"
เขาประเมินว่าในอนาคต ผู้นำเทคโนโลยีจะยังคงพยายามรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับTrump ต่อไป แม้ว่าการสนิทชิดเชื้ออาจไม่การันตีผลลัพธ์ทางธุรกิจให้เป็นไปตามที่ต้องการก็ตาม
“การที่ Trump พบปะกับซีอีโอสายเทค ไม่ได้หมายความว่าท่านประธานาธิบดีจะทำตามคำแนะนำที่ได้รับเสมอไป”
บทความชิ้นนี้ได้รวบรวมสถานการณ์ความสัมพันธ์ในปัจจุบันของผู้นำเทคโนโลยีระดับโลกและผลกระทบที่พวกเขาได้รับจากนโยบายของประธานาธิบดี Trump
Elon Musk: Tesla, SpaceX, xAI, Neuralink
Elon Musk มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเงินทุนให้กับ Trump และพรรครีพับลิกัน โดยใช้เงินไปไม่น้อยกว่า 277 ล้านดอลลาร์ในช่วงการเลือกตั้ง Elon Musk ยังมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจด้านนโยบายและบุคลากร ที่มีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับทำเนียบขาว
มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกรายนี้ยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับTrumpในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทว่าบทบาทของเขาในแวดวงการเมืองดูเหมือนจะเริ่มลดลง
ประกอบกับผลสำรวจความคิดเห็นสาธารณะบ่งชี้ว่าชาวอเมริกันเริ่มไม่เห็นด้วยกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของ Elon Musk และบางส่วนมองว่าเขาเป็นบุคคลที่เป็นภาระทางการเมือง
ในการแถลงผลประกอบการของ Tesla ในเดือนเมษายน Musk กล่าวว่าเขาจะลดบทบาทด้านการเมืองลงและจะทุ่มเทเวลาให้กับ Tesla มากขึ้น เนื่องจากยอดขายลดลงอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม Elon Musk เผยว่า เมื่อเทียบกับบริษัทรถยนต์เจ้าอื่นๆ Tesla ถือว่าได้รับผลกระทบจากภาษีตอบโต้น้อยมาก ขณะเดียวกัน SpaceX ก็กำลังจะได้รับประโยชน์จากสัญญาใหม่ๆ ภายใต้รัฐบาล Trump
ทั้งนี้ บริษัทส่วนใหญ่ของ Elon Musk (นอกเหนือจาก Tesla) เป็นบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์
Mark Zuckerberg: Meta
ความสัมพันธ์ระหว่าง Mark Zuckerberg และ Trump ในอดีตถือว่ามีสีสันอยู่ไม่น้อย แต่ผู้ก่อตั้ง Facebook รายนี้พยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับท่านผู้นำในช่วงที่ผ่านมา
ถึงขั้นออกปากเรียก Trump ว่า "สุดยอด" ก่อนการเลือกตั้ง และตัดสินใจยกเลิกการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact-checking) บนแพลตฟอร์มของ Meta
นอกจากนี้ Meta ยังได้บริจาคเงิน 1 ล้านดอลลาร์ให้กับคณะกรรมการจัดงานพิธีสาบานตนของ Trump เช่นกัน
ปัจจุบัน Meta กำลังเผชิญกับการพิจารณาคดีสำคัญที่คณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลาง (FTC) ยื่นฟ้อง
โดยรัฐบาลพยายามจะบังคับให้ Meta ขาย Instagram และ WhatsApp โดยอ้างว่าบริษัทดำเนินธุรกิจในลักษณะผูกขาดตลาดซึ่งผิดกฎหมาย
ก่อนการพิจารณาคดี Mark Zuckerberg เคยพยายามให้ศาลยกฟ้องคดีดังกล่าว ขณะที่ FTC เคยเรียกร้องเงิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อยุติคดี แต่ Zuckerberg เสนอเพียง 1 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น ตามรายงานของ The Wall Street Journal
นโยบายกำแพงภาษียังอาจส่งผลกระทบต่อ Meta เช่นกัน โดยเฉพาะจากผู้ลงโฆษณาชาวจีนที่ใช้แพลตฟอร์มของบริษัท ซึ่ง The Journal รายงานว่า Meta อาจสูญเสียรายได้จากการโฆษณาถึง 7 พันล้านดอลลาร์
Sundar Pichai: Alphabet
Sundar Pichai ซีอีโอของ Alphabet ได้เดินทางเข้าพบ Trump หลังการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับ Google ที่บริจาคเงิน 1 ล้านดอลลาร์ให้กับกองทุนจัดงานพิธีสาบานตน
บริษัท Google ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Alphabet ก็กำลังเผชิญคดีความเช่นกัน โดยในเดือนเมษายน กระทรวงยุติธรรมได้เริ่มการพิจารณาคดีเพื่อกำหนดบทลงโทษสำหรับ Google หลังศาลตัดสินว่าบริษัทผูกขาดตลาดเครื่องมือค้นหาออนไลน์
หนึ่งในแนวทางที่ถูกเสนอคือการแยก Chrome ออกจากธุรกิจอื่นของ Google ขณะที่บริษัทได้แสดงเจตนาว่าจะยื่นอุทธรณ์ต่อคดีนี้
อย่างไรก็ตาม ในรายงานผลประกอบการไตรมาสแรกของ Alphabet เมื่อวันที่ 24 เมษายน บริษัทมีรายได้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ แม้ตลาดจะยังคงมีความผันผวน
Jensen Huang: Nvidia
Jensen Huang ซีอีโอของ Nvidia ถือว่าอยู่ในจุดต่างจากผู้บริหารคนอื่นๆ เขาไม่ได้เข้าร่วมพิธีสาบานตนของ Trump และใช้เวลานั้นฉลองตรุษจีนกับพนักงานในเอเชีย แม้ว่าเขาจะเดินทางเข้าพบ Trump ในเวลาต่อมาก็ตาม
Nvidia ได้บริจาคเงิน 1 ล้านดอลลาร์ให้กับคณะกรรมการจัดงานพิธีสาบานตน
บริษัทผู้ผลิตชิปรายนี้พึ่งพาการจัดหาเซมิคอนดักเตอร์จำนวนมากจากต่างประเทศ โดยหลักๆคือไต้หวัน ซึ่งนโยบายกำแพงภาษีที่ Trump ประกาศ ทำให้การนำเข้าชิปจากจีนกลายเป็นงานหินมากกว่าที่เคยเป็น
อย่างไรก็ตาม ในการให้สัมภาษณ์กับ CNBC เมื่อเดือนมีนาคม Jensen Huang แสดงท่าทีค่อนข้างสบายใจต่อกำแพงภาษี โดยกล่าวว่าเขามุ่งมั่นที่จะสร้างโรงงานในสหรัฐฯ และ อีกไม่นานผลกระทบของกำแพงภาษีจะไม่รุนแรงนัก
ทั้งนี้ Morgan Stanley ระบุในเดือนเมษายนว่า Nvidia ยังคงเป็น "หุ้นที่น่าลงทุนอันดับต้นๆ" ในตลาด
Sam Altman: OpenAI
Sam Altman ซีอีโอของ OpenAI บริจาคเงินส่วนตัว 1 ล้านดอลลาร์ให้กับกองทุนจัดงานพิธีสาบานตนของ Trump และเข้าร่วมงานดังกล่าว
เขายังได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมทำเนียบขาวในช่วงต้นของการดำรงตำแหน่งของTrump เพื่อประกาศโครงการ Stargate ซึ่งเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน AI จากภาคเอกชนมูลค่า 5 แสนล้านดอลลาร์
โดยโครงการนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่ลงรอยกับ Elon Musk ต่อหน้าสาธารณะ
ทั้งนี้ บริษัท OpenAI ได้ยื่นข้อเสนอแนะต่อทำเนียบขาวสำหรับ "แผนปฏิบัติการ AI" ซึ่งมีกำหนดจะส่งให้ Trumpในเดือนกรกฎาคม โดยสนับสนุนแนวทางการกำกับดูแลที่ลดความตึงเครียดต่ออุตสาหกรรม AI ลง
Satya Nadella: Microsoft
Satya Nadella ซีอีโอของ Microsoft ไม่ได้เข้าร่วมพิธีสาบานตนของTrump แต่ได้แสดงความยินดีทางออนไลน์ เช่นเดียวกับผู้นำเทคโนโลยีอีกหลายราย
ทั้งนี้ Microsoft ได้บริจาคเงิน 1 ล้านดอลลาร์ให้กับกองทุนจัดงานพิธีสาบานตน