มหา'ลัยล้น ห้องเรียนร้าง วิกฤตอุดมศึกษาไทย
ขณะที่ประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษา มากถึง 170 แห่ง ตัวเลขการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบแอดมิชชั่น ประจำปีการศึกษา 2558 มีผู้สมัครทั้งสิ้น 1.24 แสนคน
โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน
ขณะที่ประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษา ทั้งมหาวิทยาลัย วิทยาลัย สถาบันการศึกษา ทั้งของรัฐ ในกำกับรัฐและเอกชนมากถึง 170 แห่ง ตัวเลขการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลาง หรือแอดมิชชั่น ประจำปีการศึกษา 2558 มีผู้สมัครทั้งสิ้น 1.24 แสนคน ในสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดคัดเลือกผ่านระบบนี้รวม 87 สถาบัน เพื่อเข้าศึกษาใน 802 คณะ สาขาวิชา มีรหัสคณะ สาขาวิชาให้เลือกทั้งสิ้น 4,114 รหัส
อย่างไรก็ดี ในปีที่ผ่านมามีผู้ผ่านการคัดเลือกมีสิทธิเข้าสอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกาย จำนวน 91,813 คน จากจำนวนที่ทุกสถาบันเปิดรับทั้งสิ้น 1.51 แสนคน ปีที่ผ่านมามีที่เรียนในสถาบันอุดมศึกษาเหลืออีกเกือบกว่า 3.3 หมื่นที่
แม้ตัวเลขดังกล่าวยังไม่ได้รวมผู้ที่ได้ที่นั่งเรียนจากการสอบรับตรงและรับผ่านเงื่อนไขโควตา แต่ก็ถือเป็นตัวเลขที่สะท้อนว่าผู้เรียนมีน้อยกว่าที่นั่งเรียนแล้ว และกรณีนี้ย่อมทำให้เกิดข้อสงสัยต่อไปอีกว่าจะส่งผลกระทบอะไรตามมาอีกบ้าง
เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ แจกแจงกรณีดังกล่าวว่า ยุคแรกยังมีมหาวิทยาลัยน้อย และมีจำนวนเด็กที่ต้องการเรียนในอัตราที่สูงกว่า แต่ปัจจุบันตัวเลขดังกล่าวกลับกัน เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งอัตราการเติบโตของประชากรจะชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจ ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นแทบทุกแห่งในโลก
“ปกติแล้วแต่ละปีหากนำจำนวนตัวเลขผู้เรียนทั้งหมดมาหารโดยเฉลี่ยกับจำนวนสถาบันอุดมศึกษา 170 แห่ง จะได้จำนวนผู้เข้าเรียนใหม่ประมาณปีละ 3,500 คน ขณะที่ตัวเลขผู้เรียนใหม่ต้องอยู่ที่ 4,000-5,000 คน จึงจะถือว่าเป็นตัวเลขที่ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถบริหารจัดการอย่างมีกำไรได้ ตัวเลขที่น้อยลงจึงกลายเป็นโจทย์ให้แต่ละแห่งต้องคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะดึงเด็กให้เข้ามาเรียนได้ เป็นที่มาของการขยายหลักสูตรภาคต่างๆ แข่งกันเพื่อหารายได้ ในแง่นี้มหาวิทยาลัยของรัฐที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว ก็จะมีความได้เปรียบในการดึงดูดผู้เรียน” คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม กรณีที่กล่าวมายังกำลังก่อปัญหา ส่งผลให้บางคณะวิชาของสถาบันที่ไม่มีชื่อเสียงพอที่จะดึงดูดผู้เรียน มีที่นั่งเรียนเหลือหรือมีจำนวนต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ จนส่งผลกระทบต่อการจัดสรรทรัพยากรให้กับผู้เรียน โดยเฉพาะอาจารย์ผู้สอน
“ตอนนี้เมื่อเด็กน้อย อาจารย์ผู้สอนในบางแห่งก็เหลือภาระการสอนน้อยลงตามไปด้วย สอนเพียงอาทิตย์ละไม่กี่วัน ปัญหาการจ้างที่ไม่เป็นธรรมก็ตามมา ค่าจ้างได้ตามวัน ไม่ได้จ้างเป็นรายเดือน เพื่อจำกัดรายจ่ายให้ประคองตัวไปให้ได้ ไม่ต้องยุบคณะนั้นๆ ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยรัฐในสาขาที่มีคุณค่าทางวิชาการต่อประเทศ รัฐก็ยังต้องสนับสนุนเงินให้เปิดเรียนต่อไปได้
เรื่องนี้กำลังจะเป็นปัญหาระยะยาว หากไม่ตระหนักต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ในอนาคตอันใกล้จะมีบางมหาวิทยาลัยตายลงหรือปิดตัวอีกมาก รวมถึงกระทบกับเรื่องของคุณภาพที่ไม่สามารถแข่งขันในระดับสากลได้ แต่ละปีทั่วโลกจะมีผู้เรียนที่ออกเดินทางไปเรียนต่อในต่างประเทศรวมกัน ประมาณ 38 ล้านคน หากเราไม่พัฒนาด้านคุณภาพก็ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ซึ่งหากดูจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก มหาวิทยาลัยไทยก็ยิ่งต้องตระหนักเรื่องนี้” เกียรติอนันต์ กล่าว
สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า กรณีที่มีผู้เรียนอุดมศึกษาน้อยลง ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสถาบันที่มีชื่อหลายแห่ง แม้แต่บางสาขาวิชาในคณะวิทยาศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็กำลังประสบปัญหามีผู้เรียนต่ำกว่าเป้าที่วางไว้เช่นกัน
ทั้งนี้ แต่ละปีบางสาขา เช่น ฟิสิกส์ ในต่างจังหวัดของบางมหาวิทยาลัยเปิดรับนับร้อยคน แต่มีผู้เข้าเรียนไม่ถึง 20 คน ขณะที่ฟิสิกส์ จุฬาฯ แต่ละปีเรารับได้ประมาณ 50 คน แต่มีคนเข้ามาเรียนประมาณ 20-30 คน เพราะเป็นสาขาที่เด็กไม่ค่อยสมัคร แต่ละปีมีนักเรียนเลือกสาขานี้ประมาณ 100 คน แต่บางคนก็สอบติดที่อื่นไปก่อน เด็กไม่เลือกเรียนสาขานี้เพราะมองไม่ออกว่าจบแล้วจะออกไปทำงานอะไร ไม่เห็นอาชีพที่ชัดเจน ซึ่งกำลังเป็นปัญหาหลักของคณะวิทยาศาสตร์ทุกแห่ง ไม่เหมือนหมอหรือวิศวกรที่รู้ว่าจบแล้วจะไปทำงานอะไร ยังไม่รวมถึงปัญหาเรียนแค่ปีเดียวก็ต้องออกไปเพราะถูกรีไทร์และสอบแอดมิชชั่นใหม่อีกประมาณ 30%
ศ.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ราชบัณฑิตประเภทวิชาศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ทางสารัตถะ กล่าวว่า มีงานวิจัยที่ระบุชัดเจนว่าประเทศไทยมีจำนวนมหาวิทยาลัยเกินจำนวนเด็ก เพราะกฎหมายที่กำกับดูแลเรื่องนี้ส่งเสริมให้เปิด แต่ตอนนี้สถานการณ์นั้นเปลี่ยนแปลงไปมาก มีเด็กลดลงทุกปี จนกระทบถึงห้องเรียนในหลายแห่งในที่สุด
“โดยความเห็นแล้ว เพื่อแก้ปัญหาบางสาขาไม่มีผู้เรียน อยากให้มหาวิทยาลัยราชภัฏพิจารณาลดสาขาสายสังคมลง กลับไปพัฒนาเรื่องการพัฒนาครูตามพันธกิจเดิม ก็จะผลิตคนได้ตามเป้าหมายมากขึ้น มหาวิทยาลัยไม่ต้องรัดเข็มขัด เพราะจำนวนนักศึกษาลดลง จนงบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาลน้อยตามไปด้วย เมื่อบริบททางสังคมเปลี่ยนเราก็ต้องปรับตัว ไม่ใช่หาทางขนคนมาเรียนเพื่อดึงงบประมาณจากรัฐ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด” ศ.สมหวัง กล่าว