posttoday

วัดน้ำหนัก พรก.แรงงานต่างด้าว ‘คนดีต้องไม่กลัว’ หรือ ‘รัฐกำลังเดินผิดทาง’

04 กรกฎาคม 2560

พลันที่ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ถูกประกาศใช้ ผลกระทบกับแรงงานต่างด้าวที่เกี่ยวเนื่องกับการจ้างงานของนายจ้างไทยก็เกิดขึ้นอย่างทันที

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ 

พลันที่ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ถูกรัฐบาลประกาศใช้ ผลกระทบกับแรงงานต่างด้าวที่เกี่ยวเนื่องกับการจ้างงานของนายจ้างไทยก็เกิดขึ้นอย่างทันที

พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฉบับใหม่นี้ เพิ่มความเข้มข้นของโทษทัณฑ์สำหรับ “แรงงานต่างด้าวเถื่อน” ให้จริงจังมากยิ่งขึ้น อาทิ ผู้ใดรับแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือรับแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตกับนายจ้างเข้าทำงาน ปรับ 4-8 แสนบาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างงาน 1 คน หรือสำหรับคนต่างด้าว หากทำงานที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำ ก็ต้องเจอคุก 5 ปี และปรับสูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท

และสำหรับนายจ้างก็ต้องเจอผลกระทบจากอัตราค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น ทั้งใบอนุญาตนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน 2 หมื่นบาท หรือการต่ออายุใบอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงานครั้งละ 2 หมื่นบาท และการขยายระยะเวลาการทำงานของแรงงานต่างด้าวอีกครั้งละ 2 หมื่นบาท

ถามว่าผู้ประกอบการคนไทย “ไหว” หรือไม่กับค่าธรรมเนียม และคนต่างด้าวแรงงานที่มีทักษะฝีมือ แต่ขาดการเข้าถึงระบบ จะ “ไหว” ด้วยหรือไม่กับการเสี่ยงที่จะอยู่เลี้ยงชีพบนการคาบเกี่ยวของอัตราโทษที่สูงขึ้น

ผลกระทบของ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวย่อมเกิดขึ้น อ่านนัยเรื่องนี้จาก สุรพงษ์ กองจันทึก อดีตประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ แรงงานข้ามชาติ และคนพลัดถิ่น ที่มองนโยบายแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวเถื่อนด้วยยาแรงจากรัฐบาลในครั้งนี้ว่า ประสงค์ของรัฐบาลในการออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 มีเพียงประการเดียวคือการเพิ่มโทษผู้ที่มีความผิดตามกฎหมายให้หนักขึ้น ซึ่งวิธีการคิดแบบนี้ได้คำตอบที่ส่งผลไปถึงผู้ประกอบการอย่างทันที รวมถึงลูกจ้างแรงงานต่างด้าว และหนุนนำให้เจ้าหน้าที่รัฐปราบปรามแรงงานต่างด้าวอย่างจริงจัง ภาพจึงเกิดขึ้นว่าแรงงานต่างด้าวทยอยกลับประเทศ ผู้ประกอบการก็ขาดแรงงานที่ช่วยทำงาน

หากมองว่ากระทบหรือไม่ สุรพงษ์ให้คำตอบคือคำว่ามันมหาศาล เพราะประเทศไทยต้องการแรงงานระดับล่าง ทั้งงานทำความสะอาด งานโรงงาน ค้าขาย หรือแม้แต่ในภาคเกษตรกรรมเอง และทั้งหมดเป็นงานที่คนไทยไม่ทำ เมื่อกฎหมายฉบับใหม่นี้ออกมา ก็ขาดการรองรับแรงงานทดแทน ผู้ประกอบการจึงซวนเซและธุรกิจก็เจ๊งกันระนาว

สถิติการเกิดของคนไทยที่น้อยลง บวกกับการได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น พ่อแม่ผู้ปกครองจุนเจือบุตรหลานอย่างดี องค์ประกอบเหล่านี้สุรพงษ์มองว่าทำให้เด็กไทยที่ก้าวขึ้นมาเป็นกำลังของชาติปฏิเสธงานระดับล่าง รัฐบาลเองก็เล็งเห็นว่ากลุ่มคนใช้แรงงานที่จะช่วยพัฒนาประเทศ เราจำเป็นต้องดึงแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน แต่การออกกฎหมายนี้มาจึงค่อนข้างที่จะย้อนแย้งกับความเป็นจริง

“รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในช่วงที่ยึดอำนาจก็แก้เรื่องนี้อย่างจริงจัง คงจำกันได้ว่าช่วงนั้นแรงงานก็หนีกลับประเทศ ผู้ประกอบการกระทบทันที กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่อนปรนเงื่อนไขให้กลับเข้ามาทำงาน แต่เสียดายที่รัฐบาลไม่ได้เรียนรู้จากเรื่องนี้เลย และกำลังจะกวาดล้างจับกุมแรงงานต่างด้าวเหมือนเคย” สุรพงษ์ ให้ความเห็น

อีกมุมที่น่าสนใจ โดยสุรพงษ์บอกเล่าเชิงตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่า หากต้องการแก้ไขปัญหาคนต่างด้าวแย่งงานคนไทยทำ รัฐบาลต้องเข้าใจก่อนว่าแรงงานที่ไล่กันอยู่ในทุกๆ วันนี้ เขาไม่ได้แย่งงานคนไทยทำ แต่มีคนบางกลุ่มที่เข้ามาแย่งจริงๆ เช่น คนจีนที่เข้ามาประเทศไทย มาประกอบกิจการแข่งกับคนไทยเต็มไปหมด คนจีนเหล่านี้มาเป็นผู้ประกอบการ ไม่ใช่ลูกจ้าง อย่างนี้มาแย่งงานคนไทยชัดๆ แต่ปล่อยให้อยู่กันเต็มบ้านเต็มเมือง รัฐบาลควรถึงเวลาที่ต้องจัดการให้ตรงจุดแล้วหรือยัง

“คนที่ควรจะเล่นงานกลับไม่ทำ คนที่ควรคุ้มครองเพราะเขามาช่วยพัฒนากลับไปเล่นงานเขา ผู้ประกอบการคนไทยก็เดือดร้อนไปด้วย ถ้าจะให้ออกจริง ผมถามว่ารัฐบาลสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างไร มีเทคโนโลยีอะไรบ้างที่จะช่วยธุรกิจให้เดินหน้าโดยไม่ต้องมีแรงงานต่างด้าว ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ส่งเสริมอะไรเลย” สุรพงษ์ ย้ำ

นายจ้างผู้ประกอบการก็หวั่นว่าจะได้รับผลกระทบจากกฎหมายนี้ แต่อีกมุมมองจาก ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ภาพสำคัญว่า กฎหมายนี้จะไม่มีปัญหาใดๆ เลยสำหรับคนที่ทำถูกต้อง ใช้แรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย ที่จะกระทบคือคนที่ใช้แรงงานเถื่อนเท่านั้น และเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีคนเจ็บปวดบ้าง

ยงยุทธ หนุน พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฉบับใหม่นี้อยู่ไม่น้อย เพราะจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวเถื่อนที่อยู่กับสังคมไทยมากว่า 20 ปี ซึ่งแรงงานต่างด้าวเถื่อนสร้างผลกระทบต่อทั้งสังคม ปัญหาอาชญากรรม และการค้ามนุษย์ เมื่อรัฐบาล คสช.เข้ามา
บริหารประเทศ ก็ได้แค่ยันปัญหานี้เอาไว้ไม่ให้ลุกลาม กระทั่งมีกฎหมายใหม่ออกมาเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

“เป็นเรื่องที่กระทบผู้ประกอบการแน่นอน แต่เป็นกลุ่มที่ชอบใช้แรงงานเถื่อนเท่านั้น กลุ่มนี้พยายามใช้แรงงานที่ผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง เลือกทำให้ตัวเองอยู่รอดเก็บเกี่ยวกำไรด้วยกลวิธีการใช้ต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งก็ไม่ถูกต้อง เพราะมันสร้างปัญหาตามมา” ยงยุทธ ให้ความเห็น

ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงานจาก TDRI เสริมอีกว่า ถือว่าช่วงจังหวะเวลาเหมาะสมอย่างมากที่ประเทศไทยจะสังคายนากฎหมายแรงงานต่างด้าวใหม่เสียที สิ่งนี้จะกระตุ้นให้เกิดความสนใจแรงงานต่างด้าว และให้พึงระลึกว่าแรงงานต่างด้าวคือ “ของแพง” ไม่ใช่แรงงานถูกๆ อีกต่อไป ดังนั้นการจะให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานจะต้องคุ้มค่าจริงๆ แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องแลกกับการพัฒนาสังคมโดยใช้แรงงานเถื่อนกลุ่มนี้ แต่ผลประโยชน์ที่เราจะได้รับคือหยุดจำนวนแรงงานต่างด้าวเถื่อน และกันหน้าที่ส่วนหนึ่งให้กับแรงงานไทยด้วย

“ผู้ประกอบการเองก็ต้องหันมาพูดคุยกับรัฐบาลด้วย ปรับตัวเข้าหากฎหมาย รัฐบาลเมื่อประกาศเช่นนี้ก็ต้องประชาสัมพันธ์ให้ชัดแจ้งต่อสังคมว่า ต่อไปนี้สิ่งใดที่แรงงานทำได้ หรือทำไม่ได้ หน้าที่ของนายจ้างเป็นอย่างไร ทำกันให้ถูกต้องปัญหาก็จะไม่มี” ยงยุทธ เสนอความเห็น