posttoday

ขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ คาดปรับเพิ่ม 2-15 บาท

05 มกราคม 2561

คณะกรรมการไตรภาคีเตรียมพิจารณาขึ้นค่าแรงทั่วประเทศกลางเดือน ม.ค.นี้ คาดปรับเพิ่ม 2-15 บาท พาณิชย์จับตาราคาสินค้าพุ่ง

คณะกรรมการไตรภาคีเตรียมพิจารณาขึ้นค่าแรงทั่วประเทศกลางเดือน ม.ค.นี้ คาดปรับเพิ่ม 2-15 บาท พาณิชย์จับตาราคาสินค้าพุ่ง

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้เรียกประชุมคณะกรรมการพิจารณาค่าจ้าง 3 ฝ่าย หรือไตรภาคีชุดใหญ่ ซึ่งมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน เพื่อพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำภายในวันที่ 15 ม.ค.ที่จะถึงนี้

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ภายหลังคณะกรรมการเห็นชอบให้ขึ้นค่าแรงใหม่แล้วจะให้มีผลทันทีในสิ้นเดือน ม.ค. ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการปรับเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม จะปรับขึ้นเท่าใดนั้นคณะกรรมการไตรภาคีจะนำปัจจัยต่างๆ มาประกอบ เช่น ค่าครองชีพ ความเป็นอยู่ของแรงงาน สถานะของผู้ประกอบการที่ขึ้นแล้วยังมีกำไรและมีศักยภาพในการลงทุน รวมถึงนำสถานการณ์ค่าแรงของประเทศเพื่อนบ้านมาพิจารณาด้วย

นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ไทยไม่ได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว การปรับค่าแรงเป็น 310 บาท ก็เป็นการปรับใน 30 จังหวัดเท่านั้น ดังนั้นรอบนี้จะพิจารณาปรับขึ้นทั่วประเทศ โดยหัวใจสำคัญต้องการเพิ่มสัดส่วนแรงงานไทยให้เข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น รวมถึงจะกำหนดอัตราค่าแรงเป็นรายชั่วโมงในลักษณะงานพิเศษที่สามารถจ้างผู้สูงอายุ คนพิการ และพนักงานทั่วไปหลังเลิกงานประจำมาทำงานรายชั่วโมงได้อีก เปิดโอกาสคนไทยมีช่องทางหารายได้เพิ่ม

"อัตราที่บอร์ดค่าจ้างไตรภาคีเคยพิจารณาคือปรับขึ้นระหว่าง 2-15 บาท คราวนี้อาจขึ้นมากกว่า 15 บาท โดยจะกำหนดอัตราใหม่ เพราะไม่ได้ขึ้นค่าแรงมาตั้งแต่ปี 2557" นายจรินทร์ กล่าว

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ควรพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อ พื้นที่ตั้งของอุตสาหกรรม ตลอดจนประสิทธิภาพของแรงงานร่วมด้วย ไม่ควรปรับขึ้นเป็นอัตราเดียวกันทั้งประเทศ แต่หากไตรภาคีเห็นชอบแล้วก็ต้องปฏิบัติตาม

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ขอเตือนผู้ประกอบการอย่าฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าโดยไม่มีเหตุผลอันควร แม้ต้นทุนเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่มาก ดังนั้นกรมจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมศึกษาผลกระทบว่าการปรับขึ้นค่าแรงจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าอย่างไร

"หากขึ้นค่าแรง 15 บาท/วัน ถือว่า ไม่มาก หากมีการฉวยโอกาสขึ้นราคาไม่ สมเหตุสมผล มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" นายบุณยฤทธิ์ กล่าว

ด้าน นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ระบุว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะมีผลกระทบต่อกลุ่ม ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากปัจจุบันส่วนใหญ่จ่ายค่าแรงสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว ดังนั้นภาครัฐควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกธุรกิจมากกว่า

คอร์น เฟอร์รี่ บริษัทวิจัยด้านทรัพยากรมนุษย์จากสหรัฐ เปิดเผยผลการสำรวจบริษัท 2.5 หมื่นแห่งทั่วโลก พบว่ากลุ่มประเทศเอเชียจะมีการปรับขึ้นค่าแรงมากที่สุดในปี 2561 ที่ระดับ 5.4% เมื่อเทียบกับอัตราการปรับขึ้นเฉลี่ยทั่วโลกที่ 1.5% เนื่องจากเศรษฐกิจในเอเชียแข็งแกร่งขึ้น

ภาพประกอบข่าว