posttoday

'บิ๊กตู่' โอเคแผนฟื้นฟูรถไฟ-เร่งเปิดบริษัทลูก

20 มกราคม 2561

นายกฯ โอเคแผนฟื้นฟูรถไฟ-เร่งเปิดบริษัทลูก ชงครม.จดทะเบียนก่อตั้งภายในมี.ค.นี้ ด้านคนร.ตีกลับแผนขึ้นค่ารถเมล์สั่งทบทวนเพิ่มคุณภาพบริการก่อนปรับราคา จี้บินไทยเพิ่มรายได้ควบแผนฟื้นฟูไทยสมายล์

นายกฯ โอเคแผนฟื้นฟูรถไฟ-เร่งเปิดบริษัทลูก ชงครม.จดทะเบียนก่อตั้งภายในมี.ค.นี้ ด้านคนร.ตีกลับแผนขึ้นค่ารถเมล์สั่งทบทวนเพิ่มคุณภาพบริการก่อนปรับราคา จี้บินไทยเพิ่มรายได้ควบแผนฟื้นฟูไทยสมายล์

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้รับทราบรายงานแผนฟื้นฟูกิจการของรฟท. โดยนายประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประธานการประชุมได้มีความมีความเห็นว่าให้ดำเนินการไปตามแผนดังกล่าว สำหรับแผนฟื้นฟูกิจการนั้นมีทั้งแผนลงทุนพัฒนาระบบราง แผนลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้เป็นต้น โดยแผนการเพิ่มรายได้นั้นขณะนี้ได้ส่งผลการศึกษาและแนวทางการจัดตั้งบริษัทลูกด้านบริหารทรัพย์สินไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เรียบร้อยแล้ว หากไม่ติดปัญหาน่าจะผ่านมติเห็นชอบพร้อมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อพิจารณาได้ภายในเดือน มี.ค.นี้ หากอนุมัติจะเดินหน้าจดทะเบียนตั้งบริษัททันที วงเงินจดทะเบียน 300 ล้านบาท ควบคู่ไปกับจัดทำโครงสร้างองค์กรและสรรหาบุคลากรเพื่อโอนงานบางส่วนให้บริษัทลูกช่วงปลายปีก่อนเริ่มทยอยนำที่ดินของรฟท.ไปพัฒนาเปิดผระมูลและสร้างรายได้ในต้นปี 2562

นายอานนท์กล่าวต่อว่าสำหรับแผนการปรับค่าโดยสารตามแนวทางที่นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมให้ไปพิจารณานั้นยังไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ในที่ประชุมและยังคงไม่ปรับราคาในเร็ววันนี้ แต่ทางรฟท.ได้รายงานการเปรียบเทียบค่าโดยสารระหว่างรถไฟ รถไฟฟ้าและเรือด่วนเพื่อให้เห็นความแตกต่างของโครงสร้างราคาเพราะรถไฟไม่ได้ปรับราคามา 30 ปีแล้ว

นายอานนท์กล่าวต่อว่าสำหรับความคืบหน้าโครงการจัดซื้อหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าขนาด 16 ตันเพลา จำนวน 100 คัน มูลค่า 1.95 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการจัดหาด้วยวิธีซื้อ 50 คัน วงเงิน 6.5 พันล้านบาท โดยจะเปิดให้เสนอราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ และจัดหาด้วยวิธีเช่าอีก 50 คัน วงเงินประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนลงทุนนั้นได้เสนอรายงานบอร์ดเพื่อทราบในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยจะเร่งเปิดประมูลและลงนามสัญญาเอกชนภายในปีนี้เพื่อรองรับรถไฟทางคู่ ส่วนด้านเอกสารประกวดราคา(ทีโออาร์)จะแล้วเสร็จเพื่อเสนอบอร์ดในช่วงต้นเดือนก.พ.นี้ เพื่อเปิดประมูลโครงการต่อไป

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจหรือสคร. ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจหรือคนร.เปิดเผยว่า ที่ประชุมคนร.ได้มีมติให้กระทรวงคมนาคมกลับไปพิจารณาทำแผนระยะยาวในการฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)และบริษัทการบินไทยใหม่อีกครั้ง

โดยขสมก.แม้จะมีความคืบหน้าเรื่องการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน แต่ยังต้องกำหนดแนวทางการบริการให้สอดคล้องกับแผนปฏิรูปเส้นทาง เพื่อให้เชื่อมกับระบบขนส่งประเภทต่างๆได้ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องรีบพัฒนาก่อนจะปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร ปัจจุบันต้นทุนค่าโดยสารที่แท้จริงของรถธรรมดาจะอยู่ที่ 14 บาทและรถปรับอากาศจะอยู่ที่ 30 บาท ดังนั้นค่าโดยสารในปัจจุบันจึงถือว่าต่ำกว่าต้นทุนมาก พร้อมสั่งการให้กรมการขนส่งทางบกกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประมูลผู้ประกอบการเดินรถเส้นใหม่ และประเภทรถที่เหมาะสมต่อความปลอดภัย รวมถึงต้องมีมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการต่อรถในประเทศด้วย

นายเอกนิติกล่าวต่อว่าขณะที่การบินไทยแม้อัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยจะสูงกว่าคู่แข่ง แต่รายได้ยังไม่เป็นไปตามแผน เนื่องจากการแข่งขันที่สูง จึงให้เร่งนำระบบ Revanue Management System และระบบ Network Management System มาใช้ให้เป็นรูปธรรม เพื่อมาช่วยในการบริหารจัดการรายได้ และควบคุมค่าใช้จ่ายพร้อมให้กลับไปทำแผนระยะยาวให้สอดคล้องกับการแข่งขันด้านการบินของตลาด โดยมีสายการบินไทยสไมล์รวมอยู่ในแผนด้วย

ด้านนายประยูร ช่วยแก้ว ผู้อำนวยการขสมก. กล่าวว่า สำหรับเรื่องของการพิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสารเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงตามนโยบายของนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมนั้น ก็เป็นเรื่องที่อยู่ในแผนฟื้นฟูด้วย แต่หากจะปรับขึ้นค่าโดยสารจริงจะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาอีกหลายขั้นตอนจึงจะสามารถปรับขึ้นได้ คงจะไม่ใช่เร็วๆนี้แน่นอน

นายประยูร กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าโดยสาร นอกจากจะใช้ผลการศึกษาของ ขสมก.แล้ว จะต้องนำผลการศึกษาของกรมการขนส่งทางบก(ขบ.)ที่อยู่ระหว่างการศึกษา รวมถึงหน่วยงานอื่นๆมาประกอบการพิจารณาด้วย คงไม่ใช่จะสามารถปรับขึ้นได้เลย