ส่งออกอาหารฉลุย คู่ค้าสั่งลดขนาดสินค้า...สู้ราคาแพง
ปิดตัวเลขการส่งออกของกลุ่มอุตสาห กรรมอาหารครึ่งปีแรกไปอย่างสวยหรู
ปิดตัวเลขการส่งออกของกลุ่มอุตสาห กรรมอาหารครึ่งปีแรกไปอย่างสวยหรู
ด้วยยอดรวม 4.78 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16% เฉพาะอย่างยิ่งในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. ทำสถิติส่งออกสูงสุด ด้วยมูลค่าเกินกว่า 9 หมื่นล้านบาท
สินค้าที่ขยายตัวโดดเด่นอยู่ในกลุ่มพืชทั้งหมด ได้แก่ ข้าว น้ำตาลทราย ผลไม้สดและผลไม้แปรรูป มีเพียงมันสำปะหลังเพียงรายการเดียวที่ตัวเลขลดลง เช่นเดียวกับกลุ่มประมง ได้แก่ กุ้ง และผลิตภัณฑ์ทูน่า อันเป็นผลมาจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ
หันมาดูทิศทางการส่งออกครึ่งปีหลัง เพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า แนวโน้มยังสดใส สามารถขยายตัวได้ 12% ด้วยมูลค่าส่งออก 4.21 แสนล้านบาท
สินค้าตัวนำหลัก ได้แก่ ไก่ สัตว์ปีก น้ำตาลทราย แต่ข้าวจะชะลอตัวลง และกลุ่มอาหารทะเลก็ยังคงแก้ปัญหาขาดแคลนไม่ได้
เมื่อแยกเป็นรายไตรมาส ประเมินว่า ส่งออกไตรมาส 3 จะมีมูลค่า 2.12 แสนล้านบาท ขยายตัว 12% และไตรมาส 4 มูลค่า 2.09 แสนล้านบาท ขยายตัว 4%
สรุปภาพรวมการส่งออกทั้งปี มูลค่าอยู่ที่ 9 แสนล้านบาท ขยายตัว 12% เพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ระดับ 8.5 แสนล้านบาท ขยายตัว 10% เนื่องจากราคาอาหารทั่วโลกจะอยู่ในระดับสูงต่อไปในครึ่งปีหลัง แม้สินค้าในหลายหมวดจะมีปริมาณการส่งออกไม่ขยายตัว แต่ปัจจัยราคาจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกขยายตัวแทน
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาดูเป็นพิเศษ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐและยุโรป ที่ยังไม่ดีขึ้น แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท และปริมาณวัตถุดิบในหลายอุตสาหกรรมที่ยังมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการ รวมทั้งราคาที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้ประเทศลูกค้าปรับพฤติกรรมการสั่งซื้อ
พฤติกรรมที่ว่า ผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็ง ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดหลักส่งออกกุ้งของไทย แสดงความต้องการซื้อสินค้าราคาเท่าเดิม ในปริมาณที่มากขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงต้องลดขนาดของกุ้งที่เลี้ยงลง โดยคัดขนาดที่ส่งให้ลูกค้าอยู่ที่ 90-120 ตัวต่อ กก. จากมาตรฐานปกติส่งอยู่ที่ 60-70 ตัวต่อ กก. ซึ่งตลาดสหรัฐคิดเป็นสัดส่วน 44-46% ของตลาดส่งออกในภาพรวมของไทย
ขณะที่ตลาดญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนการส่งออก 20% ก็ปรับวิธีการซื้อหันมาซื้อกุ้งแปรรูปมากขึ้น เพื่อจะได้เก็บรักษาได้นาน ลดการนำเข้ากุ้งสดแช่แข็งลง เพราะราคากุ้งขณะนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.90 เซนต์ต่อ กก. จาก 6.30 เซนต์ต่อ กก.
“จากความต้องการสั่งซื้อกุ้งในขนาดที่เล็กลงของลูกค้า ทำให้ผู้เลี้ยงกุ้งต้องปรับการเลี้ยงกุ้งใหม่เป็นเลี้ยง 3 รอบต่อปี ซึ่งไทยเป็นประเทศเดียวที่ทำได้ ไม่มีใครกล้ามาแข่งในตลาดกุ้งขนาดเล็ก ส่วนลูกค้าที่มีความต้องการเปลี่ยนไป เพราะต้องการให้กุ้งยังเป็นอาหารที่ราคาไม่แพงขึ้น สามารถบริโภคได้ในราคาเท่าเดิม และปริมาณเพิ่มขึ้น แต่ไทยจะไม่ลดขนาดไปมากกว่านี้แล้ว เพราะหากเล็กเกินก็จะเสียภาพพจน์” ผณิศวร กล่าว
นอกจากนี้ มาตรการภายในประเทศยังมีความเสี่ยงต่อธุรกิจกุ้งอย่างมาก โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าจ้าง เดิมผู้ผลิตกุ้งมีกำไรอยู่ 40% แต่ถ้าค่าจ้างเพิ่มต้นทุนจะเพิ่ม 50% ทันที ซึ่งจะทำให้ผู้เลี้ยงกุ้งขาดทุน ยังไม่นับรวมแนวโน้มราคาอาหารกุ้งที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย จึงต้องให้ผู้เลี้ยงมีกำไรบ้าง ไม่อย่างนั้นคนจะหันไปทำอาชีพอื่นแทน
พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย อธิบายเพิ่มเติมถึงปัญหาราคาวัตถุดิบแพง ส่วนหนึ่งมาจากราคาอาหารสัตว์ที่ต้นทุนทยอยปรับขึ้น 10-15% โดยเฉพาะวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มาจากด้านการเกษตร เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง ข้าว รำข้าว ปลายข้าว ปลาป่น เป็นต้น มีเพียงกากถั่วเหลืองเท่านั้นที่ราคาลดต่ำลง ด้วยเหตุผลนี้จึงส่งผลไปยังราคาสินค้าอาหารปลายทาง เช่น ไก่ เป็ด หมู กุ้ง ปลา ให้ปรับราคาขึ้นเช่นกัน
ส่งผลให้ราคาสินค้าอาหารเพิ่มสูงขึ้นทั้งในราคาส่งออก และราคาอาหารในประเทศก็น่าจะปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 10-20% ถ้ารัฐบาลควบคุมราคาขายปลีกไม่ดีจะมีโอกาสเกิดปัญหาสินค้าบางชนิดขาดแคลนเหมือนในช่วงที่ผ่านมาได้
“ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ และราคาวัตถุดิบสูง ผู้ประกอบการต้องปรับตัวด้วยการนำเข้าวัตถุดิบ หรือออกไปลงทุนต่างประเทศเพื่อใช้วัตถุดิบราคาถูกที่สุด” พรศิลป์ กล่าว
ด้าน นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออก กล่าวว่า ตลาดส่งออกไก่ในขณะนี้ ส่วนใหญ่ไทยจะส่งออกไปยัง อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และเยอรมัน ซึ่งการจะส่งออกได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับค่าเงิน
โชคชัย เศรษฐีวรรณ อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ครึ่งปีหลังอินเดียประกาศจะส่งออกข้าวเปลือก 1 ล้านตัน ถ้าราคาข้าวในตลาดยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง อินเดียมีโอกาสที่จะเปิดส่งออกข้าวเพิ่มเป็น 2-3 ล้านตันได้ ดังนั้นไทยจำเป็นต้องเลือกวางตัวในตลาดให้ชัดเจน จะเข้าไปแข่งขันในตลาดไหนที่จะเพิ่มมูลค่าให้ข้าวไทยได้มากที่สุดเพื่อให้แข่งขันในตลาดต่อไปได้