เสนอเก็บค่ารถไฟฟ้า20บาทตลอดสาย

18 สิงหาคม 2554

คมนาคมเตรียมเสนอครม.เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า20บาทตลอดสาย คาอีก2-3เดือนมีความชัดเจน เชื่อดันยอดคนใช้เพิ่ม

คมนาคมเตรียมเสนอครม.เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า20บาทตลอดสาย คาอีก2-3เดือนมีความชัดเจน เชื่อดันยอดคนใช้เพิ่ม

นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงจะเร่งสรุปกรอบการกำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ตามนโยบายส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าของรัฐบาล เพื่อเสนอต่อ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม ก่อนนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบ

 

เสนอเก็บค่ารถไฟฟ้า20บาทตลอดสาย

จากนั้นกระทรวงคมนาคมจะมีการเจรจากับเอกชนผู้ให้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 2 ระบบ คือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส) และบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ (บีเอ็มซีแอล) โดยคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะมีความชีดเจนภายใน 2-3 เดือนข้างหน้านี้

นายสุพจน์กล่าวว่า  แนวทางการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น เบื้องต้น แบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ 1.เมื่อ ครม.เห็นชอบและมีความชัดเจนเรื่องแหล่งเงินทุนที่จะมาชดเชยรายได้ที่เอกชนต้องสูญเสียไป ซึ่งเรื่องการชดเชยนี้กระทรวงการคลัง จะเป็นผู้กำหนดที่มาของงบประมาณ ก่อนจะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) พิจารณา

ทั้งนี้ หากได้รับความเห็นชอบ ก็จะดำเนินการโดยนำระบบรถไฟฟ้าใต้ดินมาเชื่อมต่อการคิดค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายกับระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ และ 2.นอกจากการนำรถไฟฟ้าใต้ดินกับแอร์พอร์ตลิงค์มารวมกันแล้ว ก็จะเจรจากับผู้บริหารบีทีเอส เพื่อนำบีทีเอสเข้ามารวมเป็นโครงข่ายในการเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายด้วย

สำหรับการชดเชยรายได้ให้แก่เอกชนโดยหลักเกณฑ์จะเป็นการชดเชยในส่วนของรายได้ที่ลดลงจากรายได้ปกติ เช่น เมื่อเอกชนทั้งหมดเข้าร่วมโครงการ และมีรายได้ลดลงจากวันละ 20 ล้านบาท ลงเหลือ 18 ล้านบาท เมื่อมีการเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ภาครัฐก็จะเข้ามาชดเชยเงิน 2 ล้านบาทที่หายไป ซึ่งในส่วนของกระทรวงคมนาคมคิดว่าเงินที่นำมาชดเชยถือว่าคุ้มค่า  เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับจากการจูงใจผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวมาใช้ระบบราง สามารถประหยัดเชื้อเพลิงลงได้

อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษา คาดว่า การเก็บค่าโดยสาร 20 บาท ตลอดสายจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นในระบบอีก 3 แสนคนต่อวัน จากปัจจุบันที่มีผู้โดยสารรวม 5.9 แสนต่อวัน จะทำให้เอกชนมีรายได้เพิ่ม ทำให้ภาครัฐไม่จำเป็นต้องเข้ามาจ่ายเงินชดเชย

ขณะที่ กลุ่มบีเอ็มซีแอล ผู้บริหารรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ได้ตอบรับเพื่อเข้าร่วมดำเนินการมาแล้ว คาดว่าจะได้ความชัดเจนหลังรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

Thailand Web Stat