วิเคราะห์หลักทรัพย์ด้วยตนเอง ตอนที่ 9 ข้อมูลกำไรในอนาคตของบริษัท...ยิ่งรู้ลึกยิ่งมั่นใจ
...กฤษฏา เสกตระกูล
ในต่างประเทศ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์จะขยันมากในการพยากรณ์กำไร นอกเหนือจากการพยากรณ์ข้อมูล Earnings Growth Forecast ข้อมูล Forecast Spread และข้อมูล EPS Growth ที่ได้อธิบายไปในตอนที่แล้ว ยังมีข้อมูลที่เรียกว่า Forecast EPS Trend ซึ่งเป็นการพยากรณ์กำไรต่อหุ้นในอนาคตจากช่วงเวลาต่างๆ เช่น 7 วันที่แล้ว 30 วันที่แล้ว เป็นต้น นักวิเคราะห์อาจคิดเหมือนเดิม หรือต่างจากเดิมก็ได้ เพราะสถานการณ์ที่เกี่ยวกับหุ้นนั้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ซึ่งกระทบต่อกำไรของบริษัทได้ และข้อมูล Earning Surprise ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบกำไรจากการพยากรณ์กับกำไรที่เกิดจริง ส่วนต่างเราเรียกว่า Surprise ซึ่งมีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย และสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อตัดสินใจลงทุนได้
9.1 ข้อมูล Forecast EPS Trend
ข้อมูล Forecast EPS Trend หมายถึงข้อมูลการพยากรณ์กำไรต่อหุ้นในช่วงเวลาต่างๆ กัน ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มของหุ้นในความเห็นของนักวิเคราะห์ในลักษณะเสียงส่วนใหญ่ (Consensus) เช่น กำไรต่อหุ้นในปีนี้ การพยากรณ์ในปัจจุบัน 7 วันที่แล้ว 30 วันที่แล้ว 60 วันที่แล้ว หรือ 90 วันที่แล้วเป็นอย่างไร ทิศทางยังเป็นไปในรูปแบบเดียวกันหรือไม่ แนวโน้มในทิศทางที่เป็นบวกเป็นสัญญาณบอกว่า นักวิเคราะห์มองบริษัทจดทะเบียนนั้นในแง่ดี (Optimistic) ทั้งในด้านอนาคตของกิจการและโอกาสที่จะมีกำไรในส่วนที่เกินกว่าที่คาด (Positive Earnings Surprise) ในทางตรงกันข้าม ถ้าแนวโน้มของ Forecast EPS Trend มีลักษณะเป็นลบ ชี้ว่านักวิเคราะห์มองบริษัทจดทะเบียนในด้านที่ไม่ดีนัก และพากันคาดว่าจะมีกำไรต่ำกว่าที่พยากรณ์ไว้ (Negative Earnings Surprise)
สำหรับนักลงทุนประเภท Value Investors ลักษณะ Forecast EPS Trend ที่มีลักษณะไม่เคลื่อนไหวแบนราบ (Flat) หรือมีลักษณะแนวโน้มขาลง (Negative) จะจัดว่าเป็นหุ้นที่ นักลงทุนประเภทนี้จะเข้าไปซื้อ โดยจะเข้าไป ค้นหาก่อนว่า ปัจจัยพื้นฐานดีหรือไม่ เพราะ อาจทำให้ได้ของดีราคาถูก หุ้นที่มีลักษณะ Positive Forecast EPS Trend จะส่งสัญญาณว่า นักลงทุนส่วนใหญ่คิดว่าดีและกระตือรือร้นที่จะเข้ามาลงทุนและเข้ามาได้เร็วกว่า Value Investors
ในส่วนของนักลงทุนประเภท Growth Investors จะสนใจหุ้นที่มีลักษณะ Flat หรือ Positive Forecast Trends เพราะการเติบโตของกำไรจะสะท้อนถึงความสำเร็จของกิจการ ซึ่งจะส่งผลต่อมูลค่าของกิจการสูงขึ้นในที่สุด
ตัวอย่างของรายงานเกี่ยวกับ Forecast EPS Trend แสดงไว้ในตารางที่ 9.1 ดังต่อไปนี้
ข้อมูลในตาราง 9.1 เป็นค่าเฉลี่ยจากความเห็นของนักวิเคราะห์ (Consensus) เกี่ยวกับการพยากรณ์กำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนแห่งหนึ่ง ซึ่งย้อนหลังการพยากรณ์ ไปถึง 90 วันที่ผ่านมา ทำให้เราได้เห็นว่าในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ได้เปลี่ยนความเห็นหรือไม่เกี่ยวกับการพยากรณ์กำไรของบริษัทนี้ จากตัวอย่างข้างต้น ภาพรวมยังคงแสดงว่านักวิเคราะห์เชื่อว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนนี้ยังดีอยู่ และมีแนวโน้มเป็น Positive Trend ในการวิเคราะห์ควรระมัดระวังที่จะต้องพิจารณาว่า การเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น (ไตรมาส) อาจมีความผันผวนแตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว (รายปี) ได้
นักวิเคราะห์บางรายมีการพยากรณ์ข้อมูลกำไรไปไกลๆ เกินกว่า 1 ปี เช่น 3 ปี 5 ปี อาจเกิดคำถามว่าสามารถเอามาใช้ประกอบการพิจารณาเช่นตัวอย่างข้างต้นได้หรือไม่ คำตอบ คือ ได้เช่นกัน แต่ควรระวังไว้ว่า การพยากรณ์อนาคตยิ่งไกลออกไป ยิ่งทำได้ยาก เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมในอีก 35 ปี ข้างหน้าอาจเปลี่ยนแปลงไปจากที่เราคิดหรือตั้งสมมติฐานไว้ การเอามาดูควรเป็นเรื่องประกอบกันมากกว่าว่านักวิเคราะห์คิดอย่างไร ในระยะยาวๆ นี้ การพยากรณ์อาจมองได้ว่าเป็นความคาดหวัง (Expectation) ยิ่งเราคาดว่ากำไรจะสูง ก็หมายความว่าความคาดหวังนี้สูงตามไปด้วย (High Expectation) ซึ่งอาจทำให้เราเข้าใจผิดได้ เช่น บางบริษัทในอดีตเคยมีการเติบโตของกำไรได้ 15% ต่อปี ถ้าต่อมาคาดว่าจะโตได้เพียง 10% ต่อปี เราจะบอกว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่ง 10% นี้อาจดีอยู่แล้วภายใต้สถานการณ์ของอนาคตก็ได้ อย่างไรก็ดี ข้อมูลนี้ก็ยังถูกใช้ประโยชน์ในการคัดเลือกหุ้น นักลงทุนประเภท Value Investors ค้นหาข้อมูล LongTerm Growth Forecast ของหุ้นที่มีกำไรโตน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10% ต่อปี เป็นเครื่องมือหนึ่งในการคัดสรรหุ้นประเภท Value ส่วน Growth Investors มักจะสนใจหุ้นที่กำไรคาดว่าจะโตอย่างน้อยที่สุด 15% ต่อปี
9.2 ข้อมูล Earnings Surprise
Earnings Surprise คือส่วนแตกต่างระหว่างกำไรพยากรณ์กับกำไรที่เกิดขึ้นจริง ถ้ากำไรที่เกิดจริงน้อยกว่ากำไรที่พยากรณ์ จะเรียกว่าเป็น Negative Surprise แต่ถ้ากำไรที่เกิดจริงสูงกว่ากำไรที่พยากรณ์จะเรียกว่า Positive Surprise ข้อมูล Negative Surprise ส่งสัญญาณบอกว่า ราคาหุ้นจะลดลง ในขณะที่ Positive Surprise มักจะเป็นสิ่งที่ส่งสัญญาณทางบวกต่อราคาหุ้น ยิ่งจำนวนเงินของ Surprise ยิ่งมาก ผลกระทบก็จะยิ่งมาก อย่างไรก็ดี ผลของ Surprise ที่เกิดขึ้นในงวดบัญชีหนึ่ง (เช่น ไตรมาส) อาจทำให้นักวิเคราะห์ต้องมาทบทวนถึงความผิดพลาดในการพยากรณ์และจะมีการปรับประมาณการในงวดบัญชีถัดไป เช่น ถ้าในงวดนี้เกิด Positive Surprise (กำไรเกิดจริงสูงกว่ากำไรพยากรณ์) ในงวดถัดไปนักวิเคราะห์จะเพิ่มประมาณกำไรพยากรณ์ให้มีค่าสูงขึ้น เพราะแต่เดิมประมาณการไว้ต่ำเกิน
จากตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา บริษัท YYY มีกำไรในลักษณะ Positive Surprise และแนวโน้มนี้ทำให้เกิดความเชื่อว่า YYY น่าจะมี Positive Surprise อีกครั้งในเดือนมี.ค.
ในทางตรงกันข้าม ถ้าข้อมูลในอดีตมีลักษณะเป็น Negative Surprise ก็จะส่งสัญญาณว่าเป็นหุ้นที่เสี่ยง (กว่าพวกที่แสดง Positive Surprise) ถึงแม้ว่าไม่มีอะไรแน่นอนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งหมายถึงว่าหุ้นเหล่านี้อาจมี Positive Surprise ได้ในอนาคต แต่บริษัทที่แสดงถึงข้อมูล Nagative Surprise เป็นประจำ (A Habitual Negative Surpriser) ก็มีแนวโน้มที่จะมีความเสี่ยงกว่า
ในการนำข้อมูล Earnings Surprise ไปใช้ประกอบการลงทุนสำหรับ Growth Investors และ Value Investors นั้น มีงานวิจัยบางชิ้นชี้ให้เห็นว่า หุ้นแบบ Growth Stock จะมีราคาตกลงมากกว่า Value Stock เมื่อเกิด Negative Surprise และอธิบายว่าเป็นเพราะความคาดหวัง (Expectation) ในหุ้น Growth Stock จะสูงกว่า Value Stock ดังนั้นเมื่อเกิด Negative Surprise จึงไม่เป็นที่ประหลาดใจของ Value Investor แต่ก็จะเป็นที่ผิดหวังของ Growth Investor และจะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นมากกว่า แต่งานวิจัยในด้าน Positive Surprise ผลของงานวิจัยยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ บางการศึกษาก็แสดงว่า Growth Stock ได้รับผลดีจาก Positive Surprise มากกว่า Value Stock แต่บางงานวิจัยก็ได้ผลตรงกันข้าม