หมู่บ้านเบญจรงค์ภูมิปัญญาเก่ารายได้ดี
ถ้วยโถโอชาม แจกัน ขนาดต่างๆ ที่มีลวดลายสุดแสนวิจิตร ที่ตั้งอยู่รอบๆ ตัวผมนี้ มีทั้งรูปทรงทั้งแบบโบราณและรูปทรงสมัยใหม่ แต่งานเครื่องปั้นทุกชิ้นนั้นมีลวดลายที่งดงามจริงๆ
ถ้วยโถโอชาม แจกัน ขนาดต่างๆ ที่มีลวดลายสุดแสนวิจิตร ที่ตั้งอยู่รอบๆ ตัวผมนี้ มีทั้งรูปทรงทั้งแบบโบราณและรูปทรงสมัยใหม่ แต่งานเครื่องปั้นทุกชิ้นนั้นมีลวดลายที่งดงามจริงๆ
โดย..นิธิ ท้วมประถม
ใช่แล้วครับ เพราะตอนนี้ผมอยู่ที่หมู่บ้านเบญจรงค์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.ดอนไก่ดี จ.สมุทรสาคร ซึ่งผมเองไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าที่ จ.สมุทรสาคร นั้น มีชุมชนที่ผลิตเครื่องเบญจรงค์อยู่ด้วย และเป็นหมู่บ้านที่ได้รับรางวัลสินค้าโอท็อปอีกด้วย
ทำไมที่นี่ถึงมีหมู่บ้านเบญจรงค์ได้ ผมต้องไปถามให้รู้ครับ และผู้ที่จะตอบผมได้เห็นทีจะหนีไม่พ้น อุไร แตงเอี่ยม ประธานกลุ่มหมู่บ้านเบญจรงค์แห่งนี้
พี่อุไร บอกถึงประวัติของหมู่บ้านเบญจรงค์ว่า ต้องย้อนหลังไปเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้วทีเดียว เพราะแรกเริ่มเดิมทีชาวบ้าน ต.ดอนไก่ดี ไม่ได้เป็นช่างฝีมือด้านเครื่องเบญจรงค์อย่างในปัจจุบัน แต่อาชีพหลักของชาวบ้านในหมู่บ้านนี้เมื่อในอดีต คือเป็นลูกจ้างในโรงงานผลิตเซรามิกครับ
ทำกันมาเรื่อยๆ จวบจนกระทั่งในปี 2525 โรงงานเซรามิกก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจต้องปิดตัวเองลง ทำให้ลูกจ้างซึ่งเป็นคนในชุมชนดอนไก่ดีต้องตกงานกันเป็นเบือ
เมื่อต้องตกงาน จะให้งอมืองอเท้าอดตายได้อย่างไร ทำให้ชาวบ้านที่เคยเป็นลูกจ้างโรงงานเซรามิก นำเอาความรู้จากที่เคยทำงานในโรงงานมาทำเลี้ยงชีพเอง โดยซื้อเครื่องปั้นดินเผามา แล้วมาวาดลวดลายไทยโบราณต่างๆ ลงไป รวมถึงลายเบญจรงค์เพื่อเลี้ยงชีพ
ซึ่งชาวบ้านที่มีฝีมือจากในโรงงานไม่ได้มีเพียงคนสองคนครับ แต่มีเป็นร้อยๆ คน หรือแทบจะทุกบ้านในชุมชนนี้ที่มีฝีมือ และแทบทุกคนก็ไม่ละทิ้งความสามารถดังกล่าว ก็ยังคงอาชีพทำเครื่องเบญจรงค์ และลายไทยโบราณอื่นๆ เช่น ลายหลุยส์ ลายทองนูนต่อเบญจรงค์ ฯลฯ กันต่อมาเรื่อยๆ
เมื่อเกือบทั้งหมู่บ้านทำเครื่องเบญจรงค์เหมือนๆ กัน กลายเป็นการรวมกลุ่มไปแบบไม่รู้ตัว ทางนายอำเภอและฝ่ายพัฒนาชุมชนเห็นว่า มีหลายบ้านที่มีความสามารถมีฝีมือ ก็เลยส่งประกวดและก็ได้รับรางวัลหมู่บ้านหัตถกรรมดีเด่น
ทำให้ชื่อเสียงของหมู่บ้านเบญจรงค์ ต.ดอนไก่ดี จ.สมุทรสาคร กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น
พี่อุไร บอกอีกว่า ลายไทยโบราณที่ชาวบ้านที่นี่เขียนกันได้นั้นมีเป็น 100 ลาย แต่ที่ตลาดให้ความนิยมจะมีอยู่เพียงไม่กี่ลาย และแน่นอนว่าลายเบญจรงค์คือหนึ่งในลายที่ได้รับความนิยมอย่างมาก แถมมีราคาแพงที่สุดเสียด้วย
สาเหตุที่เซรามิกลายโบราณอย่างลายเบญจรงค์มีราคาค่างวด ก็เนื่องมาจากตัวลายที่ค่อนข้างละเอียด มีลงลายเส้นทองซึ่งเป็นทองคำจริงๆ วิธีการทำค่อนข้างซับซ้อน โดยชิ้นงานแต่ละชิ้นกว่าจะสมบูรณ์ออกมาพร้อมขายได้ ต้องผ่านกระบวนการมากถึง 9 ขั้นตอนทีเดียว กว่าจะทำเสร็จก็ 2 สัปดาห์
และยิ่งตอนนี้ราคาทองคำแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็ยิ่งทำให้ราคาของเครื่องเบญจรงค์แพงขึ้นตามไปด้วย
อย่างแจกันลายเบญจรงค์สูงแค่ 10 เซนติเมตร ราคาตกใบละ 1,500 บาทแล้ว
ส่วนโถใบใหญ่ๆ แจกันใบสูงๆ ราคาเหยียบเเสนบาทก็มีให้เห็น แถมเป็นที่ต้องการของบรรดาเศรษฐีที่ต้องการซื้อเครื่องเบญจรงค์ไปประดับบ้าน ประดับบารมี
ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติก็นิยมเครื่องเบญจรงค์ไม่น้อยทีเดียว แต่เครื่องเบญจรงค์ที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมซื้อส่วนใหญ่ คือซื้อไปใช้งานจริง ไม่ได้ซื้อไปตั้งโชว์เหมือนคนไทย ไม่ว่าจะเป็นถ้วยกาแฟ ชุดจาน ชุดชาม ชุดโต๊ะอาหาร จะได้รับความนิยมอย่างมาก
นอกจากนี้ เครื่องปั้นดินเผาที่เขียนด้วยลายเส้นไทยที่เป็นลายวิถีชีวิตของไทย อย่างลายเส้นเรือสุพรรณหงส์ งานวัด วัดวาอาราม ต่างๆ ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน
และไม่ใช่ว่าที่ชุมชนนี้จะเขียนกันแต่ลายไทยโบราณนะครับ แต่ชาวบ้านเหล่านี้ยังพัฒนาการวาดลายไปเป็นลายประยุกต์ จนกลายเป็นเครื่องเบญจรงค์ลายประยุกต์อีกด้วย
ซึ่งเครื่องเบญจรงค์ลายประยุกต์นี้ พี่อัชรี ช่วยแก้ว เจ้าของร้าน อัชรี เบญจรงค์ ที่อยู่ในชุมชน ดอนไก่ดี จะมาแจกแจงให้ฟัง
จะว่าไปแล้ว เจ้าเครื่องเบญจรงค์ลายประยุกต์นั้น เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่บอกได้เลยครับว่าเก๋ไม่น้อย คือเป็นถ้วยเป็นจานเป็นชามสีดำด้าน แต่มีเส้นลายเขียนไทยที่เป็นทอง เขียนลายเส้นต่างๆ เช่น ลายมวยไทย ลายวัด หรือลายเป็นเอกลักษณ์ไทย อย่างลายรถตุ๊กตุ๊กก็มี
พี่อัชรี บอกว่าเครื่องเบญจรงค์ลายประยุกต์ คือ ทำลายให้แตกต่างกว่าของเดิม เน้นพื้นดำ เส้นทอง เพื่อให้ได้แบบใหม่ ซึ่งได้ความคิดจากไปฝึกอบรมที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ที่อยู่ที่ห้างเอ็มโพเรียม กลางกรุงเทพฯ เป็นผู้แนะนำครับ
แล้วอยู่ดีๆ ทำไมพี่อัชรีมาอบรมที่นี่ได้ ก็ต้องย้อนไปนิดว่า เพราะพี่อัชรีเป็นลูกค้าเงินกู้ของเอสเอ็มอีแบงก์ ซึ่งทางเอสเอ็มอีแบงก์เป็นผู้แนะนำและจัดหาหลักสูตรการอบรมให้กับลูกค้า เพื่อจะได้พัฒนาสินค้าของตัวเองให้มีความแปลกใหม่ มีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้มีตลาดใหม่ๆ เข้ามา
สำหรับการอบรมนั้น ใช้เวลา 2 เดือน ซึ่งทาง TCDC เป็นคนแนะนำให้ลองทำเครื่องเบญจรงค์ลายประยุกต์ขึ้นมา เพราะเห็นว่ามีโอกาสในการตลาด และก็เป็นจริงอย่างนั้น เพราะเครื่องเบญจรงค์ลายประยุกต์นั้น ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไม่น้อยทีเดียว
ที่สำคัญเป็นการสร้างมูลค่าให้กับเครื่องปั้นดินเผาธรรมดาๆ ให้มีราคาค่างวดเพิ่มขึ้นไม่น้อย อย่างจานเซรามิกขนาดเล็ก 1 ใบ ขายในราคา 35 บาท แต่เมื่อนำมาเคลือบสีดำด้าน และลงลายเส้นทอง ใช้เวลาทำครึ่งวัน ราคาวิ่งขึ้นไปถึง 500 บาททันที
เป็นอย่างไรครับ แค่มีไอเดียสร้างสรรค์ เงินไม่ใช่เรื่องยากที่จะหา m