"กรณ์"ย้ำล้วงเงินฝากใช้หนี้กองทุนผิดหลักกม.
อดีต รมว.คลัง เดินสายบี้รัฐบาลออกกฎหมายโอนหนี้กองทุนฟื้นฟู และล้วงเงินผู้ฝากเงิน 60 ล้านบัญชี เป็นเรื่องวัตถุประสงค์ของกฎหมาย
อดีต รมว.คลัง เดินสายบี้รัฐบาลออกกฎหมายโอนหนี้กองทุนฟื้นฟู และล้วงเงินผู้ฝากเงิน 60 ล้านบัญชี เป็นเรื่องวัตถุประสงค์ของกฎหมาย
นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อดีต รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ว่า การที่รัฐบาลจะออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โอนหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจำนวน 1.14 ล้านล้านบาท ไปไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยให้นำเงินจากสถาบันบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ที่มีอยู่ 8 หมื่นล้านบาท และก็ให้มีการเก็บเงินเพิ่มมาใช้หนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและขัดกับหลักกฎหมายของการตั้ง สคฝ.
ทั้งนี้ การเก็บเงินจากสถาบันการเงินของ สคฝ. เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ฝากเงินในอนาคต ไม่ได้ให้ไปชำหนี้ที่เกิดขึ้นในอดีต นอกจากนี้ การเก็บเงินจากสถาบันการเงินไปใช้หนี้กองทุนฟื้นฟู เป็นการผลักภาระให้ผู้ฝากเงิน 60 ล้านบัญชี เป็นผู้ใช้หนี้แทนรัฐบาล ซึ่งถือว่าไม่ชอบธรรมกับผู้ฝากเงิน
นายกรณ์ กล่าวว่า การนำเงินจาก สคฝ. และเก็บเงินเพิ่มจากสถาบันการเงินเพิ่ม จะทำให้มีปัญหาการดูแลผู้ฝากเงินในอนาคต กรณี่เกิดปัญหาการเงินขึ้น ผู้ฝากเงินจะได้รับความเสียหาย
"หนี้ของรัฐบาลเป็นหนี้ของประเทศ ไม่ว่าจะโอนหรือไปซุกไว้ที่ไหนก็เป็นหนี้ของรัฐบาลอยู่ดี รัฐบาลควรบริหารด้วยความโปร่งใส มีการตั้งงบประมาณมาใช้หนี้ให้เกิดความชัดเจน" นายกรณ์ กล่าว
นายกรณ์ กล่าวว่า สมัยที่เป็น รมว.คลัง ได้มีการหารือกับ ธปท. โดยจะมีการแก้ไขการบันทึกบัญชีของ ธปท. เพื่อให้มีผลกำไรที่เกิดขึ้นจริงนำมาใช้หนี้เงินต้นละภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายอยู่ปีละ 6 หมื่นล้านบาท ให้ลดน้อยลง
นอกจากนี้ สมัยเป็นรัฐบาลไม่เคยมีแนวคิดโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูไปไว้ที่ ธปท. เพราะเป็นหลักการที่ผิด เหมือนกับการเกิดน้ำท่วมที่ผ่านมา และรัฐบาบบอกว่าเป็นความผิดของกรมชลประทาน ให้กรมชลประทานรับความเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมดแทนรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลโยนหนี้ของตัวเองให้คนอื่นไม่ได้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบบริหารจัดการ
นายกรณ์ กล่าวว่า สมัยเป็นรัฐบาลก็ไม่มีความคิดจะนำเงินสำรองของประเทศไปใช้หนี้กองทุนฟื้นฟู เพราะเป็นการผิดวินัยการเงินการคลังอย่างรุนแรง เพราะต่อไปรัฐบาลไปก่อหนี้ทำโครงการประชานิยม หรือแม้แต่โครงลงทุนต่างๆ ที่มีความเสี่ยง ก็จะไปนำเงินสำรองมาใช้หนี้กันหมด