ผ่าแนวคิด 2 ทายาทอสังหาฯรุ่น2 ศุภาลัย-ลลิล ปั้นตลาดใหม่
ในธุรกิจ ต้องเก๋า ต้องเจ๋งเท่านั้น จึงอยู่รอด นั่นจึงเป็นสิ่งที่ท้าท้ายความสามารถของเจเนอเรชันที่ 2 อย่าง
โดย...สุกัญญา สินถิรศักดิ์
ในธุรกิจ ต้องเก๋า ต้องเจ๋งเท่านั้น จึงอยู่รอด นั่นจึงเป็นสิ่งที่ท้าท้ายความสามารถของเจเนอเรชันที่ 2 อย่าง “ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม” ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ “ประทีป ตั้งมติธรรม” ซีอีโอแห่งค่ายศุภาลัย และ “ชูรัชฏ์ ชาครกุล” ทายาทของ “ไชยยันต์ ชาครกุล” ซีอีโอ ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ 2 ผู้บริหารรุ่นใหม่ที่เริ่มเข้ามาสานต่องานจากรุ่นพ่อ
โจทย์สำคัญวันนี้ของค่ายศุภาลัยคือ การเติบโตต่อเนื่องในตลาดใหม่ๆ หรือการหา “บลู โอเชียน” ให้ธุรกิจที่อยู่อาศัย ซึ่งหาได้ยากยิ่งแล้วในตลาดกรุงเทพฯ แม้ว่ากำลังซื้อจะสูงแต่การแข่งขันก็สูงลิบด้วยเช่นกัน
ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม จึงถูกวางให้นั่งในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ศุภาลัย เพื่อดูแลตลาดต่างจังหวัดและลูกค้านักลงทุน
“การที่หัวเมืองใหญ่หลายจังหวัดในกรุงเทพฯ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีมาก ทำให้มันมีโอกาสในตลาดที่อยู่อาศัยที่ดีมากด้วยเช่นกัน” ทายาทรุ่น 2 แห่งค่ายศุภาลัย กล่าว
ไตรเตชะ บอกว่าพฤติกรรมของคนต่างจังหวัดเปลี่ยนไปมาก เศรษฐกิจดี ทำให้คนมีกำลังซื้อและเริ่มต้องการที่อยู่อาศัยในชุมชนที่ดี ไม่ได้เน้นการสร้างบ้านอยู่เองเหมือนในอดีต ทำให้ตลาดบ้านจัดสรรในหลายจังหวัดใหญ่ของไทยเริ่มขยายตัวมากขึ้น
นอกจากนี้ จังหวะในการเข้าตลาดต่างจังหวัดเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่อยู่อาศัยบางรูปแบบ หากเป็นเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว อาจจะเป็นไปไม่ได้ แต่วันนี้เป็นไปได้แล้ว
สำหรับวิธีการเลือกเข้าไปเปิดตลาดต่างจังหวัดของศุภาลัยนั้นต้องทำระยะยาว และต้องมั่นใจว่าตลาดนี้เติบโตได้อย่างน้อย 10 ปี ถ้าคำตอบว่าใช่ ก็ลุยได้เลย
ปัจจุบันศุภาลัยได้ขยายธุรกิจเข้าไปยังตลาด จ.ขอนแก่น ภูเก็ต หาดใหญ่ และอยู่ระหว่างบุกเบิกตลาดเชียงใหม่ ประเดิมโครงการแรก ศุภาลัย วิลล์ เชียงใหม่ บ้านเดี่ยวราคาเริ่มต้นกว่า 2 ล้านบาท และเตรียมเปิดตลาดใหม่อีก 2 จังหวัดในปีหน้า โดยตลาดเชียงใหม่ถือได้ว่าเป็นภารกิจสำคัญที่ ไตรเตชะได้รับมอบหมายให้ดูแลอย่างเต็มตัว
จากก่อนหน้านี้ได้ดูแลตลาดขอนแก่นมาบ้างแล้ว ทำให้เรียนรู้แนวทางการทำตลาดต่างจังหวัด เมื่อศุภาลัยปรับรูปแบบการลงทุนในภูธรเป็นการลงทุนเอง 100% ไม่ได้ร่วมทุนกับท้องถิ่นเหมือนในอดีต จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเปิดตลาดใหม่ด้วยตัวเอง แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน
ไตรเตชะ เข้ามาทำงานจริงจังในศุภาลัยได้กว่า 4 ปี โดยเริ่มต้นจากการดูแลเรื่องการซื้อที่ดิน ฝ่ายการตลาด นักลงทุนสัมพันธ์ และบริษัทลูกที่ขอนแก่น มีโอกาสเรียนรู้งานในส่วนที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ ก่อนไปเรียนต่อเมืองนอก และกลับเข้ามาทำงานในศุภาลัยอีกครั้ง
เขายอมรับว่า ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้มีความได้เปรียบในการเข้ามารับผิดชอบงานที่ใหญ่ขึ้น เข้าใจสิ่งที่ลูกค้าต้องการ พร้อมไปกับการเข้าใจสิ่งที่นักลงทุนต้องการ สินค้าที่ออกมาจึงเป็นที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัย และให้อัตราผลตอบแทนที่ดี ตอบโจทย์กับผู้ถือหุ้น
นอกจากนี้ เขายังมีส่วนในการตั้งทีมทำวิจัยความต้องการของลูกค้า ซึ่งเป็นผลให้มีการปรับภาพลักษณ์ของศุภาลัย และมีแบบบ้านใหม่ให้ดูทันสมัย เข้ากับความต้องการของคนยุคใหม่มากขึ้น
ทั้งนี้หากให้เปรียบเทียบการแข่งขันในยุคคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่แล้ว อาจไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ยุคนี้เทคโนโลยีที่รวดเร็ว ทำให้การตัดสินใจลงทุนต่างๆ รวดเร็ว แต่ยังต้องคงความมั่นคง แม่นยำ และเก๋าแบบคนรุ่นเก่าไว้ โดยหลักในการทำงานแบบ ไตรเตชะ ต้องอยู่ภายใต้แนวคิด การทำงานเป็นทีม ด้วยความเชื่อที่ว่า คนหนึ่งคนไม่สามารถทำได้ทุกอย่าง
ศุภาลัย วิลล์ เชียงใหม่ จะเป็นบทพิสูจน์สำคัญของทายาทรุ่น 2 แห่งค่ายศุภาลัย “ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม” ที่รอเพียงเวลาฉายภาพให้เห็นถึงฝีมือ
คนรุ่นใหม่เติมเต็ม “ลลิล” นิวเจน
ด้านฝั่ง ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ที่ต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้ข่าวคราวเงียบหายไปพอสมควร จากหน้าสื่อหนังสือพิมพ์ในมุมของความเคลื่อนไหวเชิงข่าวไปพอสมควร ด้วยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านแนวความคิดในแบบเดิม สู่การมุ่งเดินหน้าแตกไลน์ไปยังธุรกิจใหม่ๆ
วันนี้ลลิลกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง พร้อมกับที่ “ไชยยันต์ ชาครกุล” ซีอีโอ ดึง “ชูรัชฏ์ ชาครกุล” ลูกชายคนโต เข้ามานั่งเก้าอี้ผู้จัดการฝ่ายการตลาด 2 ของบริษัท ซึ่งเป็นฝ่ายที่แยกมาเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยรูปแบบใหม่ บ้านแบบใหม่ๆ ภายใต้แบรนด์ใหม่ “แลนซิโอ”
รวมถึงการเข้าสู่ตลาดคอนโดมิเนียมเป็นครั้งแรก แตกต่างจากฝ่ายการตลาด 1 ที่จะเป็นบ้านรูปแบบเดิมที่ลลิลแข็งแกร่งอยู่แล้ว
ชูรัชฏ์ กล่าวว่า ถึงเวลาที่บริษัทต้องโตด้วยตลาดใหม่ๆ คุณพ่อจึงอยากให้เข้ามาช่วย เพราะเห็นว่ามีประสบการณ์จากการทำงานที่อื่นมาในระดับหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะจากวงการการเงินที่ทำให้ได้เรียนรู้การปรับตัวในการบริหารความเสี่ยง ภายใต้ภาวะต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เชื่อว่าจะนำมาปรับใช้ในการทำงานที่ลลิลได้
สำหรับช่วงแรกที่เข้ามาทำงาน ได้ตั้งทีมใหม่ที่เน้นทีมงานคนรุ่นใหม่ เพื่อให้สายการตลาด 2 เป็นทีมที่เจาะกลุ่มลูกค้าอายุ 25-38 ปี ส่วนสายการตลาด 1 ยังคงเจาะกลุ่มเป้าหมายเดิมคือ กลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไป
ในส่วนของคอนโดมิเนียมที่แม้ว่าลลิลจะเข้าสู่ตลาดช้ากว่าค่ายอื่นๆ แต่ทายาทรุ่น 2 ของลลิลมองว่า ตลาดคอนโดมิเนียมไม่ได้เป็นเพียงกระแสความต้องการที่ฉาบฉวย แต่จะเป็นหนึ่งในที่อยู่อาศัยพื้นฐานสำหรับในเมือง และไม่มีคำว่าช้าเกินไป โดยต่อไปสัดส่วนยอดขายจากแนวราบจะอยู่ที่ 70-80% และคอนโด มิเนียม 20-30%
แนวทางการบริหารเน้นผสมผสานแนวคิดจากทั้งแบบตะวันตกและตะวันออกคือ ใช้หลักการประเมินผลงานแบบตะวันตก และทำงานร่วมกันแบบตะวันออก เน้นความคล่องตัวตัดสินใจได้เร็ว รวมถึงการหันมาใช้สื่อใหม่ๆ ที่เป็นสื่อออนไลน์มากขึ้น ซึ่งบริษัทจะปรับเพิ่มงบดังกล่าวขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 7-10%
ด้านภาพรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้มุมมองของ 2 ผู้บริหารรุ่นใหม่ล้วนระบุว่า ตลาดมีการแข่งขันกันดุเดือด ทุกคนประกาศเติบโต 20-30% จะโตจากไหน ถ้าไม่โตจากการที่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก เวลานี้ใครไม่ปรับตัวมีสิทธิตกขบวน
องค์กรที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 20 ปี อย่างศุภาลัยและลลิล พร็อพเพอร์ตี้ แม้จะแข็งแกร่งไปด้วยประสบการณ์ แต่ในยุคการตลาดที่เปลี่ยนไป จำเป็นต้องอาศัยมุมมองที่ต่างออกไปของคนรุ่นใหม่