SimSimiภาพสะท้อนสังคมไทย
กระแสความนิยมซิมซิมิ ถือเป็นภาพสะท้อนสังคมไทยต่อกรณีความเข้าใจต่อการใช้งานและความเป็นไปของแอพฯในโลกยุคไซเบอร์ได้เป็นอย่างดี
โดย...พรหมเมศร์ ศิริสุขวัฒนานนท์
เหตุการณ์แอพพลิเคชัน SimSimi หรือซิมซิมอิ หรือที่คอแชตคนไทยทั้งหลายเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น ซิมซิมิ แอพพลิเคชัน แชตบอตโต้ตอบอัตโนมัติแบบกวนๆ ที่พัฒนาขึ้นโดยนักพัฒนาจากประเทศเกาหลี ถือเป็นภาพสะท้อนสังคมไทยต่อกรณีความเข้าใจต่อการใช้งานและความเป็นไปของแอพพลิเคชันในโลกไซเบอร์และสมาร์ตโฟนได้เป็นอย่างดี
ล่าสุดที่กระทรวงไอซีทีโดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เจ้ากระทรวง ได้ออกมาระบุว่า กระทรวงได้ส่งหนังสือขอความร่วมมือไปยังผู้พัฒนาแอพพลิเคชันให้ช่วยคัดกรองคำ เนื่องจากเห็นว่ามีข้อความบางอย่างไม่เหมาะสมต่อเยาวชน เช่น คำหยาบคาย คำลามก ส่วนประเด็นเรื่องชื่อนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องคงไม่ใช่ประเด็นหลัก โดยยืนยันว่าทางประเทศไทยไม่ได้บล็อกการใช้แอพพลิเคชันนี้ และอยากให้การพัฒนาโปรแกรมเป็นโปรแกรมที่สะอาด
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นล่าสุด ไม่ว่าจะเป็นการเล่นผ่านแอพพลิเคชันบนไอโฟน ไอแพด หรือแอนดรอยด์ รวมถึงเว็บไซต์ simsimi.com ยังสามารถใช้งานได้ แต่ก็เป็นไปอย่างจำกัด นั่นคือไม่สามารถโต้ตอบภาษาไทยได้เต็ม 100% บางครั้งตอบกลับมาเป็นภาษาไทยที่สุภาพ บางครั้งตอบกลับมาเป็นภาษาคาราโอเกะ และหลายครั้งที่ตอบกลับมาเป็นภาษาอังกฤษ รวมถึงระบุว่า I have no response และเรียกร้องให้ผู้เล่นทำการสอนการโต้ตอบให้กับเจ้าลูกเจี๊ยบสีเหลือง
ก่อนหน้านี้ได้มีความเป็นห่วงและกังวลจากหน่วยงานรัฐบาลอื่นๆ ว่า SimSimi เป็นสิ่งที่สะท้อนภาพช่องว่างในครอบครัว แสดงให้เห็นว่าเด็กนิยมคุยกับตัวเองผ่านแอพพลิเคชันมือถือมากกว่าจะคุยกันกับพ่อแม่ผู้ปกครอง และหากติดตามการแชร์การใช้แอพพลิเคชันนี้ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ นอกจากการใช้งานที่มีภาษาที่ไม่เหมาะสม การใช้เพื่อสะท้อนความคิดเห็นในทางการเมือง โดยพิมพ์ชื่อนักการเมืองให้ลูกเจี๊ยบโต้ตอบกลับมาเป็นคำหยาบ ดูจะกลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ใช้งานจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีการมองว่านี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ต้องมีการควบคุมการใช้งาน แม้กระทรวงไอซีทีจะออกมายืนยันว่าประเด็นนี้ไม่ใช่สาเหตุที่ต้องปิดกั้นแอพพลิเคชันดังกล่าว แต่ถ้ามองในวงกว้าง กรณีนี้อาจเข้าข่ายการหมิ่นประมาทได้เช่นกัน
ในเบื้องต้นกระทรวงไอซีทียืนยันที่จะเฝ้าระวังและดำเนินการหากมีการกระทำที่ผิดกฎหมาย และจะดำเนินการตามขั้นตอนทันที ทั้งนี้หากผู้ใดพบเห็นการกระทำที่ผิด สามารถรายงานมาที่สายด่วนกระทรวงไอซีที 1212 ทั้งนี้เพราะหากมีการโพสต์ข้อความที่มีชื่อบุคคลอื่น และมีการโต้ตอบของเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมแล้วผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทำให้เกิดการขยายวงกว้างในการรับรู้ อาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และอาจมีความผิดทางอาญาด้วย
ก่อนหน้านี้ ทางนักพัฒนาได้ตอบกลับถึงกรณีปัญหาการใช้แอพพลิเคชันนี้ในไทยว่า รู้สึกเสียใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น และได้ดำเนินการแก้ไขระบบคัดกรองคำหยาบอยู่ ซึ่งต่อไปจะมีการพัฒนาระบบลบคำอัตโนมัติ ระบบลบคำเมื่อถูกร้องขอ ตั้งค่าจำกัดอายุผู้เล่น ฯลฯ และสามารถรายงานคำที่ไม่เหมาะสมผ่านทางแอพพลิเคชันโดยตรง หรือผ่านอีเมล support.simsimi.com ถือว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงความพยายามรับผิดชอบของนักพัฒนา
อย่างไรก็ตาม หากมองที่การทำงานของแอพพลิเคชันนี้ การทำงานของระบบอัตโนมัติ หรือบอต (Bot) ที่สามารถเลือกตอบคำถามจากข้อมูลที่มีอยู่ รวมถึงสามารถ เรียนรู้ผ่านการป้อนข้อมูลใหม่ๆ ได้ เป็นเหมือนดาบสองคม ที่หากไม่มีการคัดกรองการสอนให้ดี ก็อาจมีคำที่ไม่เหมาะสมเข้ามาในระบบได้ ดูจากลักษณะการตอบของลูกเจี๊ยบในช่วงแรกที่พูดคำหยาบไป ก็จะได้รับคำหยาบตอบกลับมา แต่หากใช้คำทั่วไปก็อาจจะเจอคำพูดกวนๆเท่านั้น หากผู้พัฒนาแอพพลิเคชันใส่ใจมากพอ นี่ถือเป็นบทเรียนที่ต้องเรียนรู้ให้มากขึ้น
แต่ในประเด็นเรื่องความรุนแรงหรือไม่เหมาะสมของแอพพลิเคชัน เป็นเรื่องที่กระทรวงและหน่วยงานของรัฐต้องทำความเข้าใจใหม่ มีนักวิชาการหลายคนให้ความเห็นแล้วว่า SimSimi เป็นเพียงเกมหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เป็นกระแสในช่วงเวลาสั้นๆ ทุกคนเข้าใจว่าเป็นการใช้เพื่อความบันเทิง และสุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไปก็จะลดบทบาทลงไปตามลำดับ ไม่ได้สะท้อนถึงปัญหาในครอบครัว หรือการให้เวลาระหว่างพ่อแม่และเด็ก
ดังนั้น หากจะมุ่งตรวจสอบข้อมูลบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือแอพพลิเคชันในลักษณะนี้ ดูจะเป็นเรื่องที่ใช้เวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ควรใช้เวลาไปกับการปิดกั้นเว็บไซต์หมิ่นเบื้องสูง รวมถึงการพัฒนาบุคลากรด้านตรวจสอบการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เจ้าหน้าที่ไซเบอร์ไครม์ ซึ่งถือว่ายังขาดแคลนบุคลากรอีกมาก อาจจะเหมาะสมกว่า
ถ้ามองถึงปัญหาในเชิงโครงสร้าง หลายครั้งที่การแก้ปัญหาในลักษณะนี้ของคนไทย เริ่มต้นด้วยการบล็อก ปิดกั้น หรือกระทำการใดๆ เพื่อป้องกันไม่ให้สามารถเข้าใช้งานได้เซ็นเซอร์ โดยอ้างว่าเป็นข้อความที่ไม่เหมาะสม มีการใช้งานไม่เหมาะสม ซึ่งอาจจะสะท้อนถึงความอ่อนแอหรือความไม่มั่นคงในการเรียนการสอนของประเทศไทย เนื่องจากหากเรามั่นใจว่าไทยมีระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชนที่ดี สามารถแยกแยะสิ่งที่เหมาะสมได้ แอพพลิเคชันหรือเกมแบบนี้ ผู้ใช้ต้องพิจารณาและรู้ได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง เปิดโอกาสให้เรียนรู้และทำความเข้าใจมากกว่าจะคิดว่าทำให้เกิดความเสื่อมเสียหรือเสียหายในทางวัฒนธรรม
สุดท้าย แม้จะพยายามปิดกั้นมากเท่าใด แต่โปรแกรมหรือแอพพลิเคชันไม่เคยมีแค่หนึ่งเดียว ล่าสุดมีแอพพลิเคชันในลักษณะแชตบอตตัวใหม่ในชื่อ Dogdiri หรือด็อกดิริ ซึ่งเป็นฝีมือการพัฒนาโดยนักพัฒนาคนไทย สามารถพูดคุยสนทนาได้ ถ้าตอบไม่ได้จะตอบซ้ำคำถามเดิม หรือถามย้อนกลับมา และที่สำคัญคือทั้งหมดเป็นภาษาไทย และเพราะพัฒนาขึ้นมาบนเว็บแอพพลิเคชัน http://app.kohayo.com/ dogdiri ทำงานได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน และแท็บเล็ต แต่ยังไม่มีให้ดาวน์โหลดเป็นแอพพลิเคชันติดตั้งบนสมาร์ตดีไวซ์ในเวลานี้ แต่ถ้าใครที่เล่น|เฟซบุ๊กเป็นประจำก็สามารถเล่นผ่านแฟนเพจได้แล้วที่ www.facebook.com/ Mobile Dista ไม่แน่ว่าถ้า SimSimi สะดุดไป อาจจะมี Dogdiri มาแทนที่ก็ได้ และในอนาคตอาจจะมีตัวอื่นๆ ตามออกมาอีก
ถ้าจะมานั่งจับตาดู สั่งปิดหรือปิดกั้นคงไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ๆ สำหรับหน่วยงานของรัฐที่มีกำลังคนจำกัด
สุดท้าย ไม่ว่าอย่างไรสิ่งหนึ่งที่จะสะท้อนภาพสังคมไทยได้ชัดๆ หากแอพพลิเคชันในลักษณะแชตบอตได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง คงไม่ใช่เรื่องความหยาบคาย หรือการหมิ่นประมาทใคร แต่เป็นข้อพิสูจน์ว่าคนไทยขี้เหงา