ทำความรู้จัก CFP
ใบอนุญาตวิชาชีพนักวางแผนการเงินไทย หรือ CFP กำลังเป็นที่พูดถึงในแวดวงสถาบันการเงินไทย
ใบอนุญาตวิชาชีพนักวางแผนการเงินไทย หรือ CFP กำลังเป็นที่พูดถึงในแวดวงสถาบันการเงินไทย
เนื่องจากเป็น License ใหม่ในบ้านเรา ประกอบกับความเชื่อที่ว่าการปฏิบัติตามแผนการเงินที่ดีจะช่วยทุกคน ทุกครอบครัว สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่เหมาะสมตามที่ต้องการได้ จึงมีความสนใจที่จะแสวงหาความรู้เรื่องการวางแผนการเงินที่ทำได้จริงและมีมาตรฐานอย่าง CFP เกิดขึ้น
แล้ว CFP คืออะไร
ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.tfpa.or.th ของสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ระบุว่า CFP ย่อมาจาก Certified Financial Planner เป็นคุณวุฒิวิชาชีพสำหรับนักวางแผนการเงินที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง แสดงถึงการมีความรู้ ความสามารถ ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ในการให้คำแนะนำและวางแผนการเงินบุคคลแก่ลูกค้าครอบคลุมในทุกๆ ด้าน ได้แก่ การวางแผนการลงทุน การวางแผนประกันชีวิต การวางแผนเพื่อการเกษียณ การวางแผนภาษีและมรดก และบูรณาการแผนการเงินในทุกๆ ด้านเข้ามาไว้ด้วยกันเป็น แผนการเงินฉบับสมบูรณ์ และให้ลูกค้าได้รับประโยชน์สูงสุดจากการวางแผนการเงิน โดยคำนึงถึงเป้าหมายทางการเงินของลูกค้าเป็นสำคัญ
ปัจจุบันทั่วโลกมีนักวางแผนการเงินที่มีคุณวุฒิ CFP จำนวนมากกว่า 1 แสนคน สำหรับ สมาคมนักวางแผนการเงินไทย (Thai Financial Planners Association : TFPA) เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการรับรองคุณวุฒิ CFP ให้แก่นักวางแผนการเงินของไทยที่มีคุณสมบัติครบตามมาตรฐานสากล โดยนักวางแผนการเงินจะต้องมีสมรรถภาพที่ครอบ คลุมใน 3 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย ความสามารถ (Ability) ทักษะ (Skill) และความรู้ (Knowledge) ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้จะสอดคล้องกับกฎกติกา กฎหมายของแต่ละประเทศ เพราะ CFP มุ่งหวังให้เกิดการวางแผนการเงินจริงแต่บุคคล หรือกลุ่มบุคคล จึงจำเป็นต้องเข้าในระบบกฎหมาย ระเบียบ วิธีการ เงื่อนไขที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ เช่น กฎหมายด้านประกัน การลงทุน ภาษี กองทุนเพื่อการเกษียณต่างๆ เป็นต้น
ผู้ที่จะได้รับคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงินจะต้องมีคุณสมบัติสำคัญ 4 ประการเรียกว่า 4E’s อันได้แก่ การศึกษา (Education) การสอบ (Examination) ประสบการณ์การทำงาน (Experience) และจรรยาบรรณ (Ethics)
lด้านการศึกษา นักวางแผนการเงินต้องมีความรู้ด้านการวางแผนการเงินตามมาตรฐานที่กำหนด โดยต้องเข้ารับการอบรมหลักสูตรการวางแผนการเงิน ที่ประกอบด้วยพื้นฐานความรู้ 6 ชุดวิชา (Modules) หรือได้รับการยกเว้นจากการเทียบเคียงพื้นฐานความรู้ (Transcript Review) หรือการขอสิทธิเข้าสอบโดยไม่ผ่านการอบรม (Challenge Status)
lด้านการสอบ นักวางแผนการเงินต้องผ่านการสอบเพื่อประเมินความสามารถในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้สำหรับให้คำปรึกษา และจัดทำแผนการเงิน อันจะนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือและประโยชน์ของลูกค้า หรือผู้ขอรับคำปรึกษา
lด้านประสบการณ์การทำงาน นักวางแผนการเงินต้องมีประสบการณ์การทำงานเพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่า นอกจากจะมีความรู้ ความเข้าใจในทางทฤษฎีแล้ว ยังต้องมีทักษะเชิงปฏิบัติในวิชาชีพที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการวางแผนการเงินเพื่อเป็นการสนับสนุน ให้คำปรึกษา และจัดทำแผนการเงินให้แก่ลูกค้าแต่ละรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
lด้านจรรยาบรรณ – นักวางแผนการเงินต้องมีจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ ให้คำแนะนำ และจัดทำแผนการเงินให้แก่ลูกค้า โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของลูกค้า โดยอยู่บนพื้นฐานของแนวปฏิบัติและจรรยาบรรณของนักวางแผนการเงิน
ปัจจุบันสมาคมนักวางแผนการเงินไทยมีผู้สอบผ่านและได้รับการขึ้นทะเบียนคุณวุฒิวิชาชีพ CFP สำหรับประเทศไทยแล้วจำนวนหนึ่ง มีทั้งผู้ที่ทำงานประกอบอาชีพอิสระ และทำงานอยู่กับสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อทำงานและปฏิบัติหน้าที่ให้คำแนะนำการวางแผนการเงินที่เหมาะสมแก่คนไทยต่อไป