ติงจำกัดรง.ฝุ่นเหล็กขัดเปิดเสรี
บีโอไอ ติงตั้งโรงงานรีไซเคิลฝุ่นเหล็กจำกัดแค่ 1 โรง ขัดนโยบายเปิดเสรีลงทุน
บีโอไอ ติงตั้งโรงงานรีไซเคิลฝุ่นเหล็กจำกัดแค่ 1 โรง ขัดนโยบายเปิดเสรีลงทุน
นางหิรัญญา สุจินัย ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การพิจารณาตั้งโรงงานรีไซเคิลฝุ่นเหล็กในประเทศไทย ถือเป็นโครงการที่อยู่ในกิจการรีไซเคิล ซึ่งบีโอไอจะเน้นเปิดเสรีลงทุน ไม่จำกัดจำนวนที่ให้ส่งเสริมการลงทุนและไม่จำกัดระยะเวลายื่นโครงการ แต่จะจำกัดความสามารถทางการลงทุน เทคโนโลยีที่ใช้ ผลการลงทุนที่เกิดกับระบบเศรษฐกิจประเทศและสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปริมาณฝุ่นเหล็กในไทยสามารถป้อนเข้าโรงงานได้เพียง 1 โรงเท่านั้น คณะทำงานเพื่อพิจารณาการลงทุนรีไซเคิลฝุ่นเหล็ก ที่ประกอบด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จึงเสนอให้บีโอไอส่งเสริมการลงทุนตั้งโรงงานฝุ่นเหล็กเพียง 1 โรง จากผู้สนใจซึ่งเป็นนักลงทุนต่างชาติจำนวน 4 ราย
ดังนั้น ในวันที่ 28 ก.พ. ที่จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยมี ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน บีโอไอจะให้ความเห็นเรื่องการกำหนดเลือกเพียง 1 โรงงาน ว่าผิดนโยบายเปิดเสรีการลงทุน
“คณะอนุกรรมการบีโอไออาจคัดเลือกบริษัทที่เข้ารอบเพื่อให้คณะกรรมการบีโอไอ ที่มี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธาน พิจารณาในขั้นตอนสุดท้าย หรืออาจสั่งการให้อนุกรรมการกลับไปพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง” นางหิรัญญา กล่าว
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า การกำหนดให้ตั้งโรงงานรีไซเคิลฝุ่นเหล็กได้เพียง 1 แห่ง เพราะปริมาณฝุ่นเหล็กของไทยมีจำกัด อยู่ที่ 7 หมื่น-1แสนตันต่อปี คณะทำงานเพื่อพิจารณาการลงทุนรีไซเคิลฝุ่นเหล็ก ที่มี นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน จึงมอบหมายให้สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เป็นผู้พิจารณาว่าเทคโนโลยีของบริษัทสามารถรีไซเคิลฝุ่นเหล็กได้ดีที่สุดและเหมาะสมกับประเทศไทย โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ บริษัทที่สามารถหาพันธมิตรเป็นคนไทย เพื่อป้องกันการผูกขาดตลาดอาจได้รับพิจารณาเป็นพิเศษ เพราะหากไม่มีพันธมิตรทำข้อตกลงซื้อขายฝุ่นเหล็ก บริษัทอาจเอาเปรียบผู้ผลิตเหล็กของไทย เพราะปัจจุบันฝุ่นเหล็กไทยไม่สามารถส่งออกได้ตามปกติ ต้องทำหนังสือสอบถามประเทศที่รับซื้อว่าอนุญาตหรือไม่ ตามข้อกำหนดอนุสัญญาบาเซลที่ให้ฝุ่นเหล็กเป็นวัตถุอันตราย**"ปัจจุบันฝุ่นเหล็กในไทยหากไม่ส่งออกตามอนุสัญญาบาเซลจะถูกจัดเก็บตามมาตรฐานที่กรอ.กำหนดไว้ หากโรงงานรีไซเคิลฝุ่นเกิดได้ ผ่านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ผู้ผลิตเหล็กสามารถนำฝุ่นเหล็กที่จัดเก็บไว้ขายให้กับโรงงานรีไซเคิลได้" นายอาทิตย์ กล่าว