เปิดเออีซีกระทบโรงงานอาหารไทยหนัก
เปิดเออีซีโรงงานอาหารขนาดเล็กกว่า 4,000 ราย แข่งขันไม่ได้ gzpภาพรวมไทยยังมีอุปสรรคเปิดตลาดอาหารอาเซียน
เปิดเออีซีโรงงานอาหารขนาดเล็กกว่า 4,000 ราย แข่งขันไม่ได้ gzpภาพรวมไทยยังมีอุปสรรคเปิดตลาดอาหารอาเซียน
นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 กลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กในเมืองไทยที่มีอยู่กว่า 4,000 ราย จะได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยจะไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากส่วนใหญ่ผลิตสินค้าขายภายในพื้นที่ และเป็นผู้รับจ้างผลิต รวมถึงยังไม่สามารถเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากอาเซียนในการใช้วัตถุดิบร่วมกันได้
ขณะที่ในภาพรวม ประเทศอาเซียนส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ผลิตอาหารได้มากเกินความต้องการบริโภคและมีการส่งออกไปจำหน่ายในประทศต่างๆ ปัจจัยดังกล่าวทำให้การเปิดตลาดอาหารอาเซียนทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะทุกประเทศต้องการปกป้องภาคเกษตรและอาหารซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ จึงพบว่ามีอุปสรรคสำคัญในการเข้าสู่ตลาดอาเซียนของผู้ประกอบการอาหารไทย เช่น ตลาดอาเซียนมีกำลังซื้อต่ำ เมื่อเทียบกับตลาดหลักในประเทศพัฒนาอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือยุโรป ส่งผลให้สินค้าอาหารส่งออกของไทยไม่คุ้มค่าในการทำตลาด โดยเฉพาะสินค้ามูลค่าเพิ่ม
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยยังมีความรู้ความเข้าใจในตลาดอาเซียนค่อนข้างน้อย ทำให้ขาดแรงจูงใจในการสร้างสรรค์สินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง รวมทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านการคมนาคมขนส่งที่ไม่สะดวก การพัฒนาระบบขนส่งให้เกิดความเชื่อมโยงในภูมิภาคยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ประสิทธิภาพยังไม่ดีพอ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการกระจายสินค้า
นอกจากนี้ หลายประเทศในอาเซียนยังมีอุปสรรคด้านการค้าที่มิใช่ภาษีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่ละประเทศยังหาจุดร่วมในการลดอุปสรรคดังกล่าวไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ตลาดอาเซียนถือเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วนการส่งออก 20.6 % คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 1.98 แสนล้านบาท ขยายตัว 25.8% โดยสินค้าหลักที่ไทยส่งออก ได้แก่ ข้าว น้ำตาลทราย แป้ง มันสำปะหลัง เครื่องดื่ม ผลไม้สด ครีมเทียม และขนมปังกรอบ เป็นต้น ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับตัว โดยเฉพาะรายเล็กที่ต้องทำสินค้าให้มีรูปแบบเฉพาะมากขึ้น และรวมกลุ่มกับผู้ผลิตรายใหญ่ เพื่อให้สินค้าเข้าไปอยู่ในสายการผลิตใหญ่ให้ได้ เพราะหากเปรียบเทียบกันในตลาดอาเซียนแล้วแล้วไทยยังเป็นอันดับ 1 ในเรื่องความน่าเชื่อถือของสินค้าอาหารอยู่มาก
"ภาพรวมการส่งออกอาหารในปีนี้ น่าจะอยู่ที่ระดับ 1 ล้านล้านบาท ได้อย่างแน่นอน จากปีก่อนที่มีมูลค่าการส่งออกที่ 9.6 แสนล้านบาท โดยปริมาณการส่งออกอาจจะเท่าเดิม แต่มูลค่าจะเพิ่มขึ้น และในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกอาหารขยายตัวประมาณ 15% จากปีก่อน"นายเพ็ชร กล่าว