posttoday

เครดิตภาษีเงินปันผลอีกสิทธิหนึ่งของผู้ถือหุ้นควรรู้

27 เมษายน 2555

โดย...สุมิตรา ตั้งสมสวรพงษ์

โดย...สุมิตรา ตั้งสมสวรพงษ์


ในช่วงเดือน เม.ย.พ.ค.ของทุกปี เป็นช่วงเทศกาลปิดสมุดทะเบียนจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ผู้ถือหุ้นในฐานะผู้รับผลประโยชน์จากผลประกอบการของ บจ. นอกจากจะมีหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลของตนให้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้บจ.สามารถจัดส่งเงินปันผลให้ถึงมือผู้ถือหุ้นแล้ว ควรรู้ สิทธิในการเครดิตภาษีเงินปันผล ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการวางแผนภาษีเงินได้ด้วย

เครดิตภาษีเงินปันผลคืออะไร

เครดิตภาษีเงินปันผลเป็นอีกสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นที่สามารถขอคืนภาษีจากกรมสรรพากรตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้เพื่อขจัดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บภาษีเงินได้ และให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้เสียภาษี กล่าวคือเมื่อ บจ. มีกำไรสุทธิ ตามภาพที่ 1 บริษัทต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม

ประการแรก ส่วนที่เหลือเป็นกำไรสุทธิหลังหักภาษี ถือว่าเป็นการจ่ายภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมินก้อนนี้แล้ว ในกรณีที่บริษัทจดทะเบียนมีการจัดสรรเงินปันผลจ่ายตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น บริษัทจดทะเบียนมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 ของเงินปันผลจ่าย เพื่อนำส่งกรมสรรพากรในนามของผู้ถือหุ้นตาม

ประการที่สอง ส่งมอบเงินปันผลหลังภาษีหัก ณ ที่จ่ายตาม

ประการที่สาม ให้ผู้ถือหุ้น ส่งผลให้กำไรสุทธิของ บจ. ต้องจ่ายภาษี 2 ครั้ง ครั้งแรก คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล และครั้งที่ 2 คือ ภาษี หัก ณ ที่จ่ายของเงินปันผล

มาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ผู้ถือหุ้น (ผู้มีเงินได้) ที่ได้รับเงินปันผลจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยได้รับเครดิตในการคำนวณภาษี โดยกำหนดมูลค่าเครดิตภาษีเงินปันผลไว้ดังนี้

**** เครดิตภาษีเงินปันผล = มูลค่าปันผล*อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทจดทะเบียนที่จ่ายปันผล

(100–อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล)

ในการคำนวณเครดิตภาษีเงินปันผล ผู้ถือหุ้นต้องคำนวณมูลค่าปันผลจากทั้งเงินปันผล (Cash Dividend) และมูลค่าของหุ้นปันผล (Equity Stock Dividend) สำหรับในกรณีที่บริษัทมีการจ่ายปันผลเป็นหุ้นด้วย ทั้งนี้ผู้ถือหุ้นต้องนำปันผลที่ได้รับจากทุกหลักทรัพย์ ในทุกครั้งที่ผู้ถือหุ้นได้รับมารวมเป็นมูลค่าเงินปันผลเพื่อคำนวณเครดิตภาษีในปีภาษีนั้นๆ ไม่สามารถเลือกเฉพาะบางหลักทรัพย์หรือการจ่ายปันผลบางครั้งได้ ทั้งนี้มูลค่าเครดิตภาษีเงินปันผลมิใช่เงินที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับคืนทั้งหมด แต่ผู้ถือหุ้นต้องนำมูลค่าเครดิตภาษีไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งจะกล่าวต่อไป โดยผู้ถือหุ้นที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้สิทธิในการขอเครดิตภาษีเงินปันผล คือ ผู้ถือหุ้นที่จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราภาษีเงินได้ของบริษัทจดทะเบียนที่จ่ายเงินปันผลให้

ผู้มีสิทธิในการขอเครดิตภาษีเงินปันผล

ตามเกณฑ์ในการเครดิตภาษีเงินปันผลของกรมสรรพากร ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ส่วนแรก คือ ผู้รับปันผลหรือผู้ถือหุ้น ต้องเป็นบุคคลธรรมดามีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย คือ มีชื่อในทะเบียนราษฎร หรือเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย หมายถึง ผู้ที่อยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดไม่น้อยกว่า 180 วันในปีภาษีนั้นๆ และส่วนที่ 2 คือ ผู้จ่ายเงินปันผลต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

อย่างไรก็ตาม ผู้ถือหุ้นที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นอาจไม่ได้รับประโยชน์จากการขอเครดิตภาษีเงินปันผลทุกคน เนื่องจากในการขอเครดิตภาษีเงินปันผลในขั้นตอนการยื่นแบบและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ขั้นตอนการยื่นแบบฯ) ผู้ถือหุ้นต้องนำเงินปันผลและเครดิตภาษีเงินปันผลมาคำนวณรวมเป็นรายได้พึงประเมิน ในส่วนที่ 1 ของภาพที่ 2 ที่ผู้ถือหุ้นยื่นภาษีบุคคลธรรมดา โดยใช้สิทธิในการเครดิตภาษีเงินปันผลตาม ภ.ง.ด.90 ส่งผลให้รายได้พึงประเมิน (รายได้รวมหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน) เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ถือหุ้นมีโอกาสที่ต้องจ่ายภาษีสูงขึ้น ขณะเดียวกันในส่วนของภาษีที่นำส่งแล้ว ผู้ถือหุ้นต้องนำเครดิตภาษีเงินปันผลและภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับเงินปันผลมารวมคำนวณเป็นภาษีที่นำส่งไว้แล้ว ในส่วนที่ 2 ของภาพที่ 2 ที่ผู้ถือหุ้นยื่นภาษีบุคคลธรรมดา โดยใช้สิทธิในการเครดิตภาษีเงินปันผลตาม ภ.ง.ด.90 ดังนั้นผู้ถือหุ้นจะต้องวางแผนภาษีให้ได้ประโยชน์สูงสุดด้วยการเลือกวิธียื่นแบบฯ ที่ส่งผลให้ยอดภาษีสุทธิที่ผู้ถือหุ้นต้องจ่ายต่ำที่สุด

ผู้ถือหุ้นสามารถขอเครดิตภาษีเงินปันผลจากปันผลของแต่ละบริษัทได้เต็มจำนวนหรือไม่

ถ้าผู้ถือหุ้นเป็นผู้มีสิทธิในการขอเครดิตภาษีเงินปันผล ผู้ถือหุ้นต้องพิจารณาเงินปันผลที่ตนได้รับ เนื่องจากเงินปันผลของแต่ละบริษัทอาจไม่สามารถขอเครดิตภาษีได้ทั้งหมด เพราะเงินปันผลที่สามารถขอเครดิตภาษีได้นั้นต้องเป็นไปตามเกณฑ์ของกรมสรรพากร อย่างไรก็ตาม ผู้ถือหุ้นไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลเรื่องเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) หรือ TSD จะนำส่งเช็ค เงินปันผล หรือหลักฐานการโอนเงินปันผลพร้อมด้วยหนังสือแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยในหนังสือดังกล่าวจะแบ่งเงินปันผลที่ได้รับออกเป็น 2 ส่วน ตามภาพที่ 3 โดยส่วนที่ 1 เป็นเงินปันผลที่สามารถขอเครดิตภาษีเงินปันผลได้ ซึ่งในการจ่ายปันผลของแต่ละบริษัทอาจมีการจ่ายในหลายอัตราได้ และส่วนที่ 2 เป็นเงินปันผลที่ไม่สามารถขอเครดิตภาษีเงินปันผลคืนได้ อาทิ เงินปันผลจากกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เนื่องจากเป็นกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นต้น ดังนั้นผู้ถือหุ้นที่ต้องการขอเครดิตภาษีเงินปันผลพิจารณาเพียงเฉพาะเงินปันผลในส่วนที่ 1 ตามภาพที่ 3 เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติบริษัทจดทะเบียนจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลในหลายอัตราตามประเภทกิจการที่ได้รับการส่งเสริม และบริษัทจดทะเบียนจ่ายเงินปันผลจากกิจการที่มีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลแตกต่างกัน ดังนั้นผู้ถือหุ้นต้องคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้ง 2 วิธี เพื่อวางแผนในการประหยัดภาษีได้ถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยทดลองคำนวณภาษีที่ตนต้องจ่ายทั้ง 2 วิธี เพื่อทราบว่าวิธีการใดที่ผู้ถือหุ้นจะได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ผู้ถือหุ้นสามารถ Download โปรแกรมช่วยในการคำนวณภาษีแบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ในเว็บไซต์ของกรมสรรพากร (www.rd.go.th)

ขั้นตอนง่ายๆ กับการขอเครดิตภาษีเงินปันผล

๐ รวบรวมเอกสารหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งผู้ถือหุ้นได้รับจาก TSD ของทุกหลักทรัพย์ของทุกครั้งที่มีการจ่ายปันผลในปีภาษีนั้นๆ ถ้าเอกสารไม่ครบมีทางเลือก คือ ติดต่อ TSD ผ่านทาง TSD Call Center ที่หมายเลขโทรศัพท์ 022292888 หรือติดต่อ TSD Counter Service หรือ Download หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยตนเองผ่านทาง Investor Portal โดยผู้ถือหุ้นต้องสมัครก่อน รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ TSD Call Center

๐ คำนวณเครดิตภาษีเงินปันผล คำนวณรวมเงินปันผลที่จ่ายอัตราเดียวกันก่อน และคำนวณเครดิตภาษีในแต่ละอัตรา และสุดท้ายรวมเครดิตภาษีเงินปันผลทุกอัตราจึงได้เครดิตภาษีเงินปันผลในปีภาษีนั้น

๐ ทดลองกรอกแบบประเมินทั้งวิธีใช้สิทธิและไม่ใช้สิทธิขอเครดิตภาษีเงินปันผล วิธีการใดประหยัดภาษีสูงสุด ผู้ถือหุ้นควรเลือกยื่นด้วยวิธีนั้น

“เรื่องการเครดิตภาษีเงินปันผลไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอย่างที่คิด ผู้ถือหุ้นควรรู้และใช้สิทธิให้เกิดประโยชน์”