posttoday

“Cabin crew arm the door and cross check.”

29 พฤษภาคม 2555

โดย...ม.ล.อัจฉราพร ณ สงขลา

โดย...ม.ล.อัจฉราพร ณ สงขลา

เวลาเราเดินทางด้วยเครื่องบิน

หลังจากที่ผู้โดยสารเข้าในเครื่องบินเรียบร้อยและประตูสุดท้ายของเครื่องบินปิดแล้ว เราจะได้ยินหัวหน้าลูกเรือสั่งผ่านไมโครโฟนว่า

“Cabin crew arm the door and cross check.” และอีกครั้งหลังจากที่เครื่องบินจอดสนิทแล้ว เราจะได้ยินหัวหน้าลูกเรือสั่งอีกประโยคว่า “Cabin crew disarm the door and cross check.” หลังจากนั้นพวกเขาก็จะเปิดประตูให้ผู้โดยสารออกจากเครื่องบิน ที่ประตูเครื่องบินนั้นจะมีลูกเรือรับผิดชอบอยู่แต่ละประตู ลูกเรือซึ่งยืนอยู่ที่ประตูจะทำตามคำสั่ง

ผู้เขียนคิดว่าปัจจุบันนี้สายการบินทั่วไปทำอย่างนี้กันหมดแล้ว เพราะช่วง 4 ปีมานี้ ผู้เขียนได้ไปโดยสารเครื่องบินหลายสายทั้งในเอเชีย ยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ แอฟริกา ก็ได้ยินทำนองนี้ และเห็นว่าสายการบินต่างๆ มีขั้นตอนการปฏิบัติการกับประตูทำนองเดียวกัน แต่อาจจะใช้คำพูดในการสั่งต่างกันบ้างเท่านั้นเอง

ก่อนอื่นขออารัมภบทข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประตูเครื่องบินเพื่อเป็นความรู้แก่คนทั่วไปสักเล็กน้อย เพราะหากไม่เขียนรายละเอียดตรรกะของประตูเครื่องบินไว้สักหน่อย บางท่านอาจจินตนาการในเรื่อง Zero Error ของการปฏิบัติการเกี่ยวกับประตูเครื่องบินไม่ออกค่ะ

ใครรู้อยู่แล้วก็คงไม่ว่ากันนะคะ

ประตูเครื่องบินเป็นเรื่องสำคัญค่ะ

ก่อนที่เครื่องบินแต่ละแบบจะผ่านการอนุญาตให้ขึ้นบินได้ ก็ต้องผ่านข้อกำหนดในการสร้างเครื่องบินและข้อกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์การบินจากสถาบันต่างๆ จึงจะนำเครื่องบินที่ผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้นั้น ที่พูดกันติดปากก็คือ FAA ค่ะ

ถ้าไม่ผ่าน เอาไปขายก็ไม่มีใครซื้อค่ะ

เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งคือเขาจะดูระบบปฏิบัติการของประตู ถ้าผู้โดยสารทั้งลำไม่สามารถหนีออกจากเครื่องบินได้ภายในเวลาที่กำหนดให้ (แต่ก่อนนั้นให้ 1 นาที) ถือว่าสอบไม่ผ่านค่ะ

แนวคิดการหนีออกจากสถานที่อย่างรวดเร็วนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ พวกโรมันเมื่อ 2,000 ปีก่อน หากสร้างอาคารขึ้นมาใช้ประโยชน์จะคิดถึงเรื่องความปลอดภัยในการหนีเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน

จะเห็นว่า Colosseum Odeon Hippodrome Bath หรือเทวาลัยใหญ่ๆ ของโรมันไม่ว่าที่ไหนในจักรวรรดิ ตั้งแต่ตะวันออกกลาง คาบสมุทรอิตาลีไปถึงปลายคาบสมุทร Iberia คนที่อยู่ภายในอาคารสถานที่เหล่านั้นทั้งหมดจะใช้เวลาในการหนีออกจากอาคารได้ภายในเวลานิดเดียว

Colosseum ที่ Rome Verona Niems จุคนหลายหมื่น แต่คนจะหนีได้หมดภายใน 35 นาทีเท่านั้น เครื่องบินก็มีแนวคิดเหมือนกับพวกโรมันค่ะ

ครูกิตติฯ ของการบินไทย บอกว่า สายการบินไทยจะฝึกพนักงานอย่างเข้มงวดในเรื่องการช่วยเหลือผู้โดยสารออกจากเครื่องบินในกรณีฉุกเฉิน พนักงานต้องเข้าฝึกและสอบทุก 12 เดือน ใครขาดฝึกหรือสอบไม่ผ่าน 90% จะถูกกราวด์ไม่ให้บิน

ครูกิตติฯ โหดมากค่ะ ส่วนทางกรมการบินพาณิชย์ทั้งของไทยและที่สถานีต่างประเทศก็จะมาสุ่มตรวจทั้งเครื่องบินและลูกเรือบนเครื่องบินด้วย

กลับมาที่บนเครื่องบินต่อค่ะ เวลาเราขึ้นเครื่องบิน เราสังเกตง่ายๆ จะเห็นว่าพวกลูกเรือของเครื่องบินทุกลำจะยืนที่บริเวณประตู ผู้เขียนเห็นพนักงานหลายสายการบินจะไม่เดินไปจากจุดนั้น ถ้าผู้โดยสารไม่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ เขาจะไม่เคลื่อนจากจุดนั้นไปที่จุดไหนเด็ดขาด โดยเฉพาะสายการบินฝรั่งนั้น ผู้โดยสารจะขอให้เขามาช่วยยกกระเป๋าใส่ในที่เก็บสัมภาระ ผู้โดยสารบางท่านแอบใส่น้ำหนักในกระเป๋าเกือบ 20 กิโล ทั้งๆ ที่เขาให้เพียง 5 กิโล แล้วขอให้ลูกเรือช่วยยก นอกจากเขาไม่ยกให้แล้วยังอาจเอากระเป๋าที่หนักมากออกจากเครื่องบิน ให้ไปจ่ายเงินค่าน้ำหนักเกิน แล้วเอาไปใส่ไว้ใต้ท้องเครื่องบินค่ะ

ตอนที่รับส่งผู้โดยสาร และตอนเครื่องบินขึ้นหรือลง เราจะสังเกตเห็นว่าพนักงานบนเครื่องบินจะนั่งบนเก้าอี้พับได้ซึ่งติดตั้งอยู่ที่บริเวณประตูเหตุผลเพราะหากไปนั่งที่ผู้โดยสารนั้นทำให้สายการบินขาดรายได้ประการหนึ่ง และตำแหน่งเก้าอี้ของพวกเขานั้นมีความสะดวกหากเกิดกรณีฉุกเฉิน พวกเขาจะสามารถช่วยผู้โดยสารหนีออกจากเครื่องบินไดัสะดวกอีกประการหนึ่ง

ตรรกะของประตูเครื่องบินที่สำคัญ คือความสะดวกของระบบการเปิดปิดประตู และการวางตำแหน่งที่สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารในแต่ละส่วนให้มาใช้แต่ละประตูในกรณีฉุกเฉิน

ประตูของเครื่องบินแต่ละบริษัทไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละบริษัทมีเทคโนโลยีของตัวเองและกลัวเรื่องลิขสิทธิ์ค่ะ จะทำอะไรทั้งทีก็ต้องให้ต่างจากบริษัทอื่น

ประตูเครื่องบินลำตัวกว้างจะมีขนาดเบ้อเริ่มตามขนาดเครื่องบิน เมื่อก่อนนั้นประตูเครื่องบินของบางบริษัทต้องเปิดด้วยไฟฟ้า แต่ประตูเครื่องบินสมัยนี้แม้จะใหญ่สักเพียงใด แต่ก็สามารถเปิดด้วยแขนกันเรียวเล็กของแอร์โฮสเตสนี่แหละค่ะ

ประตูของเครื่องบินคนละบริษัทกันมองเผินๆ ดูเหมือนว่าจะคล้ายๆ กัน แต่ก็จะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เอาเป็นว่ากิ๊บเก๋ไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่เครื่องบินของบริษัทเดียวกันแต่ละรุ่นก็จะไม่เหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตามขอให้ผู้โดยสารที่นั่งอยู่บริเวณประตูเครื่องบินสบายใจได้ว่า

จะเปิดได้เฉพาะตอนจอดอยู่บนพื้นดินเท่านั้น เมื่อบินขึ้นไปแล้วใครไปทะลึ่งเปิดเพื่อจะกระโดดออกจากเครื่องบิน หรือจะออกไปเดินเล่นบนก้อนเมฆไม่ได้ เพราะจะเปิดประตูไม่ออกค่ะ เนื่องจากแรงดันอากาศในเครื่องบินสูงกว่าภายนอกเครื่องบินมาดันประตูไว้ และประตูเครื่องบินจะออกแบบเป็นแบบ Plug Type

คุณสมบัติที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งของประตูเครื่องบินนอกจากไว้ให้ผู้โดยสารใช้เข้าออกจากเครื่องบินแล้ว คือได้มีการติดตั้งอุปกรณ์ช่วยให้ผู้โดยสารหนีออกจากเครื่องบินในกรณีฉุกเฉินค่ะ

อุปกรณ์ฉุกเฉินที่ว่านั้น คือ Slide ซึ่งเป็นยางสังเคราะห์ Slide ที่ว่านั้นจะถูกพับเก็บไว้เป็น Pack ติดและเก็บไว้ที่ประตูนั่นแหละค่ะ หากท่านกำลังนั่งอ่านโพสต์ทูเดย์ ตอนนี้ลองเดินไปดูที่ประตูเครื่องบินได้ค่ะ ส่วนของประตูที่ท่านเห็นป่องๆ นูนๆ ครอบที่ส่วนล่างของประตูนั้นแหละค่ะ เจ้า Slide ตัวเก่งถูกพับเก็บอยู่ในนั้นค่ะ

เขาทำไว้ดีค่ะ เราดูแทบไม่ออก ถ้าผู้โดยสารเผลอไปหย่อนก้นนั่งหรือแค่เอาสะโพกแตะกล่องนั้นที่ประตู พวกลูกเรืออาจจะส่งเสียงกรี๊ดจนผู้โดยสารบริเวณนั้นตกอกตกใจกันค่ะ เพราะถ้ากล่องนั้นแตกออกมาก็จะกลายเป็นหนังอีกม้วนค่ะ

เพื่อสวัสดิภาพของตัวท่านเองและของผู้โดยสารอีกหลายท่านในเครื่องบินผู้โดยสารที่ไปยืนบริเวณประตูเครื่องบินไม่ควรไปพิงหรือนั่งบนกรอบ หรือกล่องที่ติดอยู่ที่ประตูเครื่องบินนะคะ

ขอเรียนอีกนิดว่า Slide ยางที่ติดตั้วไว้ในกล่องหรือกรอบนั้น แต่ละตัวราคาแพงมากค่ะ เพราะคุณสมบัติมันไม่ใช่ Slide ธรรมดา ถ้าอธิบายคงจะยาวยืดไปอีก

บริษัทที่ผลิต Slide อาจเป็นบริษัท Goodrich หรือระดับนั้น ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำอุปกรณ์เกี่ยวกับยางสังเคราะห์หลายอย่างซึ่งติดตั้งอยู่ในกระสวยอวกาศและผลิตยางรถยนต์ให้กับรถ Formula 1

Slide ยางสังเคราะห์ซึ่งเก็บอยู่ในกล่องติดอยู่ที่บางตำแหน่งของประตูเป็นแค่ Slide อย่างเดียว แต่บางตัวหากลงน้ำจะใช้เป็นแพยาง (Raft) ได้ด้วย

กลไกการทำงานของ Slide ทุกตัวพร้อมทำงานทันทีหลังจากที่หัวหน้าลูกเรือในเที่ยวบินสั่งผ่านผ่านไมโครโฟนว่า “Cabin crew arm the door and cross check.”

เนื้อความในคำสั่งนี้ หากพิจารณาแล้วมีอยู่ 2 ส่วนค่ะ คือ “Arm the door” และอีกส่วนนั้น คือ “Cross Check” “Arm the door” ก็คือการติดไกทำงานให้กับ Slide แล้วทำไมต้องมีคำว่า “Cross Check” ตามมาด้วยล่ะค่ะ เราจะเข้าไปดูเรื่อง Zero Error เกี่ยวกับเรื่องนี้ในวันอังคารหน้า ซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่ท่านอาจนำไปใช้ในการปฏิบัติงานในองค์กรท่านค่ะ m

(อ่านต่อวันอังคารหน้าค่ะ)