posttoday

การจัดการทรัพย์สินโดยการจัดตั้งทรัสต์ (Trust) ต่างประเทศของบริษัทธุรกิจครอบครัว กฎหมายไทยควรแก้ไขหรือไม่

05 มิถุนายน 2555

(7) ข้อดีของการจัดตั้งทรัสต์ในต่างประเทศ

(7) ข้อดีของการจัดตั้งทรัสต์ในต่างประเทศ

ในต่างประเทศ การจัดตั้งทรัสต์มีข้อดีหลักๆ คือ เพื่อไม่ให้ต้องมีการพิสูจน์พินัยกรรม (Probate) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยากและใช้เวลา นอกจากนี้ การจัดตั้งทรัสต์ยังช่วยให้ทรัพย์สินของกองทรัสต์ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมรดก และเจ้าหนี้ของผู้ก่อตั้งทรัสต์ไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของกองทรัสต์ได้ เป็นต้น นอกจากนี้ การจัดตั้งทรัสต์นั้นยังมีข้อดีอยู่หลายประการ และทรัสต์ต่างประเทศอาจถือหุ้นของบริษัทโฮลดิงในประเทศไทยได้

(7.1) ช่วยบริหารจัดการธุรกิจโฮลดิงของครอบครัวในต่างประเทศ

การจัดการธุรกิจโฮลดิงในต่างประเทศในหลายครอบครัวอาจใช้ระบบความไว้เนื้อเชื่อใจกันเป็นหลัก เช่น อาจมีสัญญาใจกันว่าเมื่อสมาชิกในครอบครัวได้รับเงินปันผลจากหุ้นของธุรกิจครอบครัวหรือบริษัทโฮลดิงในต่างประเทศแล้ว จะหักเงินจำนวนตามที่ตกลงกันไว้ เช่น 2% เพื่อเป็นเงินกงสีสำหรับใช้จ่ายในกิจการส่วนรวมของครอบครัว เป็นต้น การจัดการเงินกงสีอย่างไม่เป็นทางการนี้ มีข้อดีคือไม่ต้องมีกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อน แต่ก็อาจมีข้อเสียเนื่องจากอาจทำให้สมาชิกในครอบครัวผิดใจกันได้ง่าย หากมีสมาชิกบางครอบครัวไม่ส่งเงินกงสีตามข้อตกลง หรืออาจเกิดปัญหาขึ้นได้ในกรณีที่ผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินกงสีถึงแก่ความตาย เนื่องจากตามกฎหมายแล้วเงินดังกล่าวจะต้องตกเป็นของทายาทหรือผู้รับพินัยกรรมของผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีนั้น เป็นต้น กรณีในประเทศไทยอาจมีปัญหาเรื่องภาษีและการทำข้อตกลงกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวว่าจะเอาเงินเป็นจัดสรรผลประโยชน์ไว้อย่างไร

การจัดตั้งทรัสต์สามารถช่วยให้การบริหารจัดการบริษัทโฮลดิงของครอบครัวในต่างประเทศเป็นไปอย่างมีระบบ โดยให้ทรัสตีเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทครอบครัวตามจำนวนที่กำหนดและให้จัดสรรเงินดังกล่าวให้แก่สมาชิกในครอบครัว ซึ่งเป็นผู้รับผลประโยชน์ ตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินของกงสี เช่น จ่ายเป็นเงินค่าสนับสนุนการศึกษา หรือเงินทุนเริ่มต้นการประกอบธุรกิจ เป็นต้น

ตัวอย่างโครงสร้างทรัสต์สำหรับบริษัทโฮลดิงของครอบครัวในต่างประเทศ

จากแผนภูมิตัวอย่างข้างต้น เนื่องจากกฎหมายไทยไม่อนุญาตให้ตั้งทรัสต์ในประเทศไทย แต่หากผู้ถือหุ้นมีทรัสต์หรือเงินได้ในต่างประเทศ โดยตอบกฎหมายอยู่แล้ว การจัดตั้งทรัสต์ถือหุ้นฝ่ายบริษัทโฮลดิงในประเทศไทยก็จะทำได้ โดยรอเอาเงินปันผลไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ของเจ้าของ

7.2 ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาการแย่งชิงมรดกระหว่างทายาท

เนื่องจากภายหลังจากที่ผู้ก่อตั้งทรัสต์จัดตั้งทรัสต์ขึ้นสมบูรณ์แล้ว ทรัพย์สินที่ผู้ก่อตั้งทรัสต์ยกให้กองทรัสต์จะไม่ถือว่าเป็นของผู้ก่อตั้งทรัสต์อีกต่อไป ดังนั้น เมื่อผู้ก่อตั้งทรัสต์ถึงแก่ความตาย ทรัพย์สินของกองทรัสต์ก็จะไม่ถือว่าเป็นทรัพย์มรดกของผู้ก่อตั้งทรัสต์ แต่เป็นของกองทรัสต์โดยมีทรัสตีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และมีหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สินดังกล่าวและจัดผลประโยชน์ในทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วก็คือคู่สมรสและทายาทของผู้ก่อตั้งทรัสต์ ดังนั้น การจัดตั้งทรัสต์จึงสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาการแย่งชิงมรดกระหว่างทายาทได้ และกำหนดเงื่อนไขกับผลประโยชน์ไว้ให้ชัดเจนตามเจตนารมณ์ของเจ้าของมรดก

7.3 ช่วยเพิ่มช่องทางการลงทุนในต่างประเทศและในประเทศไทย

การตั้งทรัสต์ในต่างประเทศสามารถช่วยเพิ่มช่องทางในการลงทุนในต่างประเทศได้อีกด้วย โดยผู้ก่อตั้งทรัสต์อาจกำหนดให้ทรัสตีหรือที่ปรึกษาการลงทุนในต่างประเทศเป็นผู้ดูแลนำทรัพย์สินของกองทรัสต์ หรือผลประโยชน์ที่ได้จากทรัพย์สินของกองทรัสต์ไปลงทุนในต่างประเทศ หรือในประเทศไทยในรูปแบบต่างๆ ได้ เช่น การให้ทรัสต์ถือหุ้นบริษัทโฮลดิงมาถือหุ้นหรือทรัพย์สินในประเทศไทยตามแผนภูมิ

บทสรุป

เมื่อพิจารณาจากความเปลี่ยนแปลงของสังคมเศรษฐกิจและการเปิดเสรีการค้าการลงทุนที่จะทำให้คนไทยออกไปตั้งทรัสต์ในต่างประเทศได้มากขึ้นแล้ว ผมจึงยังคงสงสัยว่า แล้วทำไมกฎหมายไทยจึงยังห้ามตั้งทรัสต์อยู่ ทั้งๆ ที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่ธุรกิจในประเทศไทย ผมจึงเสนอให้พิจารณายกเลิกกฎหมายแพ่งในการห้ามตั้งทรัสต์และออกกฎหมายทรัสต์เช่นเดียวกับต่างประเทศครับ เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยมีทางเลือกมากขึ้น และจะเป็นประโยชน์ในระยะยาว และยังเป็นการสร้างธุรกิจครอบครัวไทยให้พัฒนาและสืบทอดธุรกิจได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย