"ไม่ต้องสปอยล์ลูกหลาน" แนวคิด3 เถ้าแก่ใหญ่สือทอดธุรกิจให้เติดโตอย่างยั่งยืน
ปัจจุบันธุรกิจของตระกูลใหญ่ๆ ในประเทศไทยต่างก็เป็นธุรกิจที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ แต่ก็มีหลายๆ ธุรกิจที่ไม่สามารถก้าวล่วงไปสู่การสืบทอดให้ทายาทรุ่นที่ 3
โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล
ปัจจุบันธุรกิจของตระกูลใหญ่ๆ ในประเทศไทยต่างก็เป็นธุรกิจที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ แต่ก็มีหลายๆ ธุรกิจที่ไม่สามารถก้าวล่วงไปสู่การสืบทอดให้ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลได้ เนื่องจากมีแนวคิดในการทำงานไม่เหมือนกัน หรือไม่ก็ธุรกิจตัวนั้นอยู่ในช่วงขาลงจนไม่สามารถยืนหยัดต่อไปได้
ดังนั้น ทางหอการค้าไทยจึงได้จัดเสวนาเรื่อง “สืบทอดธุรกิจครอบครัวอย่างไร : ให้ราบรื่นและเติบโตได้อย่างยั่งยืน” ภายใต้โครงการ Family Business ของศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
โดยมี 3 เถ้าแก่ใหญ่จาก 3 ธุรกิจ อย่าง อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บริษัท น้ำตาลมิตรผล ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานกรรมการ เครือเบทาโกร และประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการ บริหาร บริษัท ศุภาลัย มาร่วมแชร์ประสบการณ์และแนะนำแนวคิดการ บริหารงานในรูปแบบธุรกิจครอบครัว
เริ่มจากพี่ใหญ่สุด ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานกรรมการเครือเบทาโกร ผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ของไทย ซึ่งขณะนี้ธุรกิจก้าวเข้าสู่ทายาทรุ่นที่ 3 แล้ว โดยเถ้าแก่ ชัยวัฒน์ เล่าให้ฟังว่า เบทาโกรเริ่มจากธุรกิจโรงสีข้าวของครอบครัว ก่อนจะขยับขยายมาเป็นโรงงานผลิตอาหารสัตว์ในปัจจุบัน
กระนั้นมีแนวคิดว่าการสืบทอดธุรกิจครอบครัวไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นลูกหลานเท่านั้น แต่ควรจะเป็นผู้ที่รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตัวเอง ควรจะปล่อยให้ลูกหลานไปลองทำงานที่อื่นเพื่อหาประสบการณ์ก่อน เพื่อให้รู้จักเรียนรู้สังคมว่าระดับความรู้ที่เรียนจบว่าจะหางานที่อื่นทำได้หรือไม่ จะได้รับเงินเดือนในระดับใด และจะสามารถยอมรับสังคมนั้นได้หรือไม่ เพราะการสอนให้เรียนรู้งานตั้งแต่พื้นฐานจนถึงแก่นจะดีกว่าปล่อยให้ลูกหลานคิดว่ามีพ่อแม่รวยอยู่แล้ว จนกลายเป็นคนนิสัยเสียไม่รู้จักค่าของเงิน
“อยากฝากบอกพ่อแม่ว่าต้องสอนลูกให้รู้จักใช้ชีวิต รู้จักค่าของเงิน อย่าเอาลูกหลานตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่ต้องดูด้วยว่าลูกหลานตัวเองมีความสามารถแค่ไหน เพราะหากมีความสามารถแค่ 30% ขณะที่คนอื่นมีความสามารถและเหมาะสมกว่า แล้วยังจะพยายามผลักดันลูกหลานตัวเองขึ้นไป อันนั้นถือว่าเป็นเรื่องอันตรายของธุรกิจครอบครัว” ชัยวัฒน์ กล่าว
ด้าน อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัท น้ำตาลมิตรผล ก็เป็นธุรกิจในครอบครัวที่เริ่มจากการเป็นชาวไร่อ้อยก่อนจะพลิกผันกลายเป็นเจ้าของโรงงานน้ำตาลรายใหญ่ของไทย ที่วันนี้สืบทอดธุรกิจเป็นรุ่นที่ 2 แล้ว แต่กลับมีแนวคิดว่าการเลือกที่จะส่งไม้ต่อธุรกิจครอบครัวให้ใครนั้น จะต้องพิจารณาดูจากพื้นฐานความสามารถจริงๆ ของคนนั้น ซึ่งบางทีไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นลูกหลานของตัวเองด้วยซ้ำไป
เนื่องจากมองว่าการทำธุรกิจนั้น ต้องแยกกันระหว่างธุรกิจกับครอบครัว เพราะการทำธุรกิจต้องมีกำไร ต้องเติบโต ส่วนครอบครัวควรมองรองลงมา เพราะเรื่องการถ่ายทอดมรดกการเงินนั้นทำได้ง่าย แต่การจะถ่ายทอดมรดกทางแนวคิดและความสามารถในการดำเนินธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืนนั้นยากกว่า
แน่นอนว่า เมื่อเป็นธุรกิจครอบครัวที่พี่น้องแต่ละคนในครอบครัวต่างก็มีความสามารถ จึงทำให้ธุรกิจในเครือของครอบครัวว่องกุศลกิจแตกออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มธุรกิจน้ำตาล (มิตรผล) กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (โรงแรมในเครือเอราวัณและไอบิส) และกลุ่มธุรกิจพลังงาน (บ้านปู)
ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดความขัดแย้งกับสมาชิกในครอบครัว อิสระ บอกว่า การคัดเลือกซีอีโอคนนอกต้องมีขั้นมีตอน มีระบบในการคัดเลือก มีหลักสูตร มีการทดสอบ ที่ต้องอยู่ในการรับรู้ของสมาชิกครอบครัว จึงมีการตั้งคณะกรรมการในครอบครัวมาให้ความเห็นและประเมินการคัดเลือกคน โดยที่ปรึกษาจะคอยรายงานผลเป็นระยะ
อย่างไรก็ตาม ปรัชญาในการดำเนินธุรกิจของ “ตระกูลว่องกุศลกิจ” คือ การมีสภาครอบครัวคอยกำกับดูแลสมาชิกในครอบครัว ขณะที่ธุรกิจก็มีคณะกรรมการ บริหารดูแลกิจการให้สิ่งที่สืบทอดถึงกันได้ ไม่ว่าจะเจ้าของหรือผู้บริหารมืออาชีพ คือการเรียนรู้ในปรัชญาธุรกิจอย่างมุ่งสู่ความเป็นเลิศ เชื่อมั่นในคุณค่าของคน ตั้งอยู่ในความเป็นธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคม ขณะที่ธรรมนูญครอบครัวคือ ต้องเป็นคนดี มีน้ำใจ ขยัน ห้ามพูดปด ใจบุญ คิดให้ลึกซึ้ง เอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักบุญคุณคน ซื่อตรง พูดแล้วต้องทำได้
ด้าน ประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย ก็เป็นอีกหนึ่งที่สืบทอดธุรกิจครอบครัวเป็นรุ่นที่ 2 และเป็นการต่อยอดจากธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัวที่ทำรับเหมาก่อสร้าง กล่าวว่า การสืบทอดธุรกิจครอบครัวให้ราบรื่นและยั่งยืนนั้น จะต้องใช้วิธีการผสมผสานกันระหว่างแนวคิดของคนรุ่นเก่าที่มีมุมมองกว้างไกลกว่าและแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้แบบเจาะลึกในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
“บางครั้งบางทีการถ่ายทอดธุรกิจครอบครัวนั้น ก็สามารถใช้สายสัมพันธ์นี้ ให้เป็นประโยชน์ได้ด้วย คือคนรุ่นเก่ามีองค์ความรู้ ส่วนคนรุ่นใหม่อย่างตัวทายาทนั้น ก็มีการจัดการเพื่อรักษาองค์ความรู้นั้นเอาไว้ เกิดเป็นกระบวนการที่เรียกว่า Knowledge Management ในที่สุด” ประทีป กล่าว
ที่สำคัญต้องใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาตำแหน่งตามความสามารถเช่นเดียวกับพนักงานคนอื่นๆ โดยอาจใช้วิธีการจ้างบุคคลที่สามจากภายนอกมาเป็นผู้ประเมินแทน เพื่อให้เป็นระบบมาตรฐานเดียวกัน ไม่เช่นนั้นจะทำให้การปกครองลูกน้องเสีย
อย่างไรก็ดี การเป็นทายาทสืบทอดธุรกิจที่ดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหากต้องมาอยู่ในตำแหน่งผู้สืบทอดก็ต้องทำให้ลูกจ้างคนอื่นยอมรับให้ได้ แม้กับผู้ที่อาวุโสกว่า ก็ต้องมีบทบาทที่เหมาะสม ต้องเรียนรู้ว่ามีการวางตัวอย่างไร ทำงานอย่างไรให้เป็นที่ยอมรับ
สำหรับเรื่องความขัดแย้งทางด้านธุรกิจภายในครอบครัว ก็ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา อยู่ที่ว่าแต่ละครอบครัวจะมีวิธีการจัดการและเปิดใจยอมรับได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยส่วนใหญ่จะมีโมเดลที่เป็นธุรกิจครอบครัว มีทายาทสืบต่อแบบนี้ค่อนข้างมากและไม่ใช่สิ่งใหม่ของสังคมไทย ดังนั้นศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัวและ SMEs มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จึงได้จัดโครงการอบรมสัมมนา “เจาะลึกแนวโน้มธุรกิจครอบครัวไทยสู่อนาคต” (Megatrends in Family Business) ขึ้นในวันที่ 24 ก.ค.นี้ ที่ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ราษฎร์บูรณะ
ให้สมดังคำพังเพยสุดคลาสสิกและเป็นจริงเสมอมาว่า “ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น”