"สยามอินดิก้า" ชื่อนี้ไม่ธรรมดา
ชื่อของบริษัท สยามอินดิก้า ได้โผล่ขึ้นมาเป็นขาใหญ่ในวงการค้าข้าวเมื่อปี 2551 ซึ่งโดดเด่นขึ้นมาในฐานะของบริษัทลูกของกลุ่มเพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ ที่ถูกธนาคารเจ้าหนี้รุมฟ้องล้มละลาย เพราะไม่ยอมชำระหนี้เงินกู้
ชื่อของบริษัท สยามอินดิก้า ได้โผล่ขึ้นมาเป็นขาใหญ่ในวงการค้าข้าวเมื่อปี 2551 ซึ่งโดดเด่นขึ้นมาในฐานะของบริษัทลูกของกลุ่มเพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ ที่ถูกธนาคารเจ้าหนี้รุมฟ้องล้มละลาย เพราะไม่ยอมชำระหนี้เงินกู้
การกลับมาเป็นขาใหญ่ในวงการค้าขาวครั้งนี้ ก็สร้างความฮือฮาไม่แพ้กลุ่มเพรซิเดนท์ฯ เนื่องจากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ทำให้ข้าวไปอยู่ในมือองค์การคลังสินค้า (อคส.) และผู้ส่งออกข้าวกล่าวหาว่า สยามอินดิก้าเป็นผู้ค้าข้าวรายเดียวที่กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวให้ ในขณะที่ผู้ส่งออกรายอื่นไปขอซื้อจะถูกปฏิเสธ
ข้อมูลล่าสุดของบริษัท สยามอินดิก้า จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเมื่อปี 2551 ระบุว่า มีกรรมการ 2 คน คือ อนุ จารุศิลาวงศ์ และรัตนา แซ่เฮง จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2547
ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2548 เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เพรซิเดนท์ ไรซ์ บาวด์ และกลับมาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบริษัท สยามอินดิก้า อีกครั้งเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2550
ทั้งนี้ คนในแวดวงค้าข้าวระบุว่า ชื่อกรรมการทั้งสองคนของบริษัทนี้ เคยเป็นพนักงานบริษัท เพรซิเดนท์ฯ
บริษัท เพรซิเดนท์ฯ ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของ 9 ธนาคาร วงเงินรวม 1.2 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินต้นประมาณ 8,800 ล้านบาท โดยมี อภิชาติ จันทร์สกุลพร ประธานกลุ่มบริษัท เพรซิเดนท์ฯ เป็นผู้ค้ำประกันโดยส่วนตัวทั้งจำนวน
เจ้าหนี้รวมตัวไปร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า ผู้บริหารของเพรซิเดนท์ฯ ยักย้ายถ่ายเทข้าว ซึ่งถือเป็นหลักประกันสินเชื่อแอบขายออกไป และไม่มีเงินมาชำระหนี้ เข้าข่ายฉ้อโกง จึงฟ้องร้องผู้บริหารทั้งทางแพ่งและอาญา
ในขณะที่เพรสซิเดนท์ฯ กำลังกลายเป็นเสือลำบาก ปรากฏว่าคณะกรรมการธนาคารกรุงไทยได้อนุมัติให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อ 2,5003,000 ล้านบาท ให้กับบริษัท สยามอินดิก้า ซึ่งเป็นบริษัทลูก ที่ตั้งขึ้นใหม่ของกลุ่มเพรซิเดนท์ฯ เพื่อนำไปซื้อข้าวจากโรงสีเพื่อการส่งออก ทั้งที่โดยปกติหากลูกหนี้เป็นเอ็นพีแอลก็จะต้องถูกระงับสินเชื่อ
วิธีการที่บริษัท สยามอินดิก้า เสนอต่อธนาคารกรุงไทย คือ เข้ามายื่นเป็นผู้ขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ (บริษัท เพรซิเดนท์ฯ ที่กำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการฟ้องล้มละลาย) ปรากฏว่าบริษัท สยามอินดิก้า กับบริษัท สยามธัญรักษ์ ได้ใช้วิธีเข้าไปเสนอขอปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัท เพรซิเดนท์ฯ ที่มีต่อธนาคารกรุงไทย ในวงเงินต้น 1,062,365,744.14 บาท ด้วยการเข้าไปซื้อหนี้ของบริษัท เพรซิเดนท์ฯ
พร้อมกันนั้น ธนาคารกรุงไทยได้โอนสิทธิภายใต้สัญญาค้ำประกันที่ธนาคารมีอยู่กับบริษัท เพรซิเดนท์ฯ ให้กับบริษัท สยามอินดิก้า และบริษัท สยามธัญรักษ์ โดยสัญญาซื้อหนี้ได้กระทำกันขึ้นในเดือน ส.ค. 2550
ทั้งนี้ สัญญาสินเชื่อประเภทต่างๆ มีทั้งสัญญาที่ธนาคารทำไว้กับบริษัท เพรซิเดนท์ฯ อาทิ สัญญารับชำระหนี้ค่าข้าวในวงเงินสินเชื่อเพื่อการส่งออก (Packing Credit) สินเชื่อวงเงินซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) สินเชื่อหนังสือค้ำประกัน (Counter Guarantee) สินเชื่อการซื้อ/ซื้อลดตั๋วสินค้าออกภายใต้เลตเตอร์ออฟเครดิต และยังมีสัญญาค้ำประกันที่ธนาคารกรุงไทยทำไว้กับอภิชาติอีกด้วย
ต่อมาบริษัท สยามอินดิก้า ก็ได้ยื่นขอสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทยในวงเงิน 1,050 ล้านบาท ในวงเงินกู้ประจำ Term Loan โดยมีหลักประกันเป็นที่ดินหลายแปลงใน อ.ป่าโมก กับ อ.บางมูลนากเครื่องจักร จำนำใบหุ้นสามัญบริษัท สยามอินดิก้า มีกำหนดชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 11 ปี 2 เดือน โดยสัญญาฉบับนี้ทำกันในเดือน พ.ค. 2551
พร้อมกับทำหนังสือยืนยันและรับรองกับธนาคารกรุงไทยว่า บริษัท สยามอินดิก้า ไม่ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหนี้กับธนาคารแทนหรือในนามของบริษัท เพรซิเดนท์ฯ และบริษัทจะไม่ขายหรือโอนหนี้ที่ซื้อไปจากธนาคารภายใต้สัญญาซื้อขายหนี้ให้กับบริษัท เพรซิเดนท์ฯ หรือบุคคลที่ถือได้ว่าเป็นกลุ่มเดียวกันกับบริษัท เพรซิเดนท์ฯ
แต่ผู้บริหารธนาคารชี้แจงว่าร เงินกู้ดังกล่าวเจ้าหนี้ควบคุมได้คือจะไม่ส่งตรงไปที่บริษัท แต่จะจ่ายให้กับการซื้อข้าวจากโรงสีต่างๆ ในอัตรา 80-85% ของราคาที่ตกลงกัน และธนาคารจะเก็บเอกสารหลักฐานการสั่งซื้อไว้เป็นหลักฐาน เพื่อใช้ในการเก็บเงินจากการขายข้าวของบริษัท สยามอินดิก้า ให้กับต่างประเทศ
อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ หากไม่ให้สยามอินดิก้ากู้เงิน โอกาสที่จะได้หนี้คืนแทบจะไม่มี แม้ธนาคารเจ้าหนี้ทั้งหมดจะตั้งสำรองหนี้เสียของเพรสซิเดนท์ไปแล้ว แต่ถ้าให้เงินกู้ไปให้ทำธุรกิจต่อและมีเงินมาคืน ย่อมดีกว่าปล่อยให้เพรซิเดนท์เป็นหนี้เสียที่ไม่ได้อะไรกลับคืนมาเลย เพราะข้าวที่เป็นหลักประกันค้ำเงินกู้ก็ไม่มี
เมื่อได้เงินกู้ ก็เท่ากับสยามอินดิก้าซึ่งก็คือเพรซิเดนท์ฯ แปลงตัวมา ก็ติดปีกอีกครั้ง กลับเข้าสู่วงการกลายเป็นผู้ค้าข้าวรายใหญ่อีกครั้ง
สำหรับในด้านมูลหนี้ของกลุ่มบจก. เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง กรุ๊ป ปัจจุบันเมื่อบวกดอกเบี้ยกับเงินต้นในส่วนของธนาคารพาณิชย์แล้วมีถึง 8,637ล้านบาทประกอบด้วย บจก. เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง เป็นผู้กู้หลัก โดยมีธนาคารพาณิชย์(ธ.)ที่ร่วมปล่อยกู้ถึง9แห่ง คือ ธ.กรุงเทพ มูลหนี้ 1,422 ล้านบาท ,ธ.ทหารไทยมูลหนี้ 1,472 ล้านบาท, ธ.ไทยธนาคารมูลหนี้ 1,324 ล้านบาท, ธ.เอชเอสบีซี มูลหนี้ 1,160 ล้านบาท, ธ.กรุงไทยมูลหนี้ 1,142 ล้านบาท ,ธ.ยูโอบีมูลหนี้ 585 ล้านบาท, ธ.กสิกรไทยมูลหนี้ 143 ล้านบาท, ธ.อิสลามแห่งประเทศไทย(ธอท.)200 ล้านบาท และวงเงินกู้ของบจก. เพรซิเดนท์ แกรนไซโล กับธ.ทหารไทยอีก จำนวน 755 ล้านบาท กับธ.ไทยธนาคารอีก 405 ล้านบาท โดยมีนายอภิชาต จันทร์สกุลพร ประธานกลุ่มบริษัทเพรซิเดนท์ฯ เป็นผู้ค้ำประกันโดยส่วนตัวทั้งจำนวน
และครั้งนี้ก็อื้อฉาวไม่ต่างจากครั้งอื่นๆ ที่ในวงการค้าข้าวระบุว่า ความสัมพันธ์ทางการเมืองของเพรซิเดนท์ฯ กับรัฐบาลไทยรักไทย ที่แปลงร่างมากเป็นเพื่อไทย แนบแน่นเหมือนเดิม