บ้านหุ่นเหล็กแนวคิดไม่เหมือนใคร
ธุรกิจติดดาวพาคุณๆ ทั้งหลายมาเจอกับหุ่นเหล็กที่บ้านหุ่นเหล็ก อ.เมือง จ.อ่างทอง ที่นี่เป็นสถานที่ซึ่งนำเอาเศษเหล็กและวัสดุต่างๆ ของเครื่องจักรกลมาสร้างเป็นชิ้นงาน เป็นหุ่นต่างๆ ที่เราจินตนาการไม่ออก แต่เขาสามารถรังสรรค์ออกมาได้
ธุรกิจติดดาวพาคุณๆ ทั้งหลายมาเจอกับหุ่นเหล็กที่บ้านหุ่นเหล็ก อ.เมือง จ.อ่างทอง ที่นี่เป็นสถานที่ซึ่งนำเอาเศษเหล็กและวัสดุต่างๆ ของเครื่องจักรกลมาสร้างเป็นชิ้นงาน เป็นหุ่นต่างๆ ที่เราจินตนาการไม่ออก แต่เขาสามารถรังสรรค์ออกมาได้
ที่นี่มีหุ่นต่างๆ ที่สร้างจากเศษเหล็กวางเรียงรายอยู่มากมาย ทั้ง จูราสสิคพาร์ค เอเลี่ยน พรีเดเตอร์ อะตอม ฯลฯ จัดวางไว้สวยงาม
วัสดุที่นำมาใช้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเศษวัสดุของเครื่องจักรกล วัสดุเศษเหล็กจากเครื่องยนต์ต่างๆ มาเชื่อมต่อประดิษฐ์เป็นหุ่นที่สวยงาม
ธุรกิจของหุ่นเหล็กที่รังสรรค์ออกมาสามารถที่จะสร้างรายได้ให้กับคนที่คิด คนที่ทำได้อย่างดีเยี่ยม
ธุรกิจสร้างหุ่นยนต์มาจากเศษเหล็กที่ไร้ค่าของเขาขจรกระจายๆ ไปไกลในต่างแดน
ไพโรจน์ ถนอมวงศ์ คือผู้เริ่มต้นสร้างงาน สร้างอาชีพนี้ขึ้นมาเล่าว่า ทำงานแบบนี้มา 12 ปีแล้ว ช่วง 2 ปีแรกไม่ได้ทำมาขาย ทำเล่นๆ แต่ในที่สุดก็ต้องลาออกจากวิศวกรเครื่องกลมาทำเป็นอาชีพของตัวเอง ท่ามกลางความงุนงงของผู้คน
“ความคิดแรกไม่ได้คิดเป็นธุรกิจเลย ผมเรียนเครื่องกลมาผมก็ชอบเล่นของเล่นเหมือนเด็กๆ ทั่วไปคือชอบหุ่นยนต์ ก็มีไอเดียว่าของพวกนี้น่าจะมาทำอะไรที่มันเป็นเหมือนกับของเล่นได้ เป็นการรีไซเคิล แล้วก็วัสดุบ้านเราก็เยอะแยะ ช่วงแรกที่ทำตอนประมาณปี 43 ก็คือทำเล่น แต่ว่ารูปร่างไม่ได้เป็นรูปแบบเหมือนในปัจจุบัน คือช่วงนั้นอยากทำอะไรก็คือทำไปเลย แล้วขายจริงๆ ประมาณปี 45 ช่วงแรกก็คือทำแล้วก็เก็บ ทำแล้วก็เก็บเรื่อยๆ จนมันเยอะในบ้านถึงได้เริ่มไปฝากเขาขาย”
“ช่วงแรกก็คือมีแต่คนคิดว่ามันขายไม่ได้ ถ้าเป็นคนรอบตัวเขามองว่า เหมือนกับเราทำของเล่นธรรมดา จริงๆ ตอนนั้นผมก็ไม่ได้มองว่า มันจะขายดีเหมือนปัจจุบัน เพียงแต่ว่าผมแค่อยากมีงานอย่างนี้ไว้ในบ้านเท่ๆ คือทำได้ก็เก็บวางตั้งไว้ในบ้าน ซึ่งรูปแบบช่วงแรกๆ เหมือนกับรูปแบบฟรีสไตล์จริงๆ จะไม่ได้อิงอะไร อยากได้อะไรก็ทำ” ไพโรจน์ เล่าให้ฟัง
ช่วงแรกคิดง่ายๆ คือทำพวกรถง่ายสุด คือมีล้อ มีตัวบอดีรถ แล้วหุ่นในช่วงแรกก็คือมีแขน มีขา ไม่ต้องมีรายละเอียดอะไรเยอะ ช่วงแรกมีสัตว์ประหลาดกับยานพาหนะช่วงหลังๆ พอเริ่มขายก็จะเริ่มมีลูกค้าแนะนำว่าอยากได้แนวไหน
หุ่นเหล็กในปัจจุบันก็จะแตกไปหลายๆ สาขา แต่ที่ทำเป็นธุรกิจจริงๆ ก็คือต้องอิงกับภาพยนตร์ เพราะว่ากลุ่มลูกค้าคือคนที่เล่นโมเดล คนที่สะสมโมเดล ชอบเล่นโมเดล อย่างหนังเรื่อง Real Steel เป็นตัวชื่อ อะตอม ก็จะเป็นหุ่นซ้อมในเรื่อง Real Steel
เมื่อถามว่า ทำแบบนี้มันติดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์หรือไม่ ไพโรจน์ บอกว่า ไม่ติดลิขสิทธิ์เพราะชิ้นงานส่วนใหญ่จะไม่เหมือนเป๊ะ ตัวเอเลี่ยนในภาพยนตร์กับหุ่นเหล็กก็จะมีรายละเอียดจริงๆ จะไม่เหมือนกัน
แต่ละตัวจะไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างต้นขาอันนี้คือก้านสูบรถยนต์ ก้านสูบเบนซิน บางทีใช้ก้านสูบรถยนต์เบนซิน ดีเซล หรือมอเตอร์ไซค์ก็คนละขนาด ไม่เหมือนกัน แต่ว่าจุดขายของงานพวกนี้คือทำออกมาให้คนรู้สึกว่าคือไอ้ตัวนี้แหละที่ต้องการ...
ไพโรจน์ เล่าว่า งานสร้างหุ่นเหล็กของเขาขายท่าทาง ขายไอเดียมากกว่า
หลายคนสงสัยว่า หุ่นเหล็กที่มีอยู่มากมายเหล่านี้ที่ไพโรจน์ผลิตขึ้นมาแล้ววางขายที่ไหน
ไพโรจน์ บอกว่า ตลาดหลักในปัจจุบันนั้น 90% เป็นต่างประเทศ แล้ว 10% ก็ขายในเมืองไทย ตามเมืองท่องเที่ยว พูดง่ายๆ ก็คือขายกับฝรั่ง คนไทยก็ซื้อแต่ไม่เยอะและส่วนใหญ่คนไทยที่ซื้อเขาจะไม่ซื้อชิ้นใหญ่ เพราะฉะนั้นของที่เราเห็นส่วนใหญ่มักจะส่งไปต่างประเทศ
วิธีการทำตลาดของไพโรจน์ก็พิลึกกึกกือ เพราะลูกค้าจะวิ่งเข้าหา ใช้วิธีหาจากอินเทอร์เน็ต
“ผมทำงานหุ่นเหล็กออกทางขายออนไลน์มาตั้งแต่ตอนทำใหม่ๆ ซึ่งช่วงนั้นบ้านเราก็ยังไม่มีใครสนใจมากเท่าไหร่ พอเปิดตลาดไปทางเว็บไซต์มันไม่ได้มีคู่แข่งเยอะเหมือนทุกวันนี้ พอเราทำเว็บไซต์เราให้ติดตลาด มีลูกค้าเข้ามาเรื่อยๆ เป็นการสั่งออร์เดอร์เข้ามาทางอินเทอร์เน็ตหรือทางโทรศัพท์ ลูกค้าผมมันจะเวียนเข้ามาเรื่อยๆ แล้วเราก็หาลูกค้าใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้นลูกค้ามันก็จะหลากหลายไปเรื่อยๆ ถ้าเทียบกับธุรกิจอื่นผมคิดว่าธุรกิจนี้คู่แข่งน้อย แล้วก็คนเข้ามาทำก็ยาก ถ้าทำให้คนรู้จักเรางานแบบนี้จะขายได้ง่าย”
เฉลี่ยๆ ปีหนึ่งออร์เดอร์จากต่างประเทศหลักล้าน แต่ต้องบอกว่ามันไม่แน่นอน สินค้าพวกนี้มันเหมือนจะมีซีซันด้วย หมายถึงว่าถ้าภาพยนตร์เรื่องไหนออก อย่างเช่นเรื่องไดโนเสาร์ออกภาคใหม่ ไดโนเสาร์ก็จะขายดี
มีการส่งออกไปหลายประเทศ เช่น สหรัฐ อังกฤษ เยอรมนี แคนาดา นิวซีแลนด์ ฮ่องกง สิงคโปร์ และญี่ปุ่น เฉลี่ยแล้วไพโรจน์ส่งออกหุ่นเหล็กให้กับลูกค้าเดือนละหลายแสนบาท
ส่วนลูกค้าคนไทยที่ซื้อไปก็จะนำไปจำหน่ายต่อในเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และพัทยา ภูเก็ต
สิ่งหนึ่งที่ไพโรจน์ภูมิใจนักภูมิใจหนาคือ ธุรกิจสร้างหุ่นเหล็กของเขานั้นนำมาซึ่งรายได้ที่ดีให้กับคนในพื้นที่
“ปัจจุบันผมสามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้กับ 20 ครอบครัว ที่ผมช่วยให้เขาปลดหนี้ และลืมตาอ้าปากได้ จากรายได้เดิมของคนงาน ที่เขาเคยทำงานประจำจะอยู่ที่ 6,0007,000 บาท แต่เมื่อเขาเข้ามาทำงานกับเราก็ได้เฉลี่ยเดือนละกว่า 1 หมื่นบาท”ไพโรจน์พูดไปยิ้มไปด้วยความภูมิใจ
ความฝันอีกหนึ่งของชายหนุ่มผู้สร้างหุ่นยนต์เหล็กจากเศษวัสดุ เศษเหล็กของรถยนต์เหลือใช้คือต้องการสร้างให้บ้านหุ่นเหล็กเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย
“ผมทำงานพวกนี้อยู่ทุกวัน แล้วตอนนี้สถานที่ใหม่ที่เราย้ายมาก็อยู่ติดถนน คนหาง่าย และก็ที่ผ่านมาคนก็เห็นว่าเราทำหุ่นก็ขอเข้ามาดู ก็เลยคิดว่าน่าจะเปิดให้คนเข้ามาดูเป็นเรื่องเป็นราวไปเลย ไม่ได้เก็บค่าดูอะไรนะครับ เหมือนกับว่าเป็นการเผยแพร่ชิ้นงานออกไป แล้วก็มีชิ้นงานเล็กๆ ที่เราผลิตแล้วเราไม่ได้ส่งลูกค้า แต่ไม่ใช่เป็นของไม่ดีนะครับ ของดีที่เราผลิตเกินออกมาก็จะมาเป็นชิ้นงานขายปลีกให้ลูกค้า เหมือนกับเอางานส่วนหนึ่งออกมาขายปลีก ราคาก็คงไม่แพงนัก เอาแค่ 100200500 บาทต่อชิ้นก็พอ”
“ผมตั้งใจใช้สถานที่ ที่นี่เป็นเหมือนกับโชว์รูม เป็นเอาต์เล็ตดึงคนให้มาเที่ยวที่นี่ แล้วก็มาดูแนวความคิด ดูวิธีทำแล้วถ้าสนใจก็สามารถซื้อชิ้นงานเล็กๆ กลับไปบ้านได้ผมอยากจะเปรียบเทียบกับบ่อสร้างที่เชียงใหม่ที่ทำร่ม เปิดให้คนเข้าไปดูเขาทำร่ม แล้วก็ขายตรงนั้นเลย ใครอยากซื้อก็ซื้อ ไม่ซื้อก็ไม่เป็นไร” วิศวกรหนุ่ม เล่าความฝัน
วิธีคิดและแนวคิดของไพโรจน์ ซึ่งสร้างอาชีพจากจินตนาการ จากความถนัดของตัวเองไม่ไกลเกินกว่าที่เขาจะทำ
เพราะเขารู้จักคิด รู้จักฝัน มีจินตนาการของตัวเอง แล้วทำความฝันตามจินตนาการของตัวเองให้สำเร็จได้
แล้วคุณล่ะทำตามความฝันกันหรือยัง m
ติดตามธุรกิจติดดาวได้ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 5 ในวันศุกร์ที่ 21 ธ.ค.นี้