posttoday

วงสวิงไม่เจ๋ง ไม่เก่งเหมือนโปร ก็ทำเงินจาก ‘กอล์ฟ’ ได้ (ตอนจบ)

29 มีนาคม 2553

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์ sawaleet@posttoday.com

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์ sawaleet@posttoday.com

ขออนุญาตทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ไม่สนใจเหตุการณ์บ้านเมือง แล้วแอบไป “เล่นไม้กอล์ฟ” ต่อจากสัปดาห์ก่อน (โน้น) ตามที่สัญญากันไว้ เพราะไม่ใช่แค่อุปกรณ์กอล์ฟโบราณรุ่นเก่าเก๋ากึ้กเท่านั้นที่จะเป็น “ของสะสมเพิ่มค่า” แต่อุปกรณ์กอล์ฟยุคใหม่ก็ขึ้นชั้นเป็น “อุปกรณ์กอล์ฟทำเงิน” ได้เหมือนกัน

วงสวิงไม่เจ๋ง ไม่เก่งเหมือนโปร ก็ทำเงินจาก ‘กอล์ฟ’ ได้ (ตอนจบ)

และอุปกรณ์กอล์ฟก็มีหลายอย่างและหลายยี่ห้อ ที่น่าสะสม แต่ถ้าเป็นอุปกรณ์กอล์ฟทำเงินที่ สะสมต้องคอยสอดส่องมองหาแล้วล่ะก็ มีหลักใหญ่ใจความอยู่ 4 ประการที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้ในอนาคต นั่นคือ ใครทำ ทำจากอะไร หายากแค่ไหน และรวมไปถึง “ใครใช้”

“ไม้กอล์ฟบางอันทำขึ้นมาให้โปรคนดังระดับโลกใช้แข่งขันในรายการใหญ่ๆ หรือ พัตเตอร์บางอันทำมาจากวัสดุที่พิเศษมากๆ ทำให้กลายเป็นของหายาก ขณะที่การออกแบบก็มีส่วนสำคัญ และรุ่นที่ออกมาจำนวนจำกัด หรือที่เป็น limited edition จะทำให้คุณค่าของพัตเตอร์อันนั้นเพิ่มมากขึ้นไปอีก” นักสะสมที่ใช้ชื่อว่า เรียล เขียนแนะนำไว้ในบทความเรื่อง “Collecting Putter: Knowing What to Ask From Dealers”

แต่ถ้าถาม “นักสะสม” 2 คน คือ เจตริน วรรธนะสิน นักร้องชื่อดัง และ ปวินท์ จิตติวุฒินนท์ นักสะสมที่มีถิ่นฐานในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประสบการณ์ “ทำเงินจากไม้กอล์ฟ” ทั้งคู่ต่างลงคะแนนให้ สก็อตตี้ คาเมรอน (Scotty Cameron) เป็นอันดับหนึ่งในใจ

ทำไมต้อง “สก็อตตี้ คาเมรอน”

“พัตเตอร์ที่ดังจริงๆ คือ Ping แต่เรื่องการตลาด วิธีการโปรโมท และคุณภาพ สก็อตตี้ ทำได้ดีกว่า ต่อให้ไม่ใช่รุ่น Limited Edition ใช้ไปแล้ว สภาพดี ขายต่อราคาไม่ตกมาก เช่น ซื้อมา 1.2 หมื่นบาท ก็ยังขายได้ 7,000-8,000 บาท แต่ถ้าเป็นยี่ห้ออื่นๆ ใช้แล้วไปขายต่ออาจจะเหลือไม่กี่พันบาท” เจตริน ยืนยันในความโดดเด่นของสก็อตตี้ในฐานะ “ของสะสมเพิ่มค่า”

เช่นเดียวกับ ปวินท์ ที่กล่าวว่า “สก็อตตี้ คาเมรอน จะถือเป็นสินค้าระดับ high end งานฝีมือดี ดีไซน์สวย จึงเป็นที่ต้องการของนักกอล์ฟ”

วงสวิงไม่เจ๋ง ไม่เก่งเหมือนโปร ก็ทำเงินจาก ‘กอล์ฟ’ ได้ (ตอนจบ) เจ-เจตริน กับการสะสมไม้กอล์ฟ

อย่างไรก็ตาม ในวงการกอล์ฟกลับมีคำพูดว่า สก็อตตี้ คาเมรอน ไม่ได้ยิ่งใหญ่ไปกว่ายี่ห้ออื่นๆ เพราะเขาแทบจะไม่ได้สร้างสรรค์สิ่งที่แปลกใหม่อะไร เพียงแต่อาศัยรสนิยมและความละเมียดละไมในการทำงาน บวกกับ “ดวง”

เพราะสิ่งที่จุดพลุให้ชื่อของสก็อตตี้ดังเปรี้ยงปร้าง เกิดขึ้นเพราะพัตเตอร์ที่เขาออกแบบให้กับ Mizuno ในปี 1992 ดันไปอยู่ในมือของ Bernhard Langer แชมป์รายการ The Master ปี 1993

นับจากนั้นสัญลักษณ์ตัว T ในวงกลม (หรือ Circle T) ซึ่งมองเห็นเป็นจุดแดงๆ จากไกลๆ ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของพัตเตอร์คู่กายนักกอล์ฟชั้นนำของโลก โดยเฉพาะ “ไทเกอร์ วู้ดส์”

ในปี 1997 สก็อตตี้ ผลิตพัตเตอร์ Limited Edition รุ่น Tiger Woods Masters Champion ขึ้นมา 270 อัน โดยแต่ละอันจะมีหมายเลขประจำตัว และแน่นอนว่า หมายเลข 001 ต้องเป็นของไทเกอร์ วู้ดส์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 21 อันแรกที่ผลิตจากสแตนเลส สตีล ที่เขามอบให้กับคนใกล้ชิดเท่านั้น

และในเว็บไซต์ scootycameron.com ยังบอกอีกว่า พัตเตอร์รุ่นนี้ถือเป็น “ของมีค่า” ในหมู่นักสะสม และคงเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะในจำนวน 21 อันแรกมีราคาซื้อขายสูงสุดอยู่ที่ 2 หมื่นเหรียญสหรัฐ หรือ กว่า 6.6 แสนบาท

(แม้ว่าจะยังต่ำกว่า Ping Scottsdale Trainer ที่ราคาซื้อขายเคยขึ้นไปถึง 2.5 เหรียญสหรัฐ หรือ 8.25 แสนบาท เพราะรุ่น "Trainer" ขึ้นชื่อว่าเป็นรุ่นที่หายากมากถึงมากที่สุดของ Ping เพราะผลิตออกมาไม่ถึง 10 อัน แถมยังไม่ได้ผลิตออกมาเพื่อจำหน่ายอีกด้วย)

“รับรองได้เลยว่า ถ้าเอาพัตเตอร์ (Newport 2) อันที่ไทเกอร์ใช้อยู่ตอนนี้ออกมาขาย จะได้ราคาสูงกว่า 30 ล้านบาท เพราะนอกจากจะซื้อพัตเตอร์แล้ว เขาซื้อประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้นถ้าเอากริปที่ไทเกอร์จับออก ราคาก็คงตก” ปวินท์ กล่าว

ขณะที่ปีที่แล้ว แชมป์ 53 รายการใหญ่ทั่วโลกใช้พัตเตอร์ของสก็อตตี้ และปีนี้ที่ยังไม่ทันจะพ้นเดือน มี.ค. ก็มีแชมป์ที่ใช้พัตเตอร์ สก็อตตี้ คาเมรอน แล้ว 11 รายการ รวมถึง เจฟฟ์ โอกิลวี่ ผู้ชนะรายการ SBS Championship พีจีเอรายการแรกของปีนี้ก็ใช้พัตเตอร์ สก็อตตี้ คาเมรอน “Newport Prototype” 

นอกจากนี้ ยังเป็นเพราะลูกเล่นแพรวพราวที่สก็อตตี้ใส่ลงไปบน “ชิ้นงาน” ของเขา รวมถึงการออก Limited Edition ที่มีสีสันสวยงาม

“ทุกปีเขาจะออกรุ่น Limited Edition โดยในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. เขาจะออกรุ่น Holiday และ My Girl ออกมาคู่กัน” เจตริน บอก พร้อมกับเล่าถึงพัตเตอร์คอลเลกชัน “My Girl” ที่อยู่ในครอบครองของเขาว่า เริ่มสะสมมาตั้งแต่ My Girl 2002 จนถึงปีล่าสุด 2009 ที่เป็นรูปดอกไม้

“จริงๆ แล้ว พัตเตอร์รุ่น My Girl เป็นพัตเตอร์สำหรับผู้หญิง แต่ชอบเพราะมันสวยดี” เจตริน กล่าว

วงสวิงไม่เจ๋ง ไม่เก่งเหมือนโปร ก็ทำเงินจาก ‘กอล์ฟ’ ได้ (ตอนจบ)

มือใหม่ “หัดพัต”

เจตรินบอกว่า นักกอล์ฟเชื่อกันว่า “พัตดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” เพราะการพัตหนึ่งครั้งเท่ากับการไดร์ฟหนึ่งครั้ง แต่การพัตสามารถชี้เป็นชี้ตายได้ โดย “หนึ่งพัตของไทเกอร์มีเงินรางวัลจำนวนมหาศาลเป็นเดิมพัน เพราะฉะนั้นนักกอล์ฟจึงให้ความสำคัญกับพัตเตอร์” รวมถึงการสะสมพัตเตอร์ด้วย

เจตริน บอกว่า พัตเตอร์ สก็อตตี้ คาเมรอน ที่ควรค่าน่าสะสม มีอยู่ 3 กลุ่ม คือ Limited Editions, Tour Models และ Garage Putters

กลุ่ม Limited Editions คือ พัตเตอร์ที่ออกมาจำนวนจำกัด

นอกจาก Holiday และ My Girl แล้ว ในแต่ละปียังจะมีออกมาเป็นพิเศษอีกหนึ่งรุ่น เช่น American Classic VII ในปี 2005 และในปี 2007 ออก Teryllium Ten – Newport 2 และ Newport 2.5 เพื่อฉลองความสำเร็จครบรอบ 10 ปี ของพัตเตอร์ Teryllium ซึ่งผลิตออกมารุ่นละไม่เกิน 2,007 อัน (ตามปีที่ผลิต) และเคยเห็นราคารุ่น Newport 2.5 วิ่งอยู่ราวๆ 4 หมื่นบาท

ปวินท์ บอกว่า พัตเตอร์ที่อยู่ในกลุ่ม Limited Edition ราคาซื้อขายจะอยู่ระหว่าง 400-1,000 เหรียญสหรัฐ หรือตั้งแต่ 1.32 หมื่นบาท ไปจนถึง 3.3 หมื่นบาท

กลุ่ม Tour Models เป็นรุ่นที่ทำออกมาเพื่อให้โปรระดับโลกใช้ในการแข่งขัน ซึ่ง เจตริน บอกว่า ผลิตโดยผู้เชี่ยวชาญของบริษัท แต่ทุกอันจะต้องผ่านการตรวจสอบจากสก็อตตี้ ขณะที่ ปวินท์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า รุ่นพวกนี้จะไม่ออกขายในท้องตลาด เพราะผลิตออกมาเพื่อโปรเท่านั้น

ขณะที่ราคาซื้อขายกับแบบ “ธรรมดาๆ” จะอยู่ที่ 3,500 เหรียญสหรัฐ หรือ มากกว่า 1 แสนบาท และ ปวินท์ ยังบอกอีกว่า พัตเตอร์ในกลุ่มนี้ราคาจะวิ่งได้ดีกว่ากลุ่ม Limited Edition

กลุ่ม Garage Putters ซึ่ง เจตริน บอกว่า กลุ่มนี้ถือเป็นสุดยอดของพัตเตอร์ เพราะสก็อตตี้จะลงมือทำด้วยตัวเอง ในโรงงานเล็กๆ ที่เหมือนทำในโรงรถที่บ้าน ทำให้ราคาสูงที่สุด

วงสวิงไม่เจ๋ง ไม่เก่งเหมือนโปร ก็ทำเงินจาก ‘กอล์ฟ’ ได้ (ตอนจบ)

แต่ถ้าถาม ปวินท์ เขาบอกว่า พัตเตอร์ ของสก็อตตี้ ออกเป็น 3 กลุ่ม เช่นกัน แต่ “รุ่นตลาดส่วนใหญ่ราคาอาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก แต่ถ้าเป็น Limited Edition จะเป็นกลุ่มที่เริ่มสะสมจะมองหารุ่นพวกนี้ก่อน จากนั้นก็เป็นพวกไม้ทัวร์ ทำให้ทั้งสองแบบหลังนี้ราคาจะปรับเพิ่มขึ้นได้มากกว่า”

เช่นเดียวกับ เจตริน ที่บอกว่า เขาสะสมทั้ง Limited Edition และไม้ทัวร์ โดยราคาสูงสุดที่เขาเคยสะสม คือ 3.5 แสนบาท แต่ตอนนี้ไม้ที่แพงที่สุด ราคา 2.4 แสนบาท โดยหนึ่งในคอลเลกชันของเขามี “ตัวต้นแบบ” ของปี 2552 ที่ผลิตออกมาเพียง 25 อันเท่านั้น

นอกจากนี้ เจตริน ยังฝากมาถึงมือให้หัดสะสมว่า ควรจะเริ่มจากดู “กำลังเงิน” ของตัวเองก่อน และถ้าอยากสะสมสก็อตตี้ก็ต้องศึกษาก่อนว่า ราคาเคลื่อนไหวอยู่ที่เท่าไร และควรจะเริ่มจากรุ่น Limited Edition ก่อน ซึ่งอาจจะ Limited Edition แบบมือสองก็ได้

“แต่ที่สำคัญที่สุด คือ สะสมจากสิ่งที่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นไม้ยี่ห้ออะไรก็ได้ แค่เห็นแล้วรู้สึกว่าสวย สบายตา เหมือนมองทะเล ว่างๆ เอาออกมาขัดได้เป็นชั่วโมง อย่าสะสมเพราะเป็นแฟชั่น อย่าซื้อเพราะเก็งกำไร” เจตริน กล่าว

นั่นอาจเป็นเพราะ “ไม่ได้มีอะไรรับประกันว่า ราคาจะไม่ตก แม้ว่าจะเป็นรุ่นทัวร์” ปวินท์ กล่าวเตือนนักสะสมมือใหม่ ที่อยากเห็นผลตอบแทนจากการสะสม

ปวินท์ บอกว่า ไม้ทัวร์แต่ละอันไม่มีอันไหนที่เหมือนกันเลย มันเหมือนตามล่าหาสมบัติ เพราะสก็อตตี้มีสัญลักษณ์ 10-20 แบบที่เป็นเอกลักษณ์ที่จะตีลงไปบนหัวพัตเตอร์ และสัญลักษณ์ที่แตกต่างกันนี้เองทำให้ราคาของพัตเตอร์แต่ละอัน แต่ละรุ่นราคาต่างกันเป็นพันบาท

“บางทีไม้สวย แต่เราอาจจะไม่ชอบ เพราะน้ำหนักเบาเกินไป หรือ หนักเกินไป แต่ละคนชอบต่างกัน แต่ถ้ามี 3-4 คน ชอบเหมือนกัน ราคาจะสูงขึ้นทันที เพราะมีนักสะสมต้องการซื้อ” ปวินท์ กล่าว

และไม่ใช่เฉพาะ “พัตเตอร์” เท่านั้นที่เป็นที่ต้องการของหมู่นักสะสม โดยเฉพาะตลาดในประเทศญี่ปุ่น ที่คลั่งไคล้ สก็อตตี้ คาเมรอน เอามากๆ เพราะในการประมูล Head Cover ที่เป็น Limited Edition แถมมีลายเซ็นของ สก็อตตี้ คนญี่ปุ่นให้ราคาสูงสุดที่ราคา 1.36 แสนเยน หรือเกือบๆ 4.8 หมื่นบาท (แค่ถุงครอบหัวไม้กอล์ฟนะเนี่ย)

แต่สิ่งที่ ปวินท์ เตือนนักสะสมมือใหม่ให้ระมัดระวัง “ของลอกเลียนแบบ” โดยเฉพาะการซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ต เพราะของดีราคาถูกที่หาได้บนอินเตอร์เน็ตอาจจะเป็นแค่เรื่องเล่าต่อๆ กันมาเท่านั้น

วงสวิงไม่เจ๋ง ไม่เก่งเหมือนโปร ก็ทำเงินจาก ‘กอล์ฟ’ ได้ (ตอนจบ)

ความสุขยิ่งกว่ากำไร

แม้ เจตริน จะบอกว่า เขาสะสมพัตเตอร์เป็นงานอดิเรกที่ไม่ได้หวังกำไร แต่ในระยะเวลา 6-7 ปี ของสุขที่ได้จากการสะสม และมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกับนักสะสมคนอื่นๆ เขาใช้เงินหมุนเวียนประมาณ 2 ล้านบาท และอัตราการทำกำไรประมาณ 30%

แถมยังบอกว่า “เคยมีคนเรียนจบปริญญาจากการซื้อขายแลกเปลี่ยนพัตเตอร์ของสก็อตตี้มาแล้ว”

เพราะฉะนั้นถ้าคุณเป็นอีกคนที่ชอบกอล์ฟ คุณก็อาจจะเป็นอีกคนที่มีความสุขกับผลกำไรที่ได้จากการสะสมไม้กอล์ฟ

Thailand Web Stat