ข้อคิดเชิงกลยุทธ์จากภาพยนตร์เรื่องยุทธการถล่มบินลาเดน (ตอน1)
ข้อคิดเชิงกลยุทธที่น่าสนใจจากภาพยนตร์
ข้อคิดเชิงกลยุทธที่น่าสนใจจากภาพยนตร์
เรื่อง “ยุทธการถล่มบินลาเดน” ตอนที่ 1เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้ไปชมภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ชื่อว่า “Dark Zero Thirty” หรือในชื่อไทยว่า “ยุทธการถล่มบินลาเดน” กำกับโดยผู้กำกับรางวัลออสการ์ Kathryn Bigelow โดยภาพยนตร์เรื่องนี้มิใช่ภาพยนตร์แนวตลาดซึ่งพระเอก/ตัวเอกมาลำพังคนเดียวเพื่อลุยกับเหล่าร้าย ด้วยกระสุนไม่จำกัดและมีฉากระเบิด วินาศสันตะโร
หากแต่ภาพยนตร์เรื่องตรงกันข้ามกับภาพยนตร์แอ็กชันแนวตลาดอย่างสิ้นเชิง เพราะเต็มไปด้วยบริบทแห่งความจริง ใช้สมองในการคิดและจัดการปัญหา รวมทั้งให้แง่คิดหลายประการที่ลึกซึ้งมาก แม้ว่าความเป็นจริงในภาพยนตร์เรื่องนี้อาจจะไม่เต็ม 100% เพราะลักษณะปฏิบัติการและยุทธวิธีลักษณะนี้ เป็นเรื่องลับสุดยอด จึงไม่มีทางที่ใครก็ตามจะเห็นภาพรวมทั้งหมดของเหตุการณ์ แต่เนื้อหาภาพยนตร์ถ่ายทอดความเป็นจริงค่อนข้างมากระดับหนึ่ง ซึ่งประเมินด้วยจากตัวของผมเองที่ชอบค้นคว้าเรื่องแบบนี้ทั้งของไทยและต่างประเทศ
เนื่องด้วยความน่าสนใจของปฏิบัติการ 10 ปีแห่งการตามล่าคนเพียงคนเดียว ด้วยงบประมาณสูงสุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ และการระดมผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีทันสมัยที่สุด เท่าที่โลกตะวันตกสามารถมีเพื่อการล่าคนคนหนึ่ง แต่ทำไมต้องใช้เวลาถึง 10 ปีในการแกะรอยจนเจอ
ผมคิดว่าบทเรียนจากภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นบทเรียนที่ดีสำหรับการนำไปประยุกต์ทั้งเรื่องการวางแผน การแก้ปัญหา และการวางยุทธศาสตร์ ที่สำคัญคือการลงทุนและบริหารความเสี่ยงได้ดีทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ผมขอออกตัวก่อนว่า บทความนี้จะทำให้ท่านผู้ที่คิดชมภาพยนตร์เรื่องนี้เสียอรรถรส (Spoils) ในการชมภาพยนตร์ครับ แต่เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นข้อคิดของภาพยนตร์เรื่องนี้และเรื่องอื่นๆ ซึ่งผมค้นคว้ามาประกอบ ดังนั้น ท่านผู้อ่านที่คิดจะชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ควรไปชมแล้วกลับมาอ่านครับ
1) การแกะรอยเพื่อตามล่า บิน ลาเดน ผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ก่อการร้าย 911 ของรัฐบาลสหรัฐและหน่วยงานในสังกัด เช่น หน่วยข่าวกรองกลาง (CIA) และกองทัพสหรัฐ เริ่มจากสมมติฐานที่ผิด เพราะรัฐบาลสหรัฐและโลกตะวันตกคิดว่า บิน ลาเดน จะหลบซ่อนตัวอยู่ในเทือกเขาสูง เต็มไปด้วยถ้ำและช่องลับหลายแห่งและมีการแวดล้อมด้วยการอารักขาด้วยกองกำลังในระดับดีมาก
ด้วยสมมติฐานนี้ กองกำลังผสมของโลกตะวันตกนำโดยสหรัฐอเมริกา ได้เปิดยุทธการทางทหารภายใต้ชื่อ “ปฏิบัติการอนาคอนด้า” ที่อัฟกานิสถาน เพื่อไล่สังหารบิน ลาเดน แต่นำมาซึ่งความผิดพลาดและความพ่ายแพ้ของปฏิบัติการผสมทางทหารของโลกตะวันตกในปี 2002 (ดูรายละเอียด http://en.wikipedia.org/wiki/ Operation_Anaconda)
แต่ในความเป็นจริง บิน ลาเดน อาศัยอยู่ในชานเมืองและเป็นย่านสำคัญทางธุรกิจของปากีสถาน ห่างจากเมืองหลวงประมาณ 50 กิโลเมตร เพื่อที่ บิน ลาเดน จะสามารถติดต่อ บริหาร สั่งการเครือข่ายองค์กรของตนเอง แต่วิธีการติดต่อจะใช้วิธีที่ Low Tech มาก เพื่อไม่ให้รัฐบาลสหรัฐแกะรอยเจอ คือการส่ง “จดหมายด้วยตัวบุคคล” นั่นเอง แต่การส่งจะต้องสะดวกมีทางคมนาคมอย่างถนน ใกล้แหล่งสื่อมวลชนชั้นนำ (ในที่นี้ คือสถานีข่าว อัลจาซีรา) และผู้ส่งสารจะต้องทำตัวให้เงียบที่สุด ใช้เครื่องมือ Low Tech ให้มากที่สุด แต่ผู้ส่งสารก็พลาดเพราะความเป็นมนุษย์ ดังจะเห็นในข้อ 5) และเป็นโอกาสให้ตัวเอกของเรื่องแกะรอยบิน ลาเดน จนเจอ
บทเรียนจากข้อนี้คือ ควรจะมีสมมติฐานที่หลากหลายเพื่อจะครอบคลุมความเป็นไปได้ทั้งหมดในทุกกรณี การใช้สมมติฐานหลักและผ่านไปหลายปีและไม่ได้ผลในการแกะรอยบิน ลาเดน ความคิดที่ถูกต้อง คือ ควรคิดถึงสมมติฐานอื่นๆ ซึ่งอาจจะนอกกรอบบ้าง แต่อย่างน้อยอาจจะช่วยให้ได้พบทางเลือกเชิงยุทธวิธีใหม่ๆ และอาจจะพลิกสถานการณ์ได้
ที่ต้องคิดนอกกรอบ เพราะบิน ลาเดน เป็นนักยุทธศาสตร์ที่คิดลึกซึ้งมาก เข้าขั้นอัจฉริยะ และมีความเด็ดเดี่ยว และชอบทำในสิ่งที่เหนือความคาดหมาย แต่สหรัฐ และพันธมิตร กลับคิดว่าบิน ลาเดน เป็นผู้ก่อการร้ายธรรมดา เช่นเดียวกับผู้ก่อการร้ายอื่นๆ ที่ประสบมา จึงทำให้การแกะรอยเพื่อไล่ล่าล้างแค้นของสหรัฐ จากเหตุการณ์ 911 จึงต้องใช้เวลาถึง 10 ปี
การที่บิน ลาเดน พำนักในย่านชุมชน และแทบจะไม่มีองครักษ์ในการคุ้มกันเลยเป็นเรื่องที่นอกกรอบ และเหนือความคาดหมายของสหรัฐและพันธมิตรเป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้าเราวิเคราะห์ให้ดี เราจะพบว่า การที่บิน ลาเดน ซึ่งมีศัตรูเป็นสหรัฐและโลกตะวันตก กลับกล้าที่จะไปพำนักในภูมิประเทศที่อาจจะเรียกว่าถ้ำเสือ เพราะฐานล่าบิน ลาเดน ของ CIA อยู่ในสถานทูตสหรัฐ ในเมืองหลวงของปากีสถาน และอยู่ใกล้กับที่ซ่อนตัวของบิน ลาเดน
นอกจากนี้ การที่บิน ลาเดน ไม่มีองครักษ์หรือกองกำลังคุ้มกันเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก สะท้อนถึงความลึกซึ้งของบิน ลาเดน และความเด็ดเดี่ยวของจิตใจค่อนข้างมาก m
หมายเหตุ : โปรดติดตามตอนต่อไป และบทความนี้เป็นทัศนะส่วนตัวของผู้เขียนไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่สังกัด