สงกรานต์กัมพูชาไง โจล ชนัม ทะไม คะแม
อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการจัดการ
โดย...ดร.พิสุทธิ์พงศ์ เอ็นดู
อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการจัดการ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์
“ภาษาสันสกฤต” เป็นภาษาที่เก่าแก่ที่สุดภาษาหนึ่งในภาษากลุ่มอินโดยูโรเปียน หรืออินเดียยุโรป อันเป็นกลุ่มภาษาย่อยของกลุ่มชาวอินโดอิเรเนียน หรืออินเดียอิหร่าน ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มภาษาย่อยของชาวอินโดอารยัน หรืออินเดียอารยะอีกทีหนึ่ง ในภาษาไทยเรามีคำมากมายที่รับเอามาจากภาษาสันสกฤต
คำว่า “สงกรานต์” ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่ภาษาไทยรับเอามาจาก “ภาษาสันสกฤต” โดยคำนี้ถือกำเนิดจากประเพณีของชาวอินเดียอารยันโบราณที่นับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดู ประเพณีนี้เรียกว่า “สังกรันติ (Sankranti)” เป็นประเพณีที่จัดขึ้นในช่วงที่มี “ก้าวขึ้น” “ย่างขึ้น” หรือ “เคลื่อนย้าย” ของดวงอาทิตย์จากราศีธนู (Dhanu Rashi) เป็นราศีมังกร (Makara Rashi)
วันมังกรสังกรันติ (Makara Sankranti) เป็นวันปีใหม่ของชาวอินเดียที่เป็นวันอุดมศุภฤกษ์มงคลที่สุด เหมาะสำหรับการจัดงานมงคลทุกชนิด พวกเขาเชื่อว่าเงินทองจะไหลมาเทมา ในสมัยก่อนๆ มังกรสังกรันติตรงกับวันที่ 31 ธ.ค. แต่เดี๋ยวนี้ตรงกับ 14 ม.ค.ของทุกปี
ในประเทศอินเดียในแต่ละรัฐจะมีภาษาเรียกประเพณีนี้แตกต่างกันออกไปในแต่ละรัฐ เช่นเดียวกันกับหลายๆ ประเทศที่ได้รับอิทธิพลความเชื่อดั้งเดิมมาจากศาสนาพราหมณ์ฮินดู จากประเทศอินเดีย เช่น ประเทศเนปาล เรียกว่า “มาเฆ สังกันติ (Maghe Sankranti)” ในประเทศไทย “สงกรานต์ (Songran)” ประเทศลาว “ปีใหม่ลาว (Pi Mai Lao)” ประเทศพม่า “ติงยาน (Thingyan)” และในประเทศกัมพูชา เรียกว่า “โมหาสงกรานต์” (Moha Songran)
สงกรานต์ในประเทศไทยปัจจุบันตรงกับวันที่ 1315 เม.ย. โดยเรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” “วันเนา” และ “วันเถลิงศก” ตามลำดับ
สงกรานต์ ในประเทศกัมพูชา ชาวกัมพูชามีความเชื่อว่าเป็น “ไง โจล ชนัม ทะไม” หรือ “วันเข้าสู่วันปีใหม่” โดยนับตามปฏิทินแห่งสุริยคติของกัมพูชาตรงกับวันที่ 1416 เม.ย.ของทุกปี โดยวันที่ 14 เป็น “วันมหาสงกรานต์” วันที่ 15 เป็น วันวัณบัท และวันสุดท้ายเรียกว่า “วันเฬิงศักดิ์”
ในวันมหาสงกรานต์ชาวกัมพูชาจะลุกขึ้นมาตั้งแต่เช้าเพื่อทำความสะอาดอาคารบ้านเรือนต่างๆ โดยมีความเชื่อว่าเป็นการต้อนรับเทวดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาอวยพรให้โชคลาภสักการะและสิ่งอุดมมงคลชีวิต ในวันนี้พวกเขาจะอาบน้ำชำระร่างกายพร้อมกับตกแต่งใส่เสื้อผ้าสวยงามใหม่ๆ ช่วงกลางวันวัยรุ่นหนุ่มสาวจะพากันออกไปร่วมเล่นกิจกรรมตามประเพณีพื้นบ้านที่สืบทอดมายาวนานร่วมกับคนอื่นๆ เช่น เล่นเลียะโกนเมียน (เล่นซ่อนลูกไก่) เล่นเลียะกันแสง (เล่นซ่อนผ้า) เล่นเบาะฌู๊ง (เล่นโยนผ้า) เล่นเบาะอ่องคุญ (เล่นโยนลูกสะบ้า) ในตอนเย็นชาวบ้านทั้งหมดก็จะพากันจัดเตรียมหาดอกไม้ ธูปเทียนเพื่อไปถวายพระที่วัด พร้อมกับรับฟังพระภิกษุเจริญพระพุทธมนต์ รับฟังพระธรรมเทศนาและรับพรจากพระสงฆ์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตตัวเอง
ใน “วัณบัท” หรือประเทศไทยเรียกว่า “วันเนา” (เนา เป็นภาษาเขมรแปลว่า “อยู่”) ในวันนี้ชาวกัมพูชาจะแสดงความกตัญญูกตเวทีแก่พ่อแม่หรือญาติพี่น้องของตัวเอง โดยจะพาไปทำบุญถวายข้าวปลาอาหารหรือสังฆทานแด่พระภิกษุสงฆ์ที่วัด นิมนต์พระทุกรูปในวัดสวดบังสุกุลทำบุญอุทิศให้พ่อแม่ญาติพี่น้องของพวกเขาที่ล่วงลับไปแล้วร่วมกับชาวบ้านคนอื่นๆ นอกเหนือจากนั้นพวกเขาก็จะได้ร่วมพัฒนาวัดและร่วมทำบุญก่อปราสาททรายหรือก่อพระทรายในวัดร่วมกันอีกด้วย
ในวัน “เฬิงศักดิ์” หรือประเทศไทยเรียกว่า “วันเถลิงศักดิ์” เป็นวันที่ชาวกัมพูชารวมตัวไปทำบุญที่วัดอีกวัน โดยหลังจากที่ถวายภัตตาหารเพลแล้ว ชาวบ้านก็จะร่วมกันนำดอกมะลิ ดอกบัว และดอกไม้ชนิดอื่นๆ ที่มีกลิ่นหอมร่วมประกอบพิธีกรรมสรงน้ำพระพุทธรูป พร้อมทั้งพระภิกษุสามเณรในวัดทั้งหมดก่อนที่จะร่วมพิธีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ พร้อมขอขมาลาโทษกันและกัน
“วันสงกรานต์” หรือ “ไง โจล ชนัม คะแม” ในจังหวัดใหญ่ๆ ของกัมพูชา การเฉลิมฉลองประเพณีสงกรานต์สาดน้ำหรือเล่นน้ำกันนั้น มีความสนุกสนานมากมายเหมือนกับสงกรานต์ในไทย ประเพณีสงกรานต์ทั้งในประเทศไทยและประเทศกัมพูชามีความเชื่ออันประกอบไปด้วยความงดงามแห่งคุณค่าของคำสอนบรรพบุรุษที่สืบทอดกันมายาวนาน
เหตุผลที่ความงดงามแห่งคุณค่าเหล่านั้นยังคงสืบทอดความเชื่อที่ดีงามมาสู่พวกเราทั้งสองประเทศก็ด้วยเหตุผลเดียวกันนั่นก็คือ
“ประเพณีสงกรานต์คือวันแห่งอุดมศุภฤกษ์ชัยดีงามแห่งความร่มเย็นผาสุกของมวลมนุษยโลก”