posttoday

สนุกกับภาษาอาเซียน

23 เมษายน 2556

โดย...อัฏฐวรรณ ลวณางกูร

โดย...อัฏฐวรรณ ลวณางกูร

ภาษา...เป็นประตูเปิดสู่เพื่อนบ้าน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเปิดประตูใจกว้างแค่ไหน

ท่ามกลางกระแสอาเซียนที่กำลังบูม “สถาพรบุ๊คส์” เป็นอีกสำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสือชุดภาษาอาเซียน “สนุกกับภาษาอาเซียน” โดยมีผู้เขียนมาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวและเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้าน

“ประเสริฐ สรรพอาสา” ผู้เขียนเรื่องสนุกกับภาษาอินโดนีเซีย เล่าว่า คำทักทายของคนอินโดฯ จะแบ่งเป็นช่วงเวลา ตอนเช้าพูดว่า “เซอลามัต ปากี” หมายถึง สวัสดีตอนเช้า “เซอลามัต เซียง” คือ สวัสดีตอนกลางวัน “เซอลามัต มาลาม” คือ สวัสดีตอนหัวค่ำ คำว่า เซอลามัต แปลว่า ปลอดภัย และเมื่อต้องการแนะนำตัวให้พูดว่า “นามา ซายา” ตามด้วยชื่อ

ภาษาอินโดนีเซียคล้ายกับภาษามลายู แต่ก็มีจุดที่แตกต่างกัน “ประเสริฐ เย็นประสิทธิ์” ผู้เขียนสนุกกับภาษามลายู บอกว่า คำทักทายตอนเช้า พูดว่า เซอลามัต ปากี เหมือนกับอินโดฯ แต่คนมักใช้ผิดว่า เซอลามัต ดาตัง ซึ่งแปลว่า ยินดีต้อนรับ ส่วนคำว่า “อิสลามาลัยกุม” เป็นคำที่ใช้เฉพาะในหมู่คนมุสลิม หมายความว่า ขอสันติสุขจงมีแด่ท่าน หากไม่ใช่มุสลิมไม่ควรใช้คำนี้ ส่วนเมื่อแนะนำตัวใช้ว่า “นามา ซายา” ตามด้วยชื่อ แล้วจะต้องบอกว่าเป็นลูกใคร อย่างชื่อของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจิบ บิน อับดุล ราซัค ชื่อตัว คือ นาจิบ ส่วน บิน มีความหมายว่าเป็นบุตรของ อับดุล ราซัค ผู้เป็นพ่อ

ภาษามลายูและอินโดฯ มีบางคำที่ออกเสียงเหมือนกันแต่คนละความหมาย เช่น ปูซิง มลายูแปลว่า กลับรถ แต่อินโดฯ แปลว่า ปวดหัว ส่วนวัฒนธรรมการกินของทั้งสองประเทศนี้จะใช้มือเปิบและเคร่งครัดกับหลักศาสนามาก

“วิเชียร อำพนรักษ์” ถ่ายทอดเรื่องลาว ว่า คำทักทาย คือ “สะบายดี” ใช้ทักทายกันทั้งวัน และทั้งๆ ที่ไทยลาวน่าจะเป็นพวกเดียวกัน แต่กลับฟังกันไม่ค่อยรู้เรื่อง เข้าใจความหมายของคำไปคนละแบบ

อย่างคำว่า “เจ้าซู้” ออกเสียงคล้ายเจ้าชู้ คนไทยรู้สึกในทางไม่ดี แต่คนลาวชอบ เพราะแปลว่า หล่อ เท่ หรือคำว่า “ซักเครื่อง” แปลว่า ซักผ้าด้วยมือ แต่คนไทยเข้าใจว่า ซักผ้าด้วยเครื่องหรือตอนที่นายกฯ ไทยไปลาว สื่อใช้คำนำหน้าว่า นางยิ่งลักษณ์ คนไทยก็งงว่าทำไมไม่ใช้นางสาว ทั้งที่ผู้หญิงลาวใช้คำว่า “นาง” ตั้งแต่เกิด เพราะไม่มีคำว่านางสาว และไม่มีคำว่า ขอบคุณ คนลาวใช้ว่า ขอบใจ จึงมีคำพูดในทำนองว่า ไทยไม่รู้จักซาว ลาวไม่รู้จักยี่สิบ ทั้งที่ ซาว เท่ากับ ยี่สิบ แต่เพราะไม่เข้าใจกัน

ภาษาลาวมีคำที่ใช้แยกตามระดับคล้ายไทย ข้าพเจ้า ใช้เป็นทางการ ส่วน ข้อย ใช้ทั่วๆ ไป และมักจะออกเสียงไม้จัตวา เช่น ไป๋ กิ๋น หากออกเสียงไม่ถูก เจ้าของภาษาอาจจะงง ส่วนการกินใช้มือเปิบ และกินข้าวเหนียวเป็นหลัก

ส่วนผู้เขียนภาษากัมพูชา “พลอย แสงลอย” กล่าวว่า คำทักทายของคนกัมพูชาใช้ว่า “ซัวซะเดย” หากเป็นผู้ชายจะใช้เรียกตัวว่า คญม บาด ส่วนผู้หญิงใช้ว่า เนียง คญม แทนคำว่า “ฉัน” ภาษาไทยและกัมพูชามีโครงสร้างประโยคและมีระดับชั้นเหมือนกัน ที่สำคัญคนกัมพูชาไม่ชอบให้เรียกเขมร แต่ให้ใช้ว่า ขแมร์

“ตูซาร์ นวย” อาจารย์ชาวเมียนมาร์ บอกว่า ที่จริงแล้วคำว่า เมียนมาร์ ควรใช้ว่า เมียนมา ตามภาษาท้องถิ่น และคำทักทาย คือ “มีน กะ ลา บา” ซึ่งมักจะใช้กันผิด เพราะมีเสียงควบเยอะ ทำให้คนไทยออกเสียงยาก นอกจากนี้ ความผิดพลาดยังอาจมาจากการสื่อสารกับคนเมียนมาร์ในไทยที่แม้จะมีทั้งหมด 4 ล้านคน แต่มีคนสัญชาติเมียนมาร์แท้ๆ แค่ราว 4 แสนคน นอกนั้นเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีมากถึง 135 กลุ่ม ซึ่งอาจจะไม่รู้ภาษาทางการ

“ขณะนี้มีหนังสือเกี่ยวกับภาษาเมียนมาร์จำนวนมาก แต่ก็มีที่ผิดพลาดเช่นกัน ทั้งเรื่องการสะกด ออกเสียง หากไม่มีการยืนยันว่าเขียนโดยคนเมียนมาร์แท้ที่เป็นเจ้าของภาษา ก็อาจจะอ้างอิงไม่ได้”

เมียนมาร์กำลังเนื้อหอม ใครๆ ก็อยากเข้าไปเที่ยว แต่มีข้อพึงระวังอย่างการเข้าศาสนสถาน คนเมียนมาร์เห็นว่า พระพุทธเจ้ายังไม่ใส่รองเท้า คนธรรมดาอย่างเราก็ต้องถอดรองเท้าถุงเท้าเหมือนกัน

ส่วนเรื่องการกินใช้มือข้างขวานำข้าวเข้าปาก และตักกับข้าวด้วยมือซ้าย ห้ามใช้มือขวาที่เปื้อนจับช้อนกลาง คนเมียนมาร์ไม่ดื่มน้ำเย็น แต่ดื่มชาร้อน เมื่อไปบ้านใครต้องกินอาหารสำหรับแขกให้หมด

ด้านภาษาเวียดนาม “ดร.สรตี ปรีชาปัญญากุล” เล่าว่า คำทักทาย คือ “ซิน จ่าว” หมายถึง ขอสวัสดี ภาษาเวียดนามมักขึ้นต้นด้วยคำว่า ซิน เพื่อแสดงความอ่อนน้อม และคนเวียดนามให้ความสำคัญกับลำดับอาวุโส ดังนั้น เมื่อถูกถามอายุก็ไม่ควรโกรธ

ส่วนเวลากินข้าวจะกินพร้อมกันที่โต๊ะอาหาร คนอาวุโสน้อยสุดจะต้องกล่าวเชิญ กินด้วยตะเกียบ หากจะคีบกับข้าวให้แขก ต้องใช้ตะเกียบด้านที่ไม่ได้กินเท่านั้น