ประโยชน์ของบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
อีกไม่กี่วัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็จะก้าวเข้าสู่ปีที่ 38
โดย...ริต้า ทัพภมาน ฝ่ายส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ประโยชน์การเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
อีกไม่กี่วัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็จะก้าวเข้าสู่ปีที่ 38 ซึ่งถือได้ว่าเป็นตลาดทุนไทยที่เป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย และยังเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญเพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ
วันนี้จึงขอนำเสนอประโยชน์ของการเป็นบริษัทมหาชน ที่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายมิติ เช่น ในแง่มุมทางการเงิน กิจการจะได้เครื่องมือในการระดมทุน ทั้งทุนจากผู้ถือหุ้นที่เป็นสาธารณชนในวงกว้าง (Equity Financing) และทุนจากการกู้ยืม (Debt Financing) ที่เหนือกว่ากิจการนอกตลาด หากกิจการมีการแข่งขันในตลาดเสรี การเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ย่อมได้เปรียบในแง่ต้นทุนของเงินในหลายๆ มิติ ดังนี้
1.ความสามารถในการระดมทุน เพื่อสนับสนุนการลงทุนของกิจการในระยะยาวที่ปราศจากดอกเบี้ย และภาระที่ต้องชำระเงินต้นกลับคืน ซึ่งบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถประกาศขายหุ้นได้ในวงกว้าง โดยดึงดูดนักลงทุนได้ทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในขณะที่การระดมทุนของบริษัทนอกตลาดจะอยู่ในวงจำกัด เฉพาะผู้ใกล้ชิด ที่รู้จักกิจการเท่านั้น
2.บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งทุนมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่เข้าจดทะเบียนแล้ว ยังสามารถระดมทุนผ่านเครื่องมือการเงินลักษณะต่างๆ เพิ่มได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะโครงการที่กิจการจะเข้าไปลงทุน ในขณะที่บริษัทนอกตลาดมีทางเลือกจำกัด
3.เนื่องจากความยืดหยุ่นในการบริหารทุนของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทเหล่านี้มีทางเลือกมากกว่า ในการปรับโครงสร้างเงินทุนของกิจการ (Capital Structure) เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในแต่ละช่วง เช่น ช่วงที่ดอกเบี้ยเงินกู้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น บริษัทจดทะเบียนอาจจะประกาศขายหุ้นเพิ่มทุน เพื่อนำทุนนั้นมาชำระหนี้ เพื่อลดสัดส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัท หรือในทางกลับกันในบางสถานการณ์บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังสามารถกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อซื้อหุ้นคืนจากตลาดเพื่อประโยชน์บางประการได้ด้วย
4.ผลจากการปรับโครงสร้างเงินทุนที่เหมาะสม จะทำให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแนวโน้มที่จะกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าบริษัทนอกตลาด ซึ่งรวมถึงการมีทางเลือกมากกว่า ในการจัดสรรเงินทุนให้เหมาะกับการลงทุนในแต่ละประเภท (Matching Principle) ทำให้ผู้ให้กู้มีความมั่นใจ ต่อความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงเช่นกัน
5.บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเสียภาษีรายได้ต่ำกว่าบริษัทนอกตลาด ทำให้ต้นทุนของกิจการต่ำลง และผู้ถือหุ้นของบริษัท ยังมีสิทธิพิเศษทางภาษีสูงกว่า ผู้ถือหุ้นของบริษัทนอกตลาดอีกด้วย นอกจากผลประโยชน์ในแง่การจัดโครงสร้างทางการเงินของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว ยังมีผลพลอยได้ที่สำคัญไม่แพ้กันเกิดขึ้นมาด้วย n
(อ่านต่อฉบับหน้า)