รู้จักกระเบื้องเซรามิกก่อนใช้

21 พฤษภาคม 2556

วัสดุประเภทกระเบื้องสำหรับปูพื้นและกรุผนังที่เรารู้จัก มีความหลากหลายทั้งขนาด โทนสี ลวดลาย ผิวสัมผัส ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นกระเบื้องเซรามิก กระเบื้องเคลือบ กระเบื้องแกรนิโต้ กระเบื้องเกลซพอร์ซเลน

วัสดุประเภทกระเบื้องสำหรับปูพื้นและกรุผนังที่เรารู้จัก มีความหลากหลายทั้งขนาด โทนสี ลวดลาย ผิวสัมผัส ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นกระเบื้องเซรามิก กระเบื้องเคลือบ กระเบื้องแกรนิโต้ กระเบื้องเกลซพอร์ซเลน

ถึงแม้กระเบื้องจะมีชื่อเรียกมากมาย แต่เราต่างก็เรียกประเภทของกระเบื้องเหล่านี้ว่า “กระเบื้องเซรามิก” ด้วยกันทั้งสิ้น ชื่อที่แตกต่างกันนั้นเป็นการแบ่งคุณสมบัติและการใช้งานของกระเบื้องที่แตกต่างกัน เช่น ความแข็งแกร่ง ความทนทาน การดูดซึมน้ำ ความเหมาะสมกับการใช้งานภายใน หรือการใช้งานภายนอก เป็นต้น

กระเบื้องเซรามิก คือ วัสดุแผ่นบางที่ทำมาจากดินและสารอนินทรีย์อื่นๆ มาเป็นวัตถุดิบในการขึ้นรูปและผ่านความร้อนที่อุณหภูมิสูง โดยสามารถแบ่งได้ตามลักษณะของเนื้อกระเบื้อง และตามลักษณะการใช้งาน

การแบ่งตามลักษณะของเนื้อกระเบื้อง สามารถแบ่งได้ดังนี้

1.Earthenware Body (เนื้อกระเบื้องเอิร์ทเทนแวร์) เนื้อกระเบื้องอาจเป็นสีขาวหรือสีแดง ขึ้นอยู่กับดินที่นำมาผสม เมื่อนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เซรามิกมักจะเผา 2 ครั้ง มีความพรุนตัวและดูดซึมน้ำสูง

2.Stoneware Body (เนื้อกระเบื้องแบบสโตนแวร์) เนื้อแข็งแกร่งและทึบแสง โดยทั่วไปมักจะมีสีน้ำตาล แต่ก็อาจจะมีเนื้อสีขาวได้ มีการดูดซึมน้ำปานกลาง

3.Porcelain Body (เนื้อกระเบื้องแบบพอร์ซเลน) เนื้อกระเบื้องมีสีขาว มีการใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง และมีการดูดซึมน้ำที่ต่ำมาก

การแบ่งตามลักษณะการใช้งาน สามารถแบ่งได้ดังนี้

1.กระเบื้องปูพื้น (Floor Tiles) มีการเคลือบสีที่ผิวหน้า เป็นเนื้อกระเบื้องแบบสโตนแวร์ เหมาะสำหรับงานปูพื้นภายในบ้านพักอาศัยทั่วไป รวมถึงสามารถปูผนังได้ด้วย

2.กระเบื้องปูผนัง (Wall Tiles) มีการเคลือบสีที่ผิวหน้า ที่มีเนื้อกระเบื้องเป็นแบบเอิร์ทเทนแวร์ เหมาะสำหรับงานกรุผนังภายในอาคารเท่านั้น เนื่องจากไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้รับน้ำหนักได้มากนัก (จึงไม่สามารถนำไปปูพื้นได้) และไม่ทนต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิภายนอกอาคาร


3.กระเบื้องแกรนิต (Homogeneous Tiles/Granite Tiles/Granito) กระเบื้องที่ไม่มีการเคลือบสี มีเนื้อกระเบื้องเป็นแบบพอร์ซเลน เป็นเนื้อเดียวกันทั้งแผ่น มีความสามารถในการรับแรงได้มาก ทนต่อการขัดสีได้ดี จึงเหมาะสำหรับการใช้งานในพื้นที่ที่มีการสัญจรมาก

4.กระเบื้องเกลซพอร์ซเลน (Glazed Porcelain Tiles) กระเบื้องที่มีการเคลือบสีที่ผิวหน้า ที่ผ่านกรรมวิธีการขึ้นรูปด้วยวิธีการปั๊มอัดองค์ประกอบ ทำให้ได้กระเบื้องเนื้อแน่น ละเอียด และเรียบ มีเนื้อกระเบื้องเป็นแบบพอร์ซเลน มีความสามารถในการรับแรงได้มาก ทนต่อการขัดสีได้ดี เหมาะสมกับการใช้งานในพื้นที่ที่มีการสัญจรมาก

จะเห็นได้ว่า กระเบื้องที่เหมาะสำหรับการปูทั้งพื้นและผนัง ทั้งภายในและภายนอก รวมถึงพื้นที่ที่มีการสัญจรสูง คือ กระเบื้องเกลซพอร์ซเลน และกระเบื้องแกรนิต เนื่องจากมีความแกร่ง ทนทาน สามารถรับน้ำหนักได้มาก นอกจากนี้ยังมีค่าการดูดซึมน้ำที่ต่ำมากอีกด้วย โดยกระเบื้องแกรนิตจะมีความพิเศษที่โดดเด่น คือ การเป็นเนื้อเดียวกันทั้งแผ่น หากสังเกตที่ขอบแผ่น ด้านข้างแผ่น หรือเมื่อถูกกะเทาะหรือตัดแบ่งออกมาแล้ว จะเห็นว่าเนื้อที่ผิวหน้ากับเนื้อด้านในจะเป็นสีเดียวกันซึ่งต่างจากกระเบื้องชนิดอื่นๆ ที่พื้นผิวและเนื้อกระเบื้องจะเห็นเป็นคนละสี (เนื่องจากกระเบื้องชนิดอื่นนั้นจะมีการเคลือบสีที่ผิวหน้า)

การเลือกกระเบื้องเซรามิคนั้น นอกจากคุณสมบัติของกระเบื้องแต่ละประเภทแล้ว ขนาดก็มีส่วนในการตัดสินใจเช่นกันค่ะ ข้อควรสังเกต คือ ดูว่าบริเวณที่จะปูกระเบื้องนั้นมีพื้นที่มากน้อยเพียงใด ถ้าพื้นที่ค่อนข้างกว้างขวาง ก็สามารถปูแผ่นใหญ่ได้ ไม่ว่าจะเป็นขนาด 16”x16”, 24”x24”, 24”x48” รวมถึงขนาด 1 เมตร x 1 เมตร แต่ถ้าพื้นที่ค่อนข้างเล็ก แนะนำให้ใช้กระเบื้องขนาด 8”x8” หรือ 12”x12”

ภาพ : กระเบื้อง LAMINAM รุ่น OXIDE MORO (ภาพซ้าย) และรุ่น SKETCH MORO (ภาพขวา) ซึ่งกระเบื้อง LAMINAM เป็นกระเบื้องที่อาศัยเทคโนโลยีชั้นสูงที่ทำให้กระเบื้องมีขนาดใหญ่กว่ากระเบื้องทั่วไป คือ มีทั้งขนาด 1 เมตร x 1 เมตร และ 1 เมตร x 3 เมตร และมีความหนาเพียง 3.5 มิลลิเมตรเท่านั้น

ส่วนการเลือกวัสดุปูพื้นนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นพิเศษ คือ เรื่องความลื่น ถ้าเป็นพื้นภายนอกอาคาร หรือบริเวณที่ต้องเปียกน้ำอยู่เสมอๆ การเลือกกระเบื้องที่ค่อนข้างฝืดหรือมีผิวสัมผัสค่อนข้างหยาบไปถึงหยาบมาก จะมีความปลอดภัยมากกว่ากระเบื้องที่เรียบหรือเคลือบมัน เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายจากการลื่นหกล้มได้ค่ะ แต่ข้อควรระวังคือ เรื่องการทำความสะอาด กระเบื้องยิ่งหยาบมาก การทำความสะอาดก็ยิ่งยากตามดังนั้น การเลือกกระเบื้องอาจจะต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ อย่างในการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปแบบ ความชอบของผู้ใช้งาน ขนาดพื้นที่ บริเวณที่ใช้งาน และที่สำคัญที่สุดคือเรื่องความปลอดภัยและการใช้งานตามประเภทกระเบื้องที่เหมาะสมนะคะ

Thailand Web Stat