posttoday

ส่งออกกุ้งไทยมีแนวโน้มหดตัว

04 มิถุนายน 2556

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองการส่งออกกุ้งไทยยังวิกฤต จากผลกระทบจากมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) ของสหรัฐฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองการส่งออกกุ้งไทยยังวิกฤต จากผลกระทบจากมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) ของสหรัฐฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ให้มุมมองแนวโน้มการส่งออกกุ้งของไทย โดยระบุว่า จากการที่กระทรวงพาณิย์ของสหรัฐฯ ได้เปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duties: CVD) ต่อสินค้ากุ้งที่นำเข้าจาก 7 ประเทศผู้ส่งออกหลักของตลาดสหรัฐฯ ได้แก่ จีน อินเดีย เวียดนาม มาเลเซีย เอกวาดอร์ อินโดนีเซีย และไทย หลังจากมีข้อกล่าวหาว่า 7 ประเทศดังกล่าวมีการอุดหนุนจากภาครัฐในการช่วยเหลือสนับสนุนการส่งออกและทำให้มีความได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคาเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมในประเทศสหรัฐฯ โดยเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ได้ประกาศอัตราภาษีอากรตอบโต้การอุดหนุนในเบื้องต้น โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าว รวมถึงสถานการณ์การส่งออกกุ้งไทยในช่วงที่เหลือของปี 2556 ดังนี้

มาตรการเก็บภาษีอากรตอบโต้การอุดหนุน (CVD) จากสหรัฐฯ...อีกปัจจัยลบที่กดดันการส่งออกกุ้งไทย

ในระยะที่ผ่านมา การส่งออกกุ้งของไทยเผชิญกับหลากหลายปัจจัยท้าทาย ทั้งจากต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น โรคกุ้งตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) ที่ระบาดตั้งแต่ปี 2555 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้ปริมาณผลผลิตกุ้งไม่เพียงพอสำหรับส่งออกและราคาวัตถุดิบสูงขึ้น รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาท นอกจากนี้ ยังเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะสถานการณ์ทางด้านแรงงานที่ไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มบัญชี Tier 2 Watch List ในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และการส่งออกกุ้งของไทย จากปัจจัยท้าทายข้างต้น ทำให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2556 ไทยมีมูลค่าการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งเท่ากับ 298 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวสูงถึงร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)

ส่งออกกุ้งไทยมีแนวโน้มหดตัว

แม้ไทยยังครองส่วนแบ่งตลาดกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งเป็นอันดับ 1 ในตลาดสหรัฐฯ แต่สัดส่วนดังกล่าวก็มีแนวโน้มลดลงค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของโรค EMS ทำให้ไทยมีผลผลิตกุ้งไม่เพียงพอสำหรับส่งออกและมีราคากุ้งเพิ่มสูงขึ้น ด้านส่วนแบ่งตลาดของจีนและเวียดนามในตลาดสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากมีการระบาดของโรคกุ้งตายด่วนเช่นเดียวกับไทย ซึ่งทำให้สหรัฐฯ หันไปนำเข้ากุ้งจากอินเดีย เอกวาดอร์ และอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น สอดรับกับการที่ประเทศคู่แข่งทั้ง 3 ประเทศดังกล่าวยังมีศักยภาพในเชิงพื้นที่เพาะเลี้ยงและความสามารถในการพัฒนาการผลิตจนมีผลผลิตกุ้งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ได้ประกาศอัตราภาษีอากรตอบโต้การอุดหนุน (CVD) ของทั้ง 7 ประเทศ อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ โดยกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ จะมีการทบทวนอัตราภาษีดังกล่าวเป็นขั้นสุดท้ายในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2556 ซึ่งไทยยังสามารถชี้แจงข้อเท็จจริงก่อนการทบทวนขั้นสุดท้ายได้

ส่งออกกุ้งไทยมีแนวโน้มหดตัว

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากสหรัฐฯ ยังคงยืนการเรียกเก็บภาษีเท่ากับอัตราขั้นต้น ก็ถือว่าอัตราภาษีอากรที่ไทยถูกเรียกเก็บยังเป็นระดับที่ไม่สูงมากและยังมีความได้เปรียบเมื่อเทียบกับคู่แข่งส่วนใหญ่ คือ จีน อินเดีย เวียดนาม และมาเลเซีย แต่อาจจะยิ่งทำให้เอกวาดอร์และอินโดนีเซียซึ่งไม่ถูกเรียกเก็บภาษี มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และทำให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นอีกในระยะต่อไป ดังนั้น ไทยควรเร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนผลผลิตกุ้งในการส่งออกและแก้ไขสถานการณ์ด้านแรงงานเพื่อรักษาจุดยืนของการเป็นผู้ส่งออกกุ้งหลักในตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ไว้


การส่งออกกุ้งไทยในระยะถัดไป ... ปัจจัยสำคัญยังคงขึ้นอยู่กับการคลี่คลายปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ รวมถึงการบริหารจัดการด้านค่าแรงและค่าเงินของผู้ประกอบการ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากในระยะถัดไปการระบาดของโรคกุ้งตายด่วนยังไม่คลี่คลายและผลผลิตกุ้งยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ อาจทำให้การเรียกเก็บภาษีจากสหรัฐฯ ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกกุ้งของไทยในปี 2556 มากนัก เนื่องจากไทยจะยังคงมีวัตถุดิบไม่เพียงพอสำหรับการส่งออก  อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์โรคกุ้งตายด่วนสามารถคลี่คลายลงได้ ผนวกกับค่าเงินบาทปรับตัวในทิศทางที่มีเสถียรภาพมากขึ้น คงจะช่วยประคองให้สถานการณ์การส่งออกกุ้งในครึ่งหลังของปี 2556 ฟื้นตัวดีขึ้นจากในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากความต้องการนำเข้ากุ้งจากตลาดหลัก (สหรัฐฯ และญี่ปุ่น) ที่ยังคงมีอยู่ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งของไทยในระยะที่เหลือของปีนี้ น่าจะไม่แย่ลงไปกว่าที่หดตัวสูงถึงร้อยละ 27 (YoY) ในช่วง 4 เดือนแรกของปี หรือประเมินว่า มูลค่าการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งของไทยสำหรับภาพทั้งปี 2556 อาจหดตัวอยู่ในกรอบร้อยละ 19-27

มองไปข้างหน้า ผู้ประกอบการส่งออกกุ้งไทยยังจำเป็นต้องเร่งคลี่คลายปัจจัยลบที่เกิดขึ้น และเสริมจุดแข็งด้วยการเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของผู้นำเข้าในตลาดหลักและตลาดศักยภาพใหม่ๆ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายที่รออยู่ (นอกเหนือไปจากประเด็นการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การอุดหนุนและการจัดให้ไทยอยู่ในบัญชีที่ต้องจับตาจากสหรัฐฯ) โดยเฉพาะจากความเป็นไปได้ที่สินค้าส่งออกของไทย รวมถึงกุ้ง จะถูกตัดสิทธิ GSP จากตลาดสหภาพยุโรป (อียู) ในปี 2557 แม้ผลจากปัจจัยดังกล่าวอาจจะได้รับการบรรเทาจากการบรรลุกรอบเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-อียู ก็ตาม