นั่งทำงานที่ไหนดี ถ้าไม่มีออฟฟิศ
สำหรับคนที่เริ่มก่อตั้งธุรกิจ หรือเรียกว่า Startup คนทำงานอิสระ หรือฟรีแลนซ์ และคนทำงานที่ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ
นั่งทำงานที่ไหนดี ถ้าไม่มีออฟฟิศ
สำหรับคนที่เริ่มก่อตั้งธุรกิจ หรือ เรียกว่า Startup, คนทำงานอิสระ หรือ ฟรีแลนซ์ และคนทำงานที่ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ รวมถึงอาชีพนักลงทุน ที่ไหนๆ ก็เป็น “ที่ทำงาน” ได้ทั้งนั้น ขอแค่มีคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค หรือ แทปเล็ตสักเครื่อง มีปลั๊กให้ชาร์ตไฟ กับสัญญาณ wifi แรงๆ
นอกจากความสะดวกสบายของ “ออฟฟิศเคลื่อนที่” แล้ว ประเด็นสำคัญ คือ ประหยัดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะคนที่เริ่มก่อร่างสร้างธุรกิจ และ ฟรีแลนซ์ คงไม่ต้องคิดถึงการเช่าพื้นที่เพื่อเปิดออฟฟิศหรูใจกลางเมือง
หลายคนก็เลยเลือกที่จะทำงานที่บ้าน ที่ร้านกาแฟ ที่ห้องสมุด และที่ Coworking Space ซึ่งในแต่ละสถานที่มี ข้อดี ข้อด้อย และค่าใช้จ่ายที่ต่างกัน ก็เลยถือโอกาสหยิบสถานที่ “นั่งทำงาน” ทั้ง 4 รูปแบบมาลองเปรียบเทียบกันดูว่า ทำงานที่ไหนจะดีกว่ากัน
Work @ Home
ทำงานที่บ้าน
หลายคนน่าจะรู้จักคำว่า Work @ Home จากคำโฆษณาของธุรกิจแบบ MLM แต่ในที่นี้คือ การทำงานที่บ้านจริงๆ ซึ่งคนที่เริ่มก่อตั้งธุรกิจใหม่ และ ฟรีแลนซ์ มักเลือกจะทำงานที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ เพราะสะดวก และ ประหยัด
ข้อดี
ไม่ต้องเดินทาง ประหยัดค่าเดินทาง แถมยังไม่ต้องหงุดหงิดกับการจราจรที่ติดขัดแสนสาหัสแบบในทุกวันนี้
ประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการเช่าพื้นที่เพื่อเปิดออฟฟิศในย่านธุรกิจ
อยากจะทำงานตอนไหนก็ได้ บางทีก็ไม่ต้องอาบน้ำ แปรงฟัน ด้วยซ้ำ แค่ลุกจากที่นอน ไปนั่งโต๊ะทำงาน (หรือจะนั่งทำงานบนที่นอนนุ่มๆ ก็ไม่มีใครว่า)
เลือกทำงานในเวลาที่เหมาะสมกับตัวเองได้มากที่สุด เพราะแต่ละคนจะมีช่วงเวลาที่ “สมองแล่น” ไม่เหมือนกัน บางคนชอบทำงานตอนเช้าๆ บางคนชอบทำงานตอนดึกๆ
ข้อด้อย
บางบ้านอาจจะมีสิ่งรบกวนสมาธิมากเกินไป และในบางกรณีอาจจะดูไม่เป็นมืออาชีพ ไม่น่าเชื่อถือ เมื่อต้องนัดลูกค้ามาคุยงานที่บ้าน และการเดินทางอาจจะไม่สะดวกสำหรับลูกค้า
หลายคนต้องใช้เวลาทำงานนานขึ้น แต่ได้ประสิทธิภาพเท่าเดิม (หรือ น้อยลง) และที่สำคัญ คือ ถ้าต้องการทำงานให้ได้ประสิทธิภาพจะต้องมีวินัยในการทำงานอย่างมาก
ตื่นและนอนไม่เป็นเวลา ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ และบางคนไม่สามารถแยกชีวิตส่วนตัว กับ งานออกจากกันได้
เมื่อทำงานที่บ้านคนเดียวไปนานๆ จะเหงา รู้สึกโดดเดี่ยว และไม่มีสังคม จึงพัฒนาตัวเองได้ยาก
ค่าใช้จ่าย
ถ้าใครคิดว่า การทำงานที่บ้านไม่มีค่าใช้จ่าย เห็นทีต้องคิดใหม่ เพราะไหนจะค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต (ที่ต้องจ่ายเพิ่มจากการใช้ชีวิตปกติ) ซึ่งรวมๆ แล้วอาจจะไม่น้อยอย่างที่คิด แม้ว่าจะน้อยกว่าการเช่าออฟฟิศ
มีเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแล้วกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถเลือกทำงานที่บ้าน หรือ เข้ามาทำในออฟฟิศได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ แรกๆ พนักงานส่วนใหญ่เลือกทำงานที่บ้าน แต่หลังจากนั้นไม่นานพนักงานบางส่วนกลับมานั่งทำงานในบริษัทตามเดิม เพราะค่าไฟที่บ้านพุ่งกระฉูด จากการเปิดแอร์และใช้คอมพิวเตอร์ทั้งวัน
แก้ปัญหา
จัดบ้านให้เป็น Home Office ที่มีการแบ่งพื้นที่ส่วนตัว กับ พื้นที่การทำงานออกจากกันอย่างชัดเจน รวมทั้งมีวินัยกับตารางเวลาในการทำงาน
เมื่อต้องนัดคุยงานกับลูกค้าควรเลือกสถานที่ที่เหมาะสม ถ้าบรรยากาศที่บ้านไม่เอื้ออำนวย และ การเดินทางไม่สะดวก
ออกไปพบปะผู้คน และ เข้ากลุ่มสังคมบ้าง โดยเฉพาะเวลาต้องการไอเดียใหม่ๆ
Work @ Coffee Shop
ทำงานที่ร้านกาแฟ
ทุกวันนี้ มีร้านกาแฟ และร้านเบเกอรี่ บรรยากาศดีๆ ในหลากหลายสไตล์อยู่ทั่วทุกมุมเมือง ซึ่งบางแห่งก็เหมาะมากที่จะใช้เป็นออฟฟิศเคลื่อนที่ เพราะมีบริการทั้งปลั๊กไฟ และ wifi ฟรี แต่ถ้าไปถามเจ้าของร้านกาแฟ คงมีไม่กี่รายที่บอกว่า ชอบให้ลูกค้า “นั่งแช่” โดยเฉพาะร้านในทำเลทองที่มีคนพลุกพล่าน
ข้อดี
บรรยากาศดี หาได้ง่าย และมีหลากหลายสไตล์มีให้เลือกอยู่ทั่วทุกมุมเมือง
ได้พบผู้คน (แม้บางทีจะไม่ได้พูดคุยกัน)
สำหรับหลายคน “เสียงจอแจ” ในร้านกาแฟช่วยให้มีสมาธิในการทำงานมากขึ้น
ข้อด้อย
ถ้าเป็นคนที่ “อ่อนไหว” ต่อสิ่งรบกวนจากภายนอก เสียสมาธิได้ง่าย ก็คงไม่เหมาะกับการนั่งทำงานที่ต้องการสมาธิในร้านกาแฟที่มีคนพลุกพล่าน
ถูกกดดันจากพนักงาน เพราะไม่อยากให้นั่งนานๆ
ไม่มีอุปกรณ์สนับสนุนการทำงานที่ดีพอ เช่น ไม่มีปลั๊กสำหรับชาร์ตไฟ ไม่มี wifi และคิดเงินค่าใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ต
ไม่สามารถลุกออกจากโต๊ะ โดยวางข้าวของทิ้งไว้ได้อย่างสบายใจ เพราะอาจจะไม่ปลอดภัย ข้าวของสูญหาย
ค่าใช้จ่าย
ไปร้านกาแฟก็ต้องกินกาแฟ (บางทีแก้วเดียวก็ไม่พอ) อาจจะมีขนมแถมด้วยอีกหน่อย เพราะฉะนั้นค่าใช้จ่ายในการออกไปนั่งทำงานที่ร้านกาแฟก็จะผันแปรไปกับร้านกาแฟที่เราเลือกไปนั่ง ซึ่งรวมค่าน้ำและขนมแล้วน่าจะอยู่ราวๆ 200300 บาท ต่อวัน
นอกจากนี้ ถ้าในร้านไม่มีบริการ wifi ฟรี ก็จะต้องเสียเงินค่าบริการเพิ่มอีก และถ้าบวกกับค่าเดินทาง ค่าอาหาร ต้นทุนในการนั่งทำงานในร้านกาแฟก็ไม่ใช่น้อยเลย
แก้ปัญหา
เลือกร้านกาแฟที่เหมาะกับการนั่งทำงาน ราคากาแฟไม่สูงเกินไป และมีอุปกรณ์สนับสนุนการทำงาน รวมทั้ง wifi ฟรี
สถานที่แนะนำ
ในเว็บไซต์ cookiecoffee.com แนะนำ ร้านกาแฟที่น่านั่งทำงานไว้ 78 แห่ง ได้แก่ Starbucks, Cafe' Kaldi, Amazon, Coffee World, Au Bon Pain, Mezzo และ บ้านใร่กาแฟ แต่ต้องเลือกบางสาขาที่มีปลั๊กไฟ มี wifi และยินดีให้บริการลูกค้าแบบเรา
นอกจากร้านกาแฟและเบเกอรี่ทั่วๆ ไปแล้ว ยังมีร้านน่านั่งทำงานอีก 23 แห่ง ที่อยากจะแนะนำให้เป็นทางเลือก ซึ่งร้านเหล่านี้อาจจะไม่ใช่ร้านกาแฟเต็มรูปแบบ เพราะมี “คอนเซปต์” ที่แตกต่าง และยินดีให้บริการลูกค้านั่งนาน
@Too Fast To Sleep ที่นี่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง โดยเป็นทั้งห้องสมุด ที่นั่งทำงาน ร้านกาแฟ เบเกอรี่ และอาหารจานด่วน รวมทั้งไวน์ในช่วงค่ำอีกด้วย โดยร้านอยู่ตรงข้ามจามจุรี สแควร์ ฝั่งเดียวกับวัดหัวลำโพง
@ไลบรารี่ ร้านนี้มี 2 สาขา คือ ที่พระรามเก้า และ สุขุมวิท 24 ซึ่งเจ้าของร้านเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ตั้งใจจะให้ที่นี่เป็น “ห้องสมุดของคนรักกาแฟ” ที่มีบริการอินเตอร์เน็ตฟรี แถมยังยินดีที่ลูกค้าจะนั่งกันนานๆ
@ Think Tank (third place) ร้านนี้เพิ่งจะเปิดมาได้ปีกว่าๆ อยู่ตรงข้าม ม.ราชมงคลเทคนิคกรุงเทพประตูทางเข้าฝั่งถนนนางลิ้นจี่ ซึ่งใน facebook fanpage ของ Think Tank (www.facebook/Thinktank.TH) บอกว่า คอนเซปต์ของ Think Tank เกิดจากความชอบที่จะออกไปนั่งทำงาน อ่านหนังสือนอกบ้าน แต่ก็เจอสารพัดปัญหา เช่น ไม่มีที่นั่ง หรือ เสียงดังทำให้ไม่มีสมาธิทำงาน
“พวกเราจึงคิดกันว่า ทำไมเราไม่หาที่เพื่อทำห้องสมุดที่ทุกคนสามารถนั่งทำงาน อ่านหนังสือ นั่งเล่นพักผ่อน แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือความตั้งใจของเราที่อยากใส่ความใจดีเพิ่มเข้าไป เช่น ใช้อินเตอร์เน็ตฟรี กาแฟราคาไม่แพง นั่งได้ทั้งวันไม่ต้องโดนพนักงานกดดันให้ซื้อของ”
Work @ Library
ทำงานที่ห้องสมุด
ตอนเป็นนักเรียนนักศึกษา ก็นั่งอ่านหนังสือ ทำรายงาน กันในห้องสมุด แล้วจะเป็นอะไรไปถ้าจะกลับไปนั่งทำงานในห้องสมุดอีกครั้ง
ข้อดี
เงียบสงบ ทำให้มีสมาธิในการทำงาน
ได้พบปะผู้คน และอาจจะได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ
ข้อด้อย
ส่วนใหญ่งดใช้เสียง เพราะฉะนั้นถ้าจะคุยงาน หรือ รับโทรศัพท์มือถืออาจจะไม่สะดวก
ไม่มีอุปกรณ์สนับสนุนการทำงานที่ดีพอ เช่น ปลั๊กไฟไม่มากพอ อินเตอร์อาจจะเสียเงิน
ห้องสมุดพื้นที่สาธารณะ จึงต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัย
ค่าใช้จ่าย
แม้ไม่ใช่ร้านกาแฟ แต่ก็ใช่ว่า จะไม่มีเครื่องดื่ม ขนมหวาน และอาหาร ให้เลือกซื้อ และยังมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
นอกจากนี้ การเข้าใช้บริการห้องสมุดบางแห่งยังต้องเป็นสมาชิก หรือ มีค่าเข้าใช้บริการ รวมทั้งค่าใช้บริการอินเตอร์เน็ต ในกรณีที่ไม่มีบริการฟรี
แก้ปัญหา
ถ้าเป็นการนัดคุยงานอาจจะต้องหลีกเลี่ยงไปใช้สถานที่อื่นที่เหมาะสมมากกว่า
เลือกมาในช่วงเวลาที่ต้องการทำงานแบบใช้สมาธิ
สถานที่แนะนำ
@ห้องสมุดใกล้บ้าน ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดตามมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือ ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ ของ กทม. ที่มีอยู่หลายแห่งทั่วกรุงเทพ รวมทั้งห้องสมุดประชาชน ซึ่งนอกจากจะสงบ ค่าใช้จ่ายน้อยแล้ว ในบางพื้นที่อาจจะอยู่ในเขตที่มีสัญญาณ wifi บริการฟรีอีกด้วย
@ห้องสมุดมารวย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คลองเตย ไม่จำเป็นว่า ต้องเป็นนักลงทุน หรือ คนที่สนใจลงทุนเท่านั้นที่จะเข้าไปใช้บริการได้ เพราะที่นี่เปิดบริการฟรี มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีวันหยุด โดยจะปิดบริการเวลา 24.00 น. ในวันศุกร์เสาร์ ปิด 23.00 น. ในวันอาทิตย์พฤหัสฯ
นอกจากนี้ ยังสามารถไปนั่งทำงานได้ที่ @TK Park ชั้น 8 เซ็นทรัลเวิร์ล @TCDC ชั้น 6 เอ็มโพเรี่ยม และ @ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อยู่ในซอยงามดูพลี ถนนพระรามสี่
Work @ Coworking Space
พื้นที่ทำงานร่วมกัน
Coworking Space หรือ พื้นที่ทำงานร่วมกัน เป็นสถานที่ทำงานแนวใหม่ที่กำลัง “อินเทรนด์” ในหมู่ของคนที่เริ่มธุรกิจใหม่ และ ฟรีแลนซ์ ทั่วโลก แต่สำหรับประเทศไทยอาจจะยังเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีความได้เปรียบการทำงานที่อื่นๆ อยู่หลายข้อ
ข้อดี
บรรยากาศเหมาะกับการทำงาน โดยที่ยังสามารถเลือกเวลาทำงานที่เหมาะสมกับตัวเองได้เหมือนกับการทำงานที่บ้าน
ได้กลุ่มสังคม มีโอกาสได้พบกับคนที่ใช่ โดยเฉพาะคนที่สามารถแชร์ไอเดีย ร่วมทำธุรกิจ ไปจนถึงกลุ่มทุนที่กำลังมองหาธุรกิจที่น่าสนใจร่วมลงทุน ซึ่งเรามีโอกาสน้อยมากที่จะพบคนเหล่านี้ที่บ้าน ที่ร้านกาแฟ หรือ ที่ห้องสมุด