ชีวิตครูพม่าในไทย
หากจะเรียกว่าประเทศไทยเป็นขุมทองของชาวพม่าก็คงไม่ผิดเพี้ยนมากนัก เนื่องจากปัจจุบันจะเห็นว่ามีชาวพม่าเข้ามาสอดแทรกอยู่ในตลาดแรงงานไทยทุกระดับชั้น เช่นเดียวกับ นีลา วิน ครูชาวพม่าที่ตัดสินใจเดินทางเข้ามาเป็นครูภาษาที่โรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ จ.กาญจนบุรี
หากจะเรียกว่าประเทศไทยเป็นขุมทองของชาวพม่าก็คงไม่ผิดเพี้ยนมากนัก เนื่องจากปัจจุบันจะเห็นว่ามีชาวพม่าเข้ามาสอดแทรกอยู่ในตลาดแรงงานไทยทุกระดับชั้น เช่นเดียวกับ นีลา วิน ครูชาวพม่าที่ตัดสินใจเดินทางเข้ามาเป็นครูภาษาที่โรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ จ.กาญจนบุรี
โรงเรียนแห่งนี้กลายเป็นบ้านแห่งที่สองสำหรับครูสอนภาษาต่างประเทศหลายสิบชีวิต ทั้งจากชาติตะวันตกและประเทศในกลุ่มอาเซียน เนื่องจากโรงเรียนมีเป้าหมายว่าจะติดอาวุธด้านภาษาให้กับนักเรียนของตนเอง ในยุคที่ประเทศไทยกำลังนับถอยหลังเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยนอกจากจ้างครูเจ้าของภาษาอังกฤษแล้ว โรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ยังได้เริ่มนำร่องเปิดสอนภาษาชาติอาเซียนอย่างพม่าด้วย เนื่องจากโรงเรียนมีทำเลอยู่ใกล้ชายแดนพม่า จึงคิดว่า การรู้ภาษาประเทศเพื่อนบ้านจะช่วยให้เด็กไทยและชาวพม่าเข้าใจกันมากขึ้นด้วย
นีลา วิน เล่าว่า สมัยที่ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเกิดเมืองนอนนั้น เธอเป็นครูสอนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์ให้กับเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 16 ในกรุงย่างกุ้ง แต่เมื่อมีหลานเข้ามาเรียนใน จ.กาญจนบุรี จึงทำให้ทราบว่าโรงเรียนแห่งนี้กำลังต้องการครูมาสอนภาษาพม่าเพื่อเสริมทักษะภาษาอาเซียนให้กับเด็กไทย ในยุคที่กำลังมีการตื่นตัวเรื่องประชาคมอาเซียนกันบ้าง เธอจึงตัดสินใจมาสมัครงานและหากนับถึงวันนี้ก็เข้ามาสอนหนังสือในเมืองไทยได้เพียง 11 เดือนเท่านั้น
ครูสาวชาวพม่าคนนี้ยอมรับว่า การใช้ชีวิตต่างถิ่นต่างเมืองนั้น ช่วง 5 เดือนแรกเป็นเวลาที่ลำบากจริงๆ เพราะจะต้องปรับตัวอย่างหนัก โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารกับเด็กนักเรียน เพราะเธอยังพูดภาษาไทยไม่ได้ แต่พอจะฟังเข้าใจอยู่บ้าง (ดังนั้นจะนินทาไม่ได้นะ) ดังนั้นในช่วงแรกๆ ของการมาสอนหนังสือในเมืองไทย เธอจึงต้องอาศัยภาษากายและภาษาอังกฤษ มาเป็นตัวช่วยในการสื่อสาร
เมื่อถามถึงเรื่องของวัฒนธรรมและประเพณี นีลา วิน มองว่า ไทยกับพม่ามีความคล้ายคลึงกันในเรื่องนี้ เพียงแต่พม่าค่อนข้างเคร่งครัดกว่า เช่น ทุกวันพระคนพม่าจะต้องเข้าวัดไปทำบุญ ส่วนการแต่งตัวก็จะต้องเรียบร้อย แต่คนไทยมีความยืดหยุ่นมากกว่า สามารถแต่งตัวสบายๆ ได้
เช่นเดียวกับระบบการศึกษาของพม่าที่ค่อนข้างเคร่งครัดและเคร่งเครียดกับการท่องจำตำราเรียนและการสอบผ่านในแต่ละชั้นก็เข้มงวดมาก เด็กนักเรียนต้องทุ่มเทเวลาเรียนอย่างจริงจังกันทั้งปีแต่จะมีการสอบวัดผลเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เรียกได้ว่า หากสอบไม่ผ่าน ก็ต้องเรียนซ้ำชั้นกันอีกรอบ ต่างจากระบบการศึกษาของเมืองไทย ที่เด็กนักเรียนมีโอกาสมากกว่า เพราะมีการแบ่งสอบเก็บคะแนนระหว่างเทอมหลายครั้ง แถมยังให้โอกาสนักเรียนสามารถสอบแก้ตัวได้อีกด้วย
ระบบการศึกษาที่เข้มข้นสไตล์พม่าแบบนี้เอง ที่ทำให้คนพม่ากว่าที่จะเรียนจบปริญญาตรีจะต้องใช้ความสามารถมากๆ แต่เมื่อพูดถึงผลตอบแทนในรูปของเงินเดือนแล้ว กลับพบว่าบัณฑิตปริญญาตรีของพม่าจะได้รับเงินเดือนเริ่มต้นเทียบเป็นเงินไทยเพียง 3,000 บาทเท่านั้น
ขณะที่ ถ้าข้ามฝั่งมาสอนหนังสือในประเทศไทยอย่าง นีลา วิน จะได้ค่าเหนื่อยแต่ละเดือนประมาณ 1.6 หมื่นบาท ทำให้ตอนนี้เธอสามารถแบ่งรายได้ส่งกลับไปให้คนที่บ้านในพม่าได้มากถึงเดือนละ 6,000 บาทได้แบบสบายๆ แถมยังมีเงินเหลือเก็บอีกไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5,000 บาทอีกด้วย
หลังจากคลุกคลีกับคนไทยและใช้ชีวิตใน จ.กาญจนบุรี มาแล้วเกือบ 1 ปี นีลา วิน บอกว่า ถึงวันนี้เธอรู้สึกคุ้นเคยและรู้สึกว่าอยู่เมืองไทยสบายกว่าอยู่พม่าเยอะ จะเดินทางไปไหนมาไหนก็สะดวกสบาย ทำงานได้เงินเดือนดี เลี้ยงดูคนทางพม่าได้แบบไม่ลำบากเลย