การแอบบันทึกเสียงการสนทนา

11 กรกฎาคม 2556

ช่วงนี้มีคลิปดังระหว่างชายคนหนึ่งกับชายอีกคนหนึ่ง หลายคนเดาว่าเหมือนอดีตนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีช่วยกระทรวงหนึ่ง ใครเดาก็เดากันไปเถอะครับ เพราะเดาผิด เดาถูก อาจจะได้รับหมายเรียกจากตำรวจได้นะครับ วันนี้ผมในฐานะที่เป็นทนายความและนักสืบ จึงขอนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องการดักฟัง ดังนี้

ช่วงนี้มีคลิปดังระหว่างชายคนหนึ่งกับชายอีกคนหนึ่ง หลายคนเดาว่าเหมือนอดีตนายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีช่วยกระทรวงหนึ่ง ใครเดาก็เดากันไปเถอะครับ เพราะเดาผิด เดาถูก อาจจะได้รับหมายเรียกจากตำรวจได้นะครับ วันนี้ผมในฐานะที่เป็นทนายความและนักสืบ จึงขอนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องการดักฟัง ดังนี้

การซ่อนเครื่องดักฟังทำอย่างไร

ในฐานะที่เป็นนักสืบขออธิบายขั้นตอนการดักฟังการสนทนาในองค์กร ไม่ใช่เรื่องยาก ส่วนใหญ่คนที่นำอุปกรณ์เข้าไปดักฟังมักจะเป็นคนใกล้ชิดกับเป้าหมาย เช่น แม่บ้าน คนขับรถ เลขาของเป้าหมาย หรือเป็นบุคคลที่สามารถเข้าถึงตัวหรือสถานที่ที่เป้าหมายอยู่ได้ ดังนั้น คนที่ดักฟังการสนทนา จึงเป็นคนที่ใกล้ตัวทั้งนั้น

มีเครื่องตรวจจับไหม

มีเครื่องตรวจจับว่ามีการดักฟังหรือมีการบันทึกเสียงในระหว่างการสนทนาจริง เท่าที่ทราบต้องไปซื้อจากไต้หวัน มีหลายคนนำมาใช้ในการป้องกันการบันทึกเสียงระหว่างการสนทนาเท่าที่ทราบ

การรับฟังเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล

การแอบบันทึกเสียงการสนทนา ถ้าเป็นความผิดต่อส่วนตัว จะใช้เป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความจริงได้ต่อเมื่อมีเสียงหรือภาพของผู้ที่จะนำสิ่งบันทึกเสียงมาเบิกความอยู่ด้วยจึงจะรับฟังได้ เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเบิกความด้วยวาจาของพยานบุคคล

ต้องถอดเทปคำสนทนา

ถ้าดักฟังได้ข้อเท็จจริงมาแล้ว ถ้าจะใช้เป็นพยานหลักฐานต้องไปถอดคำพูดออกมาและพิมพ์ข้อความตามความเป็นจริง ห้ามสรุป เพื่อประกอบสิ่งบันทึกเสียง ไม่ว่าจะเป็นซีดีหรือวีซีดี เพื่อให้ง่ายต่อการสืบพยาน และต้องจดไว้ด้วยว่า คำพูดอยู่ระหว่างช่วงไหน เช่น นาที 03.0103.20 น. เป็นต้น และห้ามตัดต่อเพราะเท่ากับว่าพยานหลักฐานมีข้อบกพร่องหรือเสียไปเลย เป็นพยานหลักฐานเกิดขึ้นโดยมิชอบ รับฟังไม่ได้

การเอาไปขึ้นเว็บหรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก

หากใครเผยแพร่ก็อาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 ในลักษณะการนำข้อมูลอันเป็นเท็จมาเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต โทษจำคุกไม่เกินห้าปี และโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น ก็ระมัดระวังกันหน่อยนะครับ

การเลียนเสียง

สำหรับประเทศไทยยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญหรือเทคโนโลยีเพียงพอที่จะพิสูจน์ว่าเสียงสนทนาที่คล้ายอดีตนายกฯ และ รมช.กลาโหม เป็นเสียงจริงหรือไม่ เทียบเคียงคดีในอดีตกรณีนักการเมืองคนหนึ่งหาเสียงทางภาคใต้ที่จังหวัดหนึ่งก็ไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่าเป็นเสียงนักการเมืองคนนั้นจริงหรือไม่ จึงทำให้เกิดช่องว่างทางกฎหมายยากในการเอาผิดของผู้ที่มีเสียงคล้ายอยู่ในคลิปเสียงที่เป็นคลิปฉาวอยู่ในเวลานี้

ส่วนใหญ่คดีที่มีการดักฟังเป็นคดีประเภทใด

คดีที่นิยมดักฟังมากที่สุดคือ คดีชู้สาว รองลงมาคือเรื่องทุจริต และเรื่องการเมือง ซึ่งคนที่ดักฟังก็คือพวกเดียวกันที่เสียผลประโยชน์หรือต้องการทำลายคู่แข่ง

ถ้าไม่อยากถูกดักฟังต้องทำอย่างไร

วิธีที่ดีที่สุด ก็อย่าสนทนาในเรื่องที่ไม่ดี ดูหมิ่นบุคคลอื่นหรือพูดในสิ่งที่ผิดกฎหมาย หรือขายชาติ บ่อนทำลายประเทศชาติ ถ้าพูดแต่ในสิ่งที่ถูกต้อง ถูกกฎหมาย ถูกศีลธรรม ดักฟังไปก็ไม่เป็นผลร้ายต่อผู้พูด ผมเองเป็นทนายความถูกลูกความดักฟังโดยการบันทึกเสียงโดยใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกภาพขณะสนทนาทั้งที่รู้แต่แกล้งโง่ ทำเป็นไม่รู้เพราะผมเองพูดแต่หลักกฎหมาย แจ้งสิทธิ ชี้ให้เห็นถึงผลดี ผลเสียของคดี ไม่ได้พูดถึงการวิ่งเต้นล้มคดี จึงไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง ใครอยากจะดักฟังก็เชิญหรือจะนำไปขึ้น Youtube ก็ได้ ไม่มีอะไรทำให้ผมเสียหาย แต่คนที่ดักฟังผม ถ้าผมจับได้ ผมก็จะดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งรัฐธรรมนูญรับรองไว้

ถูกดักฟังแล้วแก้ไขอย่างไร

วิธีการแก้ไข ก็เหมือนนักการเมืองหรือข้าราชการทั่วไป ไม่ว่าหน่วยงานไหน เมื่อถูกดักฟัง สิ่งแรกที่จะออกมาพูดก็คือ มีการตัดต่อ หรือเป็นการเลียนเสียงของตนเอง ซึ่งมุขนี้ใช้กับทุกพรรค ไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล แม้กระทั่งการดักฟังตุลาการ ก็ใช้มุขเดียวกัน เป็นมุขที่ได้ผลเพราะตรวจสอบยากว่าตัดต่อหรือไม่ สุดท้ายก็ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นเสียงจริงหรือไม่ ตัดต่อจริงหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ยุติ จึงไม่สามารถดำเนินคดีกับใครได้ ถึงแม้ว่าจะเชื่อว่าเป็นเสียงของคนนั้น เมื่อข้อเท็จจริงยังไม่ยุติ จะนำข้อกฎหมายไปปรับเพื่อลงโทษเจ้าของเสียงพูดในคลิปไม่ได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 227 วรรคสอง

Thailand Web Stat