Coworking Space มากกว่าแค่ พื้นที่ทำงานร่วมกัน
อย่างที่บอกกันไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า Coworking Space หรือพื้นที่ทำงานร่วมกัน เป็นสถานที่ทำงานแนวใหม่ที่กำลัง “อินเทรนด์”
อย่างที่บอกกันไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า Coworking Space หรือพื้นที่ทำงานร่วมกัน เป็นสถานที่ทำงานแนวใหม่ที่กำลัง “อินเทรนด์” ในหมู่ของคนที่เริ่มธุรกิจใหม่ และฟรีแลนซ์ ทั่วโลก
เว็บไซต์ deskmag.com ซึ่งเป็นนิตยสารออนไลน์ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ Coworking Spaces ให้ข้อมูลว่า เมื่อเดือน ก.พ. 2556 มี Coworking Space จำนวน 2,490 แห่ง กระจายอยู่ใน 81 ประเทศทั่วโลก และในแต่ละวันยังมีสถานที่ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นวันละ 4.5 แห่งทั่วโลก
ในขณะที่จำนวนสมาชิกที่เข้าไปใช้บริการ Coworking Space ทั่วโลก มีมากถึง 1.09 แสนคน และเพิ่มขึ้น 117% เมื่อเทียบกับเมื่อเดือน ก.พ. 2555
สำหรับประเทศไทย แม้ว่า Coworking Spaces จะยังเป็นเรื่องใหม่ แต่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน และจากการสำรวจของ “โพสต์ทูเดย์” พบว่า ปัจจุบันในประเทศไทย มีพื้นที่รูปแบบนี้ประมาณ 78 แห่ง โดยที่ 7 แห่งอยู่ในกรุงเทพฯ และอีก 1 แห่งอยู่ที่เชียงใหม่
HUBBA เอกมัย ซอย 4
Launchpad ถนนปั้น
Klique Desk สุขุมวิท ซอย 23
The Third Place BANGKOK ทองหล่อ ซอย 10
Glowfish อโศก
WorkBuddy สุขุมวิท 31
The SYNC อโศก
Pun Spaces เชียงใหม่
และมั่นใจได้เลยว่า จำนวนของ Coworking Spaces ในประเทศไทยจะไม่หยุดอยู่แค่นี้แน่นอน ในขณะที่จำนวนคนเข้าไปใช้บริการจะมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน เพราะเป็นพื้นที่ทำงานที่ “ตอบโจทย์” สำหรับคนเริ่มธุรกิจใหม่ และฟรีแลนซ์
ชาร์ล เจริญพันธ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง HUBBA ซึ่งเป็น Coworking Space ที่ประสบความสำเร็จ เล่าว่า “คนเริ่มธุรกิจใหม่ และฟรีแลนซ์ จะมีความใกล้เคียงกัน คือ ต้องประหยัด เพราะฉะนั้นจะเริ่มจากการทำงานที่บ้าน แต่แล้วก็แยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวออกจากกันไม่ได้ ปัญหาที่มักจะเจอ คือ เวลาทำงานยาวขึ้น แต่ได้ผลงานลดลง
“จากนั้นก็ออกไปทำงานที่ร้านกาแฟ ซึ่งชีวิตก็ดีขึ้น เพราะได้เจอผู้คน แต่หลายอย่างไม่ตอบโจทย์ เจ้าของร้านก็ไม่แฮปปี้ที่เราไปนั่งทั้งวัน ตัวเราเองก็รู้สึกไม่ดีที่ถูกกดดัน แถมยังไม่ปลอดภัยจะลุกไปไหนก็ไม่กล้าวางของทิ้งไว้ สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนร้านไปเรื่อย หรือไม่ก็กลับไปนั่งทำงานที่บ้านเหมือนเดิม”
แต่ถ้าเป็น Coworking Space นอกจากจะทำให้ปัญหาเหล่านี้ลดลงแล้ว ค่าใช้จ่ายยังไม่ได้สูงไปกว่าการเข้าไปนั่งในร้านกาแฟอีกด้วย
โซฟี บอนเนท นักวิเคราะห์ ของเว็บไซต์ Deskwanted.com สำรวจค่าใช้จ่าย “ค่าเช่าโต๊ะ” ใน Coworking Space ทั่วโลกพบว่า “ค่าสมาชิก Coworking Space ต่อวันเสนอราคาเท่ากับกาแฟเพียงสองถ้วย”
จากการวิเคราะห์ของ โซฟี พบว่า ราคาของ Coworking Space ทั่วโลกแบ่งออกเป็น 4 แพ็กเกจหลัก ได้แก่
1.โต๊ะส่วนตัว ใช้ได้ทุกวันและตลอดเวลา
2.โต๊ะส่วนตัว ใช้ได้ระหว่างเวลาทำการธุรกิจ
3.โต๊ะแบบแบ่งปันกันใช้ ใช้ได้ทุกวันและตลอดเวลา
4.โต๊ะแบบแบ่งปันกันใช้ ใช้ได้ระหว่างเวลาทำการธุรกิจ
แต่ละแพ็กเกจก็จะมีอัตราค่าบริการที่แตกต่างกัน โดยหากเปรียบเทียบราคาในประเทศเดียวกัน ค่าบริการที่สูงที่สุด คือ แบบที่ 1 และลดหลั่นลงมา โดยราคาถูกที่สุด คือ แบบที่ 4
เมื่อเปรียบเทียบค่าเช่าโต๊ะในแบบที่ 4 ในแต่ละประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ยุโรป และแคนาดา จะอยู่ระหว่าง 6,0908,480 บาทต่อเดือน (อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 12 ก.ค.) โดยประเทศที่ราคาต่อเดือนสูงที่สุด คือ แคนาดา และต่ำที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา
หากคำนวณออกมาเป็นค่าใช้จ่ายรายวัน (คิดจาก 20 วันทำการต่อเดือน) จะอยู่ที่ 305424 บาทต่อวัน
สำหรับ Coworking Space ในประเทศไทย ค่าเช่า “โต๊ะทำงาน” มีให้เลือกทั้งรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี ซึ่งมีหลายระดับราคา นอกจากนี้ บางแห่งยังเปิดให้ทดลองใช้บริการฟรี 1 วัน
ค่าเช่ารายเดือนมีตั้งแต่เดือนละ 3,500 บาท ไปจนถึง 6,000 บาท หรือคำนวณออกมาเป็นรายวัน (20 วันทำการ) หรือเท่ากับ 175 บาท ถึง 300 บาท ในขณะที่ค่ากาแฟใน “ร้านกาแฟสีเขียว” จะเริ่มตั้งแต่ 100 บาท ไปจนถึง 180 บาท
นี่ยิ่งทำให้ข้อสรุปของ โซฟี นำมาใช้ได้กับประเทศไทย เพราะว่า ค่าเช่าโต๊ะทำงานต่อวันยังถูกกว่ากาแฟแบรนด์ดังเสียอีก
นอกจากนี้ ชาร์ล ยังช่วยยืนยันอีกแรงว่า ถ้าเป็นสมาชิกรายปี แล้วมานั่งแค่สัปดาห์ละ 3 วันก็คุ้มแล้ว เพราะค่าเช่าโต๊ะเฉลี่ยแล้ววันละประมาณ 100 บาทเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะตัดสินใจเลือกใช้บริการระยะยาว แนะนำให้ต้องศึกษาเงื่อนไขในการให้บริการในแต่ละแพ็กเกจด้วย และใน Coworking Spaces แต่ละแห่งให้ละเอียดเสียก่อน
เพราะแต่ละแพ็กเกจ และละแห่งจะมีข้อกำหนดในรายละเอียดที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเงื่อนไขในการใช้บริการ โดยเฉพาะการใช้เครื่องไม้เครื่องมือสำนักงานที่อาจจะต้องมีค่าบริการเพิ่ม
บางแห่งอาจจะมีอาหารและเครื่องดื่มบริการฟรี และอนุญาตให้ “ห่อข้าวกล่อง” มากินได้ แต่บางแห่งห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มจากข้างนอกเข้ามาในพื้นที่ ในบางแห่งอาจจะมีกำหนดเวลาในการปิดแอร์ตามเวลาเปิดทำการปกติ แต่บางที่อาจจะปิดแอร์ก่อนเวลาปิดทำการ
นอกจากค่าเช่าจะถูกกว่ากาแฟสองแก้วแล้ว ค่าเช่าโต๊ะยังถูกกว่าค่าเช่าสำนักงานอย่างเห็นได้ชัด เพราะค่าเช่าสำนักงานอาจจะเริ่มต้นตั้งแต่หลักหมื่น โดยที่ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นอีก
ต้องสารภาพว่า แรกเริ่มทีตั้งใจจะนำ “ราคา” Coworking Space มาเปรียบเทียบกันว่า ที่ไหน “คุ้มค่า” กว่ากัน
แต่เมื่อรู้จักและเข้าใจ Coworking Space มากขึ้น ทำให้รู้ว่า ความคุ้มค่าของการมานั่งทำงานที่ Coworking Space ไม่ได้อยู่ที่ราคาค่าเช่าโต๊ะ แต่เป็น “กลุ่มสังคม” และกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นใน Coworking Space แต่ละแห่ง
กลุ่มสังคมที่เกิดขึ้นทำให้ Coworker หรือคนที่เข้ามานั่งทำงานในพื้นที่ทำงานร่วมกันแบบนี้ สามารถต่อยอดความคิด เพิ่มมุมมองธุรกิจ และได้พบนักลงทุน ที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จมาแล้วจำนวนมาก
เพราะฉะนั้นการตัดสินใจเลือก “ที่นั่ง” ควรให้ความสำคัญกับ “กลุ่มสังคม” มาเป็นอันดับแรก และไม่แน่ว่า เราอาจจะเป็น Coworker ที่ประสบความสำเร็จเป็นคนต่อไป